Louis Vuitton เปิดร้านอาหารที่ “เฉิงตู” ไม่เลือกเมืองหลวง แต่เลือก “เมืองใหม่” ที่คนพร้อมจ่าย

ร้านอาหาร Louis Vuitton
ร้านอาหาร Louis Vuitton แห่งใหม่ที่เมืองเฉิงตู
Louis Vuitton สร้างเซอร์ไพรส์ในการเปิด “ร้านอาหารแบรนด์” แห่งที่ 5 ของโลก และเป็นแห่งแรกใน “จีน” โดยเลือกเมือง “เฉิงตู” แห่งมณฑลเสฉวน แทนที่จะเลือกเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง หรือเมืองหลวงเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้

ร้านอาหารใหม่ของ Louis Vuitton ในเฉิงตูใช้ชื่อว่า “The Hall” เพราะตั้งอยู่ในอาคาร “หอประชุมกวางตุ้ง” ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ภายในโครงการย่านช้อปปิ้งไท่กู๋หลี่ เสิร์ฟอาหารสไตล์ฝรั่งเศส-เมดิเตอเรเนียน ปรุงโดยเชฟระดับมิชลินสตาร์

หลังจากเปิดตัวไป ร้านอาหารได้รับความสนใจจากชาวจีนค่อนข้างมาก โดยมีคิวจองยาวไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และหน้าร้านกลายเป็นจุดเช็กอินที่วัยรุ่นจีนมาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

Louis Vuitton ร้านอาหาร
ตัวอย่างอาหารที่จะเสิร์ฟใน The Hall ผ่านฝีมือการปรุงของเชฟระดับมิชลินสตาร์

กลับมาที่ทำไม LV ไม่เลือกเปิดร้านอาหารในเมืองที่เป็น ‘first-tier’ มานานอย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะเมืองเหล่านั้นมีการแข่งขันสูงมากในกลุ่มสินค้าลักชัวรี

ขณะที่การมาเปิดในเมืองที่เป็น ‘new first-tier’ คือกลุ่มเมืองที่เจริญทางเศรษฐกิจจนขึ้นมาเป็นเมืองชั้นนำแห่งใหม่ น่าจะมีโอกาสมากกว่า และราคาบ้านในเมืองแบบนี้จะต่ำกว่า ทำให้ประชากรมี ‘เงินเหลือ’ ไว้จับจ่ายกับสินค้าลักชัวรี

ส่วนการเลือกเมือง “เฉิงตู” ท่ามกลางกลุ่มเมืองใหม่ทั้งหลาย ก็ด้วยลักษณะเมืองที่มีความ ‘ชิล’ กว่าที่อื่น คนเฉิงตูชอบการสังสรรค์และมีวัฒนธรรมอาหารแข็งแรง ประกอบกับกำลังซื้อในหมวดสินค้าลักชัวรีก็ดีมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Gucci ในเมืองเฉิงตูเป็นสาขาที่ทำยอดขายสูงที่สุดในโลกของแบรนด์นี้เมื่อปีที่แล้ว

Louis Vuitton ร้านอาหาร
บรรยากาศร้านอาหาร Louis Vuitton ในเฉิงตู

ร้านอาหาร LV ทั้ง 4 สาขาก่อนหน้านี้ มี 2 สาขาถาวรในโอซาก้าและโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ 2 สาขาแบบ pop-up store ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และแซ็ง-ทรอเป เมืองชายทะเลในประเทศฝรั่งเศส

ไม่ได้มีเฉพาะ LV ที่สนใจเปิดร้านอาหารแบรนด์ แบรนด์ลักชัวรีอื่นๆ ก็มีเช่นกัน เช่น Tiffany & Co. , Dior, Gucci, Chanel, Hermes

เพราะพื้นที่ร้านอาหาร/คาเฟ่ทำให้คนมาสัมผัสประสบการณ์ของแบรนด์ได้ในราคาต่ำกว่า แทนที่จะต้องจ่ายหลายหมื่นบาทเพื่อสินค้าสักชิ้น แค่ยอมจ่ายค่ากาแฟแก้วละหลักร้อยก็ได้รูปเก๋ๆ ลงโซเชียลแล้ว และการมีคนแวะเวียนมาถ่ายรูปเหล่านี้เผยแพร่ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์น่าสนใจมากขึ้น

ที่มา: South China Morning Post, Jing Daily