“ต่างชาติ” เริ่มกลับมาซื้อคอนโดฯ ไทย จับตา “พม่า-อเมริกัน” ลงทุนสูง ซื้อห้องใหญ่ราคาแพง

ต่างชาติ ซื้อคอนโด
  • ข้อมูลจาก JLL ระบุ ปี 2565 การเข้าซื้อคอนโดฯ เมืองไทยของ “ต่างชาติ” เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยคิดเป็น 10.1% ของยูนิตขายทั้งหมด
  • ขณะที่ CBRE ชี้เทรนด์หลังโควิด-19 กลุ่มต่างชาติมาแรงคือ “พม่า” และ “อเมริกัน” โดยพม่าเข้าซื้อเพื่อเป็น ‘เซฟเฮ้าส์’ จากการเมืองในประเทศ ขณะที่อเมริกันต้องการแหล่งลงทุนสินทรัพย์

สมาคมอาคารชุดไทย จัดสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” โดยมีหัวข้อหนึ่งในงานสัมมนารวมผู้เชี่ยวชาญเพื่ออภิปรายในหัวข้อ “แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกับลูกค้าต่างชาติ” มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

“สุพินท์ มีชูชีพ” ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL ฉายภาพรวมการเข้าซื้อคอนโดฯ ของต่างชาติ เฉพาะ 8 เดือนแรกปี 2565 เมืองไทยมีการขายคอนโดฯ ไปกว่า 58,000 ยูนิต มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นการซื้อของต่างชาติคิดเป็น 10.1% ของจำนวนยูนิต แต่จะคิดเป็น 19.5% หากคิดตามมูลค่า

เมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมา สัดส่วนต่างชาติเข้าซื้อคอนโดฯ ไทยเคยสูงสุดที่ 16% ของจำนวนยูนิตเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 และเมื่อเผชิญโควิด-19 การซื้อของต่างชาติลดสัดส่วนเหลือ 6% เมื่อปี 2563 จึงเห็นได้ว่ากำลังซื้อต่างชาติได้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

 

“คนจีน” ยังซื้อมากที่สุดเช่นเคย

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาตลาดลูกค้าจีนอาจจะลดลงบ้างเนื่องจากการปิดพรมแดนจีน แต่อย่างไรลูกค้าจีนก็ยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในตลาดคอนโดฯ เมืองไทย โดยสุพินท์ระบุว่า มูลค่าการโอนคอนโดฯ 8 เดือนแรกปี 2565 ในกลุ่มต่างชาติ “คนจีน” คิดเป็นสัดส่วนถึง 50%

ในตลาดนี้ “เค่อเจียว เตียว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาร์วี่แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทย สรุปอินไซต์จากคนจีนว่า “ทำไมคนจีนจึงชอบอสังหาฯ เมืองไทย” เค่อเจียวกล่าวว่า คนจีนนั้นมองเป้าหมายในการลงทุนอสังหาฯ ไว้ 3 ทวีปคือ ยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย โดยในเอเชีย ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายอันดับ 1 รองลงมาคือญี่ปุ่น และ มาเลเซีย

เหตุที่คนจีนชอบประเทศไทย เพราะมองว่าเป็นสถานที่ที่ ‘อยู่ง่าย’ ที่สุดสำหรับคนจีน จากศาสนา อาหาร วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และคนไทยมีความเป็นมิตรกับคนจีน เปิดกว้างต้อนรับมากกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้อย่างไรไทยยังคงเป็นความสนใจหลักของชาวจีนเสมอ

Photo : Shutterstock

 

ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาแรง “พม่า-อเมริกัน”

ด้าน “อาทิตยา เกษมลาวัณย์” หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงข้อมูลของ CBRE ที่เก็บสะสมระหว่างปี 2548-2565 พบว่าสัญชาติที่เข้าซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทยมากที่สุดคือ 1.จีนแผ่นดินใหญ่ 2.เยอรมัน 3.สิงคโปร์ 4.รัสเซีย 5.ฮ่องกง 6.อังกฤษ และ 7.ไต้หวัน (*CBRE เป็นตัวแทนขายอสังหาฯ ระดับลักชัวรีจนถึงซูเปอร์ลักชัวรีเป็นหลัก ทำให้ข้อมูลอาจแตกต่างจากการเก็บข้อมูลอสังหาฯ รวมทุกระดับราคา)

ทั้งนี้ ชาวเยอรมันจะสนใจซื้ออสังหาฯ ในพัทยาเป็นส่วนใหญ่ และรัสเซียสนใจซื้อในภูเก็ตและพัทยา ส่วนชาติอื่นๆ จะนิยมในกรุงเทพฯ

นั่นเป็นข้อมูลที่สะสมในรอบ 17 ปี แต่สำหรับข้อมูลล่าสุดหลังโควิด-19 อาทิตยากล่าวว่ามีเทรนด์ที่มาแรงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ “ชาวพม่า” ซึ่งเกิดแรงผลักดันจากการเมืองภายในประเทศบ้านเกิด ทำให้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไว้เป็นบ้านหลังที่สอง โดยมูลค่าการซื้อส่วนใหญ่นั้นต้องการคอนโดฯ ห้องใหญ่ราคาสูงเกิน 50 ล้านบาทด้วย

อีกชาติหนึ่งที่น่าสนใจคือ “อเมริกัน” CBRE พบว่ามีอเมริกันกลุ่มใหม่ที่ลงทุนในหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไปต่อยูนิต เพราะต้องการแหล่งลงทุนทรัพย์สินปลอดภัย จากปกติกลุ่มอเมริกันที่ซื้อคอนโดฯ ในไทยมักจะเป็น expat ที่ต้องการที่อยู่อาศัยระหว่างทำงาน

ส่วนชาติอื่นๆ ที่เป็นการกลับมาซื้ออีกครั้ง เช่น รัสเซีย ที่กลับมาสนใจวิลล่าชายทะเล จ.ภูเก็ต มากขึ้น หรือซาอุดิอาระเบียที่เริ่มเห็นการซื้อคอนโดฯ ใหม่เพื่อทดแทนยูนิตเดิม

 

ปัจจัยบวก “ท่องเที่ยวฟื้น”

สำหรับปีหน้าตลาดการขายคอนโดฯ ให้กับต่างชาติก็น่าจะยังสดใสต่อเนื่อง โดย “ณัฏฐา คหาปนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยในการประเมินว่า ตลาดต่างชาติจะกลับมาได้ดีแค่ไหน สามารถดูได้จาก 2 ปัจจัยคือ 1.การท่องเที่ยว และ 2.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

การท่องเที่ยวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะลงทุนอสังหาฯ มักจะเคยมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยก่อนและเกิดความประทับใจ ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้ว 5.6 ล้านคน และปี 2566 น่าจะเติบโตต่อเนื่อง

(Photo: Shutterstock)

แม้ว่าประเทศจีนอาจยังไม่เปิดพรมแดนเต็มที่และน่าจะยังไม่เปิดจนกว่าจะถึงกลางปี 2566 แต่จากสัญญาณปีนี้เห็นได้ว่ามีประเทศอื่นๆ เข้ามาทดแทนเช่นกัน เช่น มาเลเซีย อินเดีย ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม ซึ่งน่าสนใจว่าอาจเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ได้

ด้าน FDI นั้นปี 2565 มีมูลค่ากว่า 2.75 แสนล้านบาท แม้จะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แต่เป็นสัญญาณที่ดี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นมีความสำคัญต่อภาคอสังหาฯ เพราะจะทำให้มีพนักงานชาตินั้นๆ เข้ามาทำงานในไทยสูงขึ้น และจะต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่ม ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอีอีซี

สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนมีโอกาสที่ดีในการดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ดี อาจจะต้องมองหาโอกาสในกลุ่มลูกค้าชาติอื่นๆ เพิ่มเติมจากชาวจีนด้วย