‘Flash Express’ แก้เกมหลังขาดทุน! ซุ่มทำธุรกิจใหม่ปั้น “คนดังขายของ” บน TikTok

หากพูดถึงปัญหา น้ำมันแพง เชื่อว่าผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็แทบกระอักเลือดแล้ว และสำหรับธุรกิจ ขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ก็เจ็บหนักจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดย คมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Flash Group ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย ก็ได้มาเปิดใจถึงภาพรวมปี 2022 ที่เคยคิดว่า สดใส แต่กลายเป็น ขาดทุน

2022 ที่ไม่เป็นอย่างที่วาดไว้

ย้อนไปปี 2021 Flash Express มีรายได้กว่า 17,600 ล้านบาท มี กำไร 6 ล้านบาท ถึงแม้จะน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่ก็ถือเป็น ปีแรก ที่บริษัทมีกำไร ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะอย่างที่รู้กันว่าธุรกิจโลจิสติกส์มีการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะเรื่องราคา

แต่เพราะการที่ปี 2021 ที่เริ่มมีกำไร ทำให้ คมสันต์ ลี มองว่าปี 2022 จะสดใสแน่นอน แต่สิ่งที่คิดไม่เหมือนกับความเป็นจริง เพราะในปี 2022 นั้นมี ปัจจัยลบมหาศาล เริ่มจาก

  • อีคอมเมิร์ซที่การเติบโตชะลอตัวลงอย่างมาก จากที่เคยเติบโตถึง 200% ทำให้อีคอมเมิร์ซในปี 2022 ไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ ประกอบกับเงินทุนของเหล่าอีคอมเมิร์ซที่ลดลงจากราคาหุ้นที่ตกลง บางรายตกลงกว่า 60% ทำให้เม็ดเงินที่จะอัดลงมากระตุ้นตลาดขาดหายไป นอกจากนี้ผู้บริโภคยังชะลอจับจ่าย เห็นได้ชัดว่าราคาเฉลี่ยต่อบิล ลดลง 15%
  • COVID-19 ที่ยังไม่หายไป ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กว่า 7,000 คนต้อง Work From Home อยู่บ้าน คลังสินค้าถูกปิด ดังนั้น แฟลชจึงต้องจ้างพนักงานมาทดแทนที่ขาดหายไป ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพราะเหมือนการจ่ายเงินเพิ่ม 2 เท่าเพื่อให้ได้งานเดิม และยังมีต้นทุนถึงมาตรการฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ตามมาอีก
  • น้ำมันแพงขึ้นเท่าตัว จากที่น้ำมันเคยลิตรละ 20 บาท แต่ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมันแพงขึ้นเป็น 30-40 บาทต่อลิตร ส่งผลให้จากที่มีต้นทุนน้ำมันเดือนละ 300-400 ล้านบาท เพิ่มเป็นเท่าตัว ซึ่งวิกฤตนี้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ต้องบริหารจัดการลดต้นทุนภายในเป็นหลัก

ตลาดต่างประเทศก็มีปัญหา

ในปี 2022 ถือเป็นปีแรกที่ Flash Express ขยายไปตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ลาว, ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย โดยในส่วนของ ลาว ก็เจอ ปัญหาค่าเงิน โดยมูลค่าของเงินกีบหายไป 40% และค่าน้ำมันในลาวเพิ่มขึ้นเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ประเทศลาวไม่ใช่ประเทศใหญ่ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

มาเลเซีย เจอ ปัญหาบุคคล เพราะคนหันไปทำงานที่สิงคโปร์ที่ได้เงินเดือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี 7,000 คน ให้บริการเกือบครบทั่วประเทศ และภายในสิ้นปีมั่นใจว่าจะขึ้นเป็นที่ 3 ของตลาดมาเลเซียอย่างมั่นคง

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศเดียวที่เติบโตดี เนื่องจากมีประชากรถึง 100 ล้านคน การจับจ่ายใกล้เคียงไทย ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต เนื่องจากคมนาคมของประเทศยังไม่ดีมาก โดยปัจจุบัน Flash Express เป็นที่ 3 ในตลาด และคาดว่าปี 2023 นี้จะขึ้นเป็นที่ 2 และทำกำไรได้

“ปี 2022 เรามีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2021 แต่ขาดทุนเกิน 20 ล้านบาทแน่นอน”

2023 มั่นใจต้องดีกว่าเดิม

ปีนี้เชื่อว่าจะดีกว่าปีก่อน เพราะน้ำมันคงไม่แพงไปมากกว่านี้ สถานการณ์สงครามมีแนวโน้มจะจบลง ขณะที่การแข่งขันด้าน ราคา ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักหากดูจากแนวโน้มในปี 2022 ที่ทุกคนเจ็บหนักจากต้นทุนที่สูง ซึ่งการแข่งขันจากนี้จะเป็นเรื่อง ความเสถียรของบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คลังแตก ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ในบางพื้นที่ อีกส่วนคือ คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเสียหาย, สินค้าหาย และความเร็ว ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวในไทยลดน้อยลงมาก ขณะที่ความเร็วถือเป็น ที่ 1 ในภูมิภาค เฉลี่ยที่ 2 วันถึง

นอกจากนี้ การเติบโตของ TikTok ที่ทำให้โครงสร้างตลาดของอีคอมเมิร์ซกำลังเปลี่ยนไป ขณะที่การ ท่องเที่ยว ที่กำลังกลับมาจะยิ่งช่วยฟื้นกำลังซื้อผู้บริโภค

“ตอนนี้ความเร็วไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญหลัก แต่เป็นเรื่องความเสถียร อย่างเวลาคลังแตกลูกค้าไม่ได้รับพัสดุ เขาไม่ถล่มเป็นพื้นที่แต่เหมารวมทั้งบริษัท ส่วนราคาเรามองว่าการแข่งขันเริ่มน้อยลง ซึ่งปัจจุบันราคาเริ่มต้นเราอยู่ที่ 25 บาท กรุงเทพฯ 23 บาท ซึ่งตอนนี้คงปรับขึ้นไม่ได้แล้ว”

ปั้นคนดังขายของ อีกธุรกิจน่าจับตา

แฟลชมีธุรกิจย่อยอีก 10 บริษัท แต่ที่กำลังเติบโตอย่างดีคือ F Commerce หรือ บริการจัดหาอินฟลูเอนเซอร์มาไลฟ์สดขายของให้แบรนด์ ผ่านโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ TikTok ที่กำลังเติบโต โดยแฟลชถือเป็น 1 ใน 3 บริษัทของโลกที่เป็นพันธมิตรกับ TikTok ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับแพลตฟอร์มครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์ขายของ การยิงโฆษณา บริหารจัดการคลังสินค้าให้แพลตฟอร์ม

ปัจจุบันมีบริการใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย โดยแฟลชถือเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ส่วน ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และ เวียดนาม เป็น Top 3 โดยในไทยบริษัทกำลังหาเช่าพื้นที่สำหรับเป็นสตูดิโอสำหรับไลฟ์ขายของให้กับอินฟลูเอนเซอร์

“บริการ F Commerce ช่วยให้ Win-Win ทุกฝ่าย อินฟลูฯ ก็ได้คอมมิชชั่นจากการขาย ไม่ต้องมีสินค้าเอง แบรนด์ก็ไม่ต้องไปหาอินฟลูเอนเซอร์เอง ส่วนแฟลชก็มีรายได้จากโฆษณา และช่วยเพิ่มวอลลุ่มการจัดส่ง โดยที่เราทำไปทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มการจัดส่ง ซึ่งปัจจุบันเรามียอดพัสดุ 2 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนอินฟลูฯ ในระบบมีกว่า 400 คน”

ผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการแรงกระตุ้นทั้งราคาและรีวิว และรีวิวมีอิทธิพลมากกว่าเล็กน้อย

จากการเติบโตที่สูงของไลฟ์สดขายของ ทำให้บริการ Flash Fulfillment ได้แตกไปสู่ คลังสินค้าสำหรับสินค้าไลฟ์สด จากเดิมมีแต่ แบรนด์ และ ลูกค้าทั่วไป ซึ่งปัจจุบันคลังสินค้าของกลุ่มไลฟ์สดมีสัดส่วน เกินครึ่ง ไปแล้ว ส่วนธุรกิจ Fulfillment ในต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม, อินโดนีเซีย ยังคงเติบโต โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติที่ไม่ต้องการทำคลังสินค้าเอง

อีกธุรกิจของแฟลชที่กำลังจะขยายคือ Flash Money และ Flash Pay ที่ให้บริการกับกลุ่ม B2B เมื่อปี 2022 โดย Flash Pay ในปีที่ผ่านมา Transaction กว่า 1,000 ล้านบาท ส่วน Flash Money ได้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 500 ล้านบาท โดยในปี 2023 นี้มีแผนจะเริ่มให้บริการกับบุคคลทั่วไป

ผู้บริหารไม่พอ ความท้าทายใหม่แฟลช

แม้ว่าภาพรวมตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่แฟลชมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญในปี 2023 คือ การเปลี่ยนบทบาทของผู้บริหาร และ ขวัญกำลังใจของพนักงาน เนื่องจากปัจจัยภายนอกอย่างน้ำมันที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ปีที่ผ่านมา แฟลชต้องปรับโครงสร้างภายในไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถ การเช่าสถานประกอบการ และการโยกย้ายปรับเปลี่ยนผู้บริหารเกือบ 20% โดยให้ผู้บริหารที่เก่งเรื่อง สร้าง ไปต่างประเทศ ส่วนผู้บริหารที่เก่ง ซ่อม ให้รักษาฐานธุรกิจเดิม

“ปีที่แล้วถือเป็นปีมรสุมของทุกคนไม่ใช่แค่เรา แต่ขึ้นอยู่กับใครซ่อมตัวเองได้เร็วกว่า เรามีการเปลี่ยนผู้บริหารไปเกือบ 20% ส่วนการลดค้นทุนตอนนี้ยังต้องทำต่อเนื่อง ที่แก้ได้แก้ไปหมดแล้ว เหลือแต่น้ำมันที่ควบคุมไม่ได้ พอสวิงขึ้นเราขาดทุนทันที”

เพราะจำนวน ผู้บริหารมีไม่พอ เนื่องจากอย่างน้อยต้องใช้ถึง 200 คนในแต่ละประเทศ ทำให้การจะ ขยายไปต่างประเทศทำได้ยากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแฟลชได้ทดลองดึงผู้บริหารจากนอกองค์กร แต่สุดท้ายไม่ไหว ดังนั้น แฟลชจำเป็นต้อง ปั้นลูกหม้อ ที่เติบโตมาจากแฟลชจริง ๆ ไปทำงาน ดังนั้น การขยายไปต่างประเทศในปีนี้จะลดเหลือ 1 ประเทศ จากแผนที่ต้องการไป 2 ประเทศ โดยกำลังเลือกระหว่าง สิงคโปร์ และ เวียดนาม

“เราเคยหาคนนอกมาเติม แต่ว่ามันไม่เวิร์ก ทำให้เขามาแล้วมันไม่ทน ไม่เหมือนคนที่เราปั้นมา ดังนั้น ตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก อย่าง ลาตินอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย เราเลยยังไม่ไป เพราะยังไม่พร้อมเรื่องคน”

ระยะยาวต้องเลิกพึ่งตลาดไทย

จากวิกฤตหลาย ๆ ด้าน ทำให้แผนการ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เลื่อนไปในปี 2024 ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท โดยในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งระดมทุนเพิ่มได้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งจากนี้จะใช้ในการลงทุนทั่วไป

ในระยะยาว คมสันต์ มองว่า ต้อง ลดการพึ่งพาประเทศไทย ดังนั้น เป้าหมายในอนาคตรายได้จากต่างประเทศเมื่อรวมกันต้องมากกว่าไทย 3-4 เท่า เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น โดยปัจจุบันรายได้ของไทยคิดเป็นเกือบ 70% เมื่อเทียบกับรายได้จากต่างประเทศรวมกัน

“ตั้งแต่เป็นยูนิคอร์นเราเหนื่อยมาก ตอนมาใหม่ ๆ เราไฟแรงอยากทำทุกอย่าง มองเห็นโอกาสไปหมด แต่ทำไปแล้วเจอแต่ปัญหา ยิ่งพอผู้ถือหุ้นมากขึ้นเราก็ต้องปรับตัวมากขึ้น เป็นมืออาชีพมากขึ้น ต้องแบกรับความคาดหวังมากขึ้น ต้องระวังตัวมากขึ้น”