ลุยเต็มสูบ! “เมเจอร์” ปี 2566 เปิดตัว 14,700 ล้านบาท ผุดแบรนด์ใหม่รวด 5 แบรนด์

เมเจอร์ 2566
หลังผ่านช่วงโควิด-19 ปี 2566 “เมเจอร์” จะกลับมาลุยอสังหาฯ เต็มสูบ 7 โครงการ มูลค่ารวม 14,700 ล้านบาท โดยมี 5 แบรนด์ใหม่เจาะตลาดไฮเอนด์ถึงซูเปอร์ลักชัวรี คอนโดฯ ปักธง 2 ทำเล พร้อมพงษ์และพญาไท ปี 2567 เตรียมขึ้นมิกซ์ยูสใกล้อารีย์ ฮิลส์

“เพชรลดา พูลวรลักษณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดแผนปี 2566 บริษัทจะกลับมาลงทุนอสังหาฯ แบบ All-time High โดยเตรียมเปิดทั้งหมด 7 โครงการ มูลค่ารวม 14,700 ล้านบาท

ที่ถือว่าเป็น ‘การกลับมา’ เพราะเมเจอร์ฯ มีช่วงที่ไม่ได้เปิดโครงการใหม่เลยต่อเนื่อง 2 ปีในช่วงปี 2563-64 ซึ่งเป็นผลจากโควิด-19 และปี 2565 มีการเปิดใหม่เพียง 2 โครงการ มูลค่ารวม 5,200 ล้านบาท ปีนี้จึงเป็นปีแห่งการบุกตลาด

สรุปเป้าหมายธุรกิจปี 2566 ของเมเจอร์ฯ

ด้านเป้าหมายยอดขายตั้งไว้ที่ 7,000 ล้านบาท เติบโตเกือบ 200% และเป้าหมายรายได้ 5,000 ล้านบาท เติบโต 67% ซึ่งเพชรลดาเชื่อว่าจะทำให้ปีนี้เมเจอร์ฯ เทิร์นอะราวด์ทำกำไรสำเร็จ

 

ขึ้นแบรนด์ใหม่รวด 5 แบรนด์

เจาะลึกโครงการที่จะเปิดตัวปีนี้ แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 2 โครงการมูลค่ารวม 8,800 ล้านบาท และแนวราบ 5 โครงการ มูลค่ารวม 5,900 ล้านบาท รายละเอียดทุกทำเล ดังนี้

  1. มิวนีค (Muniq) พร้อมพงษ์ ทำเลปากซอยสุขุมวิท 39 (ติดกับโครงการ Marque สุขุมวิท ของเมเจอร์ฯ เอง) ราคาเฉลี่ย 310,000 บาทต่อตร.ม. โดยเป็นโครงการที่เลื่อนมาจากแผนเดิมเมื่อปี 2564
  2. มาร์ควิส (Marquis) พญาไท มาในคอนเซปต์ใหม่เป็น Super Luxury Wellness Condo ราคาเฉลี่ย 265,000 บาทต่อตร.ม.
  3. เมย์ฟิลด์ (Mayfield) ปิ่นเกล้า แบรนด์พรีเมียมทาวน์โฮม คอนเซปต์ที่อยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติ ราคา 13-16 ล้านบาท
  4. เมย์ฟิลด์ (Mayfield) รามอินทรา-คู้บอน แบรนด์พรีเมียมทาวน์โฮม คอนเซปต์ที่อยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติ ราคา 12-15 ล้านบาท
  5. เมย์ฟิลด์ เลน (Mayfield Lane) รัชดา-ลาดพร้าว แบรนด์บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ราคา 34-41 ล้านบาท
  6. มิลฟอร์ด (Milford) ลาดพร้าว-รามคำแหง ไพรเวท ลักชัวรี ทาวน์โฮม ราคาขาย 14-17 ล้านบาท
  7. บ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักชัวรี แบรนด์ใหม่ ย่านพัฒนาการ ราคา 65-100 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างตั้งชื่อ แต่จะเป็นแบรนด์แบบ Limited Edition
เมเจอร์ 2566
แผนการเปิดตัวโครงการปี 2566 ของเมเจอร์ฯ

สังเกตว่าปีนี้มีการเปิดแบรนด์ใหม่ถึง 5 แบรนด์ ซึ่งเป็นการเปิดมาให้รองรับกับเซ็กเมนต์และพฤติกรรมรูปแบบที่เหมาะกับทำเล โดยเฉพาะแนวราบนั้นปกติเมเจอร์ฯ มีการพัฒนามาไม่มากและมักจะพัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป ปีนี้จึงได้เห็นแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาครอบคลุมโปรดักส์ เช่น บ้านแฝด ทาวน์โฮม ในตลาดราคา 10 ล้านต้นๆ จนถึง 30 ล้านบาทมากขึ้น

 

ปี’67 มีแผนรอแล้ว จับตามิกซ์ยูสย่าน “อารีย์”

เมื่อกลับมาลุยเต็มสูบ ปี 2567 เมเจอร์ฯ จึงมีแผนรองรับแล้วเช่นกัน โดยจะเปิดทั้งหมด 8 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 14,000 ล้านบาท

ไฮไลต์ทำเลที่มีที่ดินรองรับแล้ว พร้อมขึ้นโครงการ ได้แก่ มิกซ์ยูสทำเลใกล้อารีย์ ฮิลส์ มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งออฟฟิศและคอนโดฯ กับโครงการคอนโดฯ มารุ จุฬา มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท คาดเปิดขายในราคาเฉลี่ย 135,000 บาทต่อตร.ม.

“เพชรลดา พูลวรลักษณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กับน้องแฮปปี้ นกกระตั้วแสนรัก

ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างหาที่ดิน โดยทำเลหนึ่งที่กำลังเล็งอยู่คือกรุงเทพกรีฑา จากยอดขายโครงการ มอลตัน เกตส์ กรุงเทพกรีฑา ที่เปิดตัวปีก่อนพุ่งเกินคาด ทำให้มองว่าดีมานด์ยังมีอยู่อีก

 

อนาคต 5 ปีต้อง “Diversify”

เพชรลดายังกล่าวถึงแผนระยะยาว 5 ปีของบริษัทด้วยว่า บริษัทต้องการจะ Diversify แหล่งรายได้ให้มากขึ้น จากปัจจุบัน 96% ของรายได้มาจากอสังหาฯ เพื่อขาย และ 4% มาจากรายได้ค่าเช่าออฟฟิศ ห้องพักโรงแรม และค่าบริหารโครงการ

อนาคตของเมเจอร์ฯ ต้องการจัดแหล่งรายได้ใหม่ แบ่งสัดส่วน ดังนี้

  • 65% จากอสังหาฯ เพื่อขาย
  • 8% จากออฟฟิศและโรงแรม
  • 7% จากบริษัทรับจ้างบริหารโครงการ/นิติบุคคล
  • 20% ธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่อสังหาฯ (non-real estate)
แผนการ Diversify กระจายแหล่งรายได้ภายใน 5 ปี

ธุรกิจใหม่ของเมเจอร์ฯ เริ่มลงทุนไปบ้างแล้วในบริษัทสตาร์ทอัพด้านสุขภาพและด้านเทคโนโลยีในชื่อ “HealthScape” และ “TechScape” เริ่มตั้งแต่ปี 2563 และได้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบหลังบ้านให้กับเมเจอร์ฯ เช่น ระบบบริหาร CRM ลูกค้า

ภายในปี 2567 บริษัทมีงบลงทุนธุรกิจใหม่อีก 200 ล้านบาท ในระยะยาวอาจจะมีการลงทุน JV กับบริษัทใหม่ได้อีก หรือเป็นการควบรวมกิจการ หรือจัดตั้งจากคนในบริษัทเองก็ได้ แต่คอนเซปต์ธุรกิจใหม่จะต้องเกี่ยวข้องกับ “LifeScape” แต่ไม่ใช่การลงทุนในลักษณะอสังหาฯ (non-real estate)

“สถานการณ์แบบ ‘VUCA World’ ทำให้การมีธุรกิจแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ตอบโจทย์โลกที่ไม่แน่นอน เราต้องเริ่มหาน่านน้ำใหม่ที่เป็นเทรนด์อนาคต อะไรที่เมเจอร์ฯ จะต่อยอดได้” เพชรลดากล่าว “นิยามใหม่ของเราคือการเป็น LifeScape Developer เราไม่ใช่แค่ทำการออกแบบก่อสร้าง เพราะเราต้องเข้าใจการใช้ชีวิตของคน และเราเปิดโอกาสตัวเองให้ทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์การใช้ชีวิต”

(*VUCA World หมายถึง V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ)