-
ยังเป็นอีกปีที่ “อนันดาฯ” ต้องใช้ “ลูกอึด” ในการทำธุรกิจ โดยปี 2566 จะเปิดตัวใหม่เพียง 2 โครงการ แต่เป็นโครงการระดับบิ๊กโปรเจ็กต์ มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท
-
สต็อกพร้อมอยู่ปีนี้จะขึ้นไปแตะ 45,000 ล้านบาท เป็นแหล่งทำยอดขายและรายได้ โดยหวังกวาดยอดขายจากกลุ่มต่างชาติโดยเฉพาะ “จีน” ที่ยังนิยมซื้อที่อยู่อาศัยไทย
-
แตกไลน์ธุรกิจใหม่ APSMC ที่ปรึกษารับบริหารโครงการ ประเดิมที่แรกกับสินทรัพย์ของ แรบบิท โฮลดิ้งส์ ย่านสุขุมวิท 38
คำกล่าวเปิดงานแถลงข่าวของ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) น่าจะสรุปสถานการณ์ของบริษัทได้ดีที่สุด หลังจากโควิด-19 สร้างผลขาดทุนติดต่อกันในปี 2563-64 และรอบ 9 เดือนแรกปี 2565 ก็ยังคงขาดทุน จึงเป็นช่วง 2-3 ปีที่ค่อนข้างจะ ‘หนัก’ ทีเดียว
เนื่องจากอนันดาฯ เป็นบริษัทที่เน้นกลยุทธ์พัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้ามาตลอด ภายใต้สโลแกน “Urban Living Solutions” ที่เชื่อในการใช้ชีวิตแบบคนเมือง เมื่อโควิด-19 ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคย้ายไปสู่กลุ่มตลาดโครงการแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว อนันดาฯ จึงมาถึงทางแยกว่าจะเดินไปในทิศทางไหน
“หลายบริษัทรีบเทขายที่ดินที่เตรียมไว้สร้างคอนโดฯ เพื่อดึงกระแสเงินสด (cash flow) กลับเข้ามาในบริษัทก่อน” ชานนท์กล่าว “ส่วนเราเลือกที่จะ balance เรื่องนี้ คือมีการหากระแสเงินสดบ้าง แต่เรายังเชื่อว่าทุกโปรดักส์มีวัฏจักรของมัน เราจึงอดทนไม่เทขายที่ดินไปหมด”
หลังต้องใช้ลูกอึดมาพักใหญ่ ชานนท์เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่วัฏจักรเริ่มกลับเข้าทางอนันดาฯ อีกครั้ง โดยมองเห็นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาที่ดินที่ยังคงปรับขึ้นผนวกกับการคมนาคมจากชานเมืองเข้ากรุงก็ยังคงเป็นปัญหาเดิม แปลว่าที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ จะกลับมาตอบโจทย์ ไม่ได้ถูก ‘ดิสรัปต์’ จากโควิด-19
อีกส่วนคือดีมานด์จากชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ‘ชาวจีน’ ที่ยังมองไทยเป็นบ้านหลังที่สอง และยิ่งต้องการย้ายออกจากจีนมากขึ้นหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19
ผ่อนคันเร่งเปิดใหม่ เน้นขายสต็อกพร้อมอยู่
“ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดาฯ กล่าวต่อถึงแผนธุรกิจปี 2566 จะมีการเปิดตัว 2 โครงการ มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน ได้แก่
1.New Branded Residence ทำเลสุขุมวิท 38 มูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท – เป็นแบรนด์จากพันธมิตรระดับโลกที่ไม่เคยเปิดในไทยมาก่อน และจะเป็นคอนโดฯ ยูนิตใหญ่ในราคาเริ่มต้น 250,000 บาทต่อตร.ม. ราคาต่อยูนิต 150-300 ล้านบาท
2.ไอดีโอ พหล-สะพานควาย มูลค่าโครงการ 8,100 ล้านบาท – ทำเลใกล้ BTS สะพานควาย ดีไซน์ห้องชุดแบบ Hybrid New Series ราคาเริ่ม 1 แสนต้นๆ ต่อตร.ม.
ด้านเป้าหมายยอดขายตั้งไว้ที่ 18,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% เป้าหมายรายได้ 14,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21% และที่สำคัญปีนี้อนันดาฯ ตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นจะขึ้นไปแตะ 30.6% ด้วย เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 25%
ปีนี้เปิดใหม่ลดลง แต่ยอดขายและรายได้จะเพิ่มขึ้น มาจาก “สต็อกพร้อมอยู่” ที่อนันดาฯ จะมีในมือกว่า 45,000 ล้านบาทภายในปี 2566 แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- โครงการพร้อมอยู่ ณ ต้นปี 2566 ทั้งบ้านและคอนโดฯ รวม 28 โครงการ มูลค่ากว่า 34,000 ล้านบาท
- โครงการที่จะสร้างเสร็จภายในปี 2566 อีก 3 โครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านเดี่ยว อาร์เทล พระราม 9, โครงการทาวน์โฮม อันดา ราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ และคอนโดฯ ไอดีโอ จุฬา-สามย่าน
ปีนี้อนันดาฯ ยังจะเน้นดึงลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะ “คนจีน” เข้าซื้อด้วย โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้จากกลุ่มต่างชาติ 3,100 ล้านบาท และเป้ายอดขายใหม่เกือบ 4,500 ล้านบาท เชื่อว่าในตลาดนี้อนันดาฯ จะได้เปรียบในแง่โปรดักส์มีคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้าหลายโครงการแบบพร้อมโอน
APSMC รับเป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ
อนันดาฯ ยังมีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ด้วยในปีนี้โดยใช้ชื่อ APSMC (Ananda Professional Services and Management Consultancy) รับเป็นที่ปรึกษาและรับจ้างบริหารโครงการอสังหาฯ ให้กับเจ้าของแบบ Total Solutions คือรับบริหารตั้งแต่จัดหาที่ดิน ออกแบบ ขายและการตลาด ก่อสร้าง และบริหารจัดการการเงิน
โดยจะเริ่มรับบริหารโครงการแรกให้กับ บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโครงการมิกซ์ยูสคอนโดฯ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และ F&B อยู่บริเวณสุขุมวิท 38
“เราคิดจะทำธุรกิจแบบ APSMC มานานแล้ว เพราะถ้าสมมติให้ธุรกิจอสังหาฯ เป็นโรงงาน วัตถุดิบหลักก็คือที่ดิน หลายบริษัท เช่น บริษัทประกัน ถือที่ดินไว้แต่ต้องการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ตัวเองถือ เราก็ไปรับจ้างผลิตให้ โดยได้รายได้เป็นค่าธรรมเนียม” ชานนท์กล่าว
ชานนท์คาดว่า APSMC จะสร้างรายได้ปีแรกได้กว่า 100 ล้านบาท และหวังว่าจะเติบโตมากขึ้นในปีต่อๆ ไป จนสามารถ spin-off เป็นอีกบริษัทได้
ระยะยาว มีแผนเติมพอร์ตอีก 10 โครงการ
สำหรับภาพระยะยาวของอนันดาฯ ต้องการจะเปิดโครงการเพิ่ม 10 โครงการ มูลค่ารวม 21,200 ล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,200 ล้านบาท
- โครงการคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท
- โครงการเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท
โดยบริษัทจะเริ่มจัดหาลงทุนที่ดินตั้งแต่ปีนี้ เป็นการยืนยันว่าอนันดาฯ ผ่อนคันเร่งปีนี้แต่ไม่ได้ผ่อนไปอีกยาว