PSI เดิมพันด้วย “เรตติ้ง”

PSI คือผู้ผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียมในระบบ C-Band รายใหญ่ที่สุดเวลานี้ โดยเริ่มจากการขายจานดำ และดึงสัญญาณจากดาวเทียมต่างประเทศที่เป็นประเภท Free to Air มาให้ผู้ติดตั้งจานได้รับชม เมื่อการชมรายการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การเข้ามาของทีวีดาวเทียมจำนวนมาก ทำให้พีเอสไอมองเห็นช่องทาง จึงปรับตัวมาทำหน้าที่เจ้าของสถานีเอง แล้วรวมช่องทีวีดาวเทียมทั้งหลายมาอยู่ด้วยกัน  

จานดำของพีเอสไอ รับสัญญาณของทีวีดาวเทียมได้ทุกช่องรายการ ทั้ง C-Band และ KU-Band พีเอสไอสร้างแพลตฟอร์มสถานีของตัวเอง แล้วเปิดบ้านให้ทีวีดาวเทียมทั้งหลายมาเช่าบ้านอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ขณะนี้มีช่องทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 200 ช่อง 

ช่วงแรกๆ ทีวีดาวเทียมเริ่มได้รับการตอบรับ คนที่ลงทุนทำทีวีดาวเทียมจะวิ่งมาหาพีเอสไอเพื่อขอขึ้นในแพลตฟอร์มของพีเอสไอ

สิ่งที่ทำให้พีเอสไอสามารถสร้างสถานีของตัวเองได้รวดเร็ว ก็เพราะการทำกล่องรับสัญญาณในรุ่น O2 ที่สามารถเพิ่มช่องทีวีได้อัตโนมัติ โดยผู้ใช้ไม่ต้องปรับอุปกรณ์แต่อย่างใด  

พีเอสไอมองการทำสถานีพีเอสไอใน 2 มิติด้วยกันคือ การเพิ่มจำนวนจานพีเอสไอในตลาด นั่นก็คือการขายจานให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มสมาชิกของตัวเอง พีเอสไอวางแผนเดินสายสัมมนาเรื่องจานดาวเทียมทั่วประเทศตลอดปี 2554 มีการจัดสัมมนาตามจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภค ร้านติดตั้งจาน ช่าง ได้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลง

ให้ความรู้เรื่องจานดาวเทียม พร้อมกับปิดการขายด้วยจานดี พีเอสไอ และยังรวมถึงการจับมือกับกลุ่มเนชั่นและเมเจอร์ เข้าไปติดตั้งระบบโทรทัศน์แบบรวมในคอนโดมิเนียมของแสนสิริ พฤกษา และแอลพีเอ็น ในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด

เป็นการขยายตลาดเพื่อดึงให้ทีวีดาวเทียมต่างๆ วิ่งมาหานั้นเอง

แต่เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญกับผู้ผลิตเนื้อหา พีเอสไอทำระบบวัดเรตติ้งไว้ในกล่องรับสัญญาณ เพื่อเช็กเรตติ้งของผู้ชม เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงให้กับเจ้าของสินค้า เอเยนซี่ วางแผนลงโฆษณาในทีวีดาวเทียมที่กำลังเติบโต  

เรตติ้งของทีวีดาวเทียมดีขึ้นเท่าไหร่ การลงโฆษณาจากเจ้าของสินค้าก็มีโอกาสมากขึ้น

ท่ามกลางการแข่งขันร้อนระอุ จากการมาของแกรมมี่ ทำให้พีเอสไอ ที่ใช้สโลแกนว่า “จานเดียว ดูฟรี ไม่มีรายเดือน” กำลังถูกท้าทาย การรับมือด้วย “การวัดเรตติ้ง” ที่ต้องต่อกรกับ เอซี นีลเส็น เจ้าตลาดวัดเรตติ้งทีวี จะเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ที่พีเอสไอได้ผู้ผลิตเนื้อหา และลูกค้าในมือ