สุหฤท สยามวาลา ขยับองค์กร 100 ปีให้ “เฟี้ยวเงาะ”

ดีเอชเอ สยามวาลา (DHAS) องค์กรอายุกว่า 100 ปี ก่อตั้งโดยคนไทยเชื้อสายอินเดีย เรียนรู้การบริหารจากการเป็นตัวแทนให้แบรนด์ฝรั่ง เติบโตด้วยแรงงานไทย สร้างแบรนด์ฝรั่งจนติดตลาดจนกระทั่งหันมาให้กำเนิดแบรนด์ของตัวเองส่งออกไปขายฝรั่งและขายคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่องค์กรที่หวือหวา แต่ไม่ว่าเจอวิกฤติมากี่ครั้งก็ยังคงอยู่คู่กับเมืองไทยมาตลอด

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาองค์กรแห่งนี้มาถึงจุดเปลี่ยนที่น่าจับตาอีกครั้ง เมื่อกรรมการผู้จัดการคนล่าสุดมาพร้อมกับภาพลักษณ์ของผู้บริหารที่มีความเป็นตัวของตัวเอง แบบ “แรงเต็มร้อย” “จัดเต็มไม่มีเม้ม” และมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการบาลานซ์ระหว่างชีวิตงานและความสนุกของชีวิตส่วนตัวไม่ให้ตกหล่นไปจากชีวิตทั้งสองด้าน

เขาให้นิยมตัวเองเป็น “Executainer” ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง Executive และ Entertainer ที่พร้อมจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยความสุขและมีภาพลักษณ์ที่ “เฟี้ยวเงาะ”

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของ สุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการคนล่าสุด DHAS เป็นรอบของน้องชายคนเล็กในกลุ่มพี่น้อง 4 คน สุหฤทเป็นน้องชายคนที่ 3 ของบ้าน ก่อนหน้านี้มี ยิ่งศักดิ์ พี่ชายคนโต ซึ่งเลื่อนขึ้นไปเป็นประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารเป็นเอ็มดีมาก่อนตั้งแต่ปี 2540 ส่วนโอภาสปัจจุบันดูแลด้านโรงงานการผลิตควบคู่ไปกับการเซตอัพด้านการพัฒนาธุรกิจและคอยเป็นคู่คิดให้สุหฤท

สุหฤทจบปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาโทสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยทำงานเอเยนซี่ ได้พักเดียวก็ต้องลาออกเพราะความหัวแข็ง ก่อนจะถูกคุณพ่อของเขา มิตร สยามวาลา เรียกตัวกลับมาทำงานกับบริษัทของครอบครัว

เขางมีบทบาทดูแลฝ่ายขายให้กับ DHAS มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นงานที่ทำควบคู่กับงานบันเทิงที่เขารักมาโดยตลอด ซึ่งเป็นภาพของสุหฤทที่คนภายนอกรู้จักเขามากกว่า ทั้งในฐานะดีเจวิทยุ ที่มีสไตล์แหวกแนว แรงๆ มันส์ๆ และในฐานะนักร้องนักแต่งเพลงแนว Electronica และ Alternative Rock เพียงไม่กี่คนของเมืองไทย เป็นที่จดจำได้ทั้งสไตล์ บวกกับความเป็นคนเชื้อสายอินเดียรูปร่างสูงใหญ่สะดุดตา ใครเห็นก็จำได้ไม่ลืม

ในภาคของการทำงาน จึงถือว่าเขาเรียนรู้ เติบโต และซึมซับจนรู้จักองค์กรและคนในองค์กรมาแล้วอย่างดี เมื่อเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เขาเลยมีธงและมั่นใจที่จะขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทันที จนเป็นที่มาให้เกิด Major Change อีกครั้งของ DHAS ซึ่งเป็นสไตล์การปรับเปลี่ยนที่ไม่ต้องมีวาระบริษัท แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ขึ้นมารับตำแหน่ง

สุหฤท ต้องการสานฝันองค์กรให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตัวเอง ซึ่งเขาบอกว่าฝันของเขาผ่านการกลั่นกรอง และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ผู้ถือหุ้นมาแล้วกว่าจะสู่ขั้นตอนการอิมพลิเมนต์เมื่อเข้ารับตำแหน่ง

“20 ปีในองค์กร ผมเริ่มตั้งแต่มาร์เก็ตติ้ง เคยคุมขายตรง ดูด้านกระดาษ ดูการขายสินค้าของทั้งองค์กรมาก่อน ทำให้รู้เลยว่าฝ่ายขายเป็นต้นเหตุของปัญหาของทุกองค์กร เราจะรู้ว่าบริษัทมีปัญหาอะไรตอนที่เราออกไปหาลูกค้า มีจุดไหนที่เราต้องทำต้องเข้าไปแก้ ต้องเริ่มประสานงานกับโรงงาน กับคลังสินค้าตอนไหน เพียงแต่ตอนนั้นผมมีพี่ชายเป็นที่ปรึกษา คอยบอกว่าต้องทำอย่างไร เพราะโดยตำแหน่งเขาต้องเป็นคนสั่งการและตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอีกที แต่ตอนนี้มันหลงจ่งในตัวผมเอง”

วันนี้ สุหฤท เปรียบเหมือนคนถือหางเสือ ต้องตัดสินใจว่าจะควบคุมองค์กรอย่างไร จะเร่งสปีดหรือบังคับไปทิศทางไหน แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ การเร่งองค์กรไม่เหมือนการเร่งเครื่องยนต์ เพราะองค์กรประกอบด้วยคนซึ่งมีชีวิต มีความคิดของตัวเอง มีอนาคตที่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง คือความเครียดที่จะเกิดกับคนในองค์กรภายใต้การเร่งสปีดหรือการเปลี่ยนทิศทาง

“ถ้าเครียดมากไป จะทำให้กลายเป็นแรงเฉื่อย เครียดน้อยไปยิ่งเฉื่อยหนักเข้าไปอีก ความสมดุลตรงนี้คือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเร่งได้ถูกจุด”

จุดที่ถูกต้องสำหรับสุหฤท คือทำอย่างไร ให้คนในองค์กรขับเคลื่อนองค์กรภายใต้การทำงานอย่างมีความสุข

“ผมมีภาพที่เห็นปัญหามาตลอด กับภาพองค์กรที่ผมเห็นในอนาคต การทำ Major Change เพื่อสานฝัน ผมก็ต้องทำตั้งแต่ เริ่มออกแบบองค์กรใหม่ ปรับวิธีการทำงาน ปรับความคิดพนักงาน ปรับกลยุทธ์การตลาด ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสนุก ผมสนุกกับงานก็เลยอยากให้พนักงานทุกคนสนุกด้วย โดยไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะชีวิตเราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง”

สุหฤทบอกว่าตัวเองโชคดีที่คนในองค์กรพร้อมรับการปรับเปลี่ยน เขาเชื่อว่าเป็นเพราะในองค์กรมีดีเอ็นเออันแรกคือความสุขเป็นทุนเดิม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของเขาว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องสร้างความสุขให้กับคน อีกทั้งยืนยันว่า ไม่มีนโยบายอะไรของผู้บริหารที่จะไปฆ่าพนักงาน หรือไปกดดัน แต่ทุกคนต้องมีเป้าหมายอยากประสบความสำเร็จร่วมกันเสียก่อน

เมื่ออยากสำเร็จ จะทำคนเดียวไม่ได้ ไม่ว่าผู้บริหารหรือพนักงาน การเปลี่ยนแปลงเป็นกลไกของการปรับตัวเพื่ออยู่รอด ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนไม่ใช่บริษัทหรอกที่จะปลดใครออก ถึงเวลาทุกคนก็ต้องถูกปลดเพราะอายุงาน แต่ที่ร้ายกว่าคือ หากองค์กรไม่ปรับตัว ตลาดอาจจะเป็นคนปลดองค์กรได้ นี่คือสิ่งที่สุหฤทเชื่อว่าทำให้ทุกคนยอมเข้าใจ แม้ว่าอาจจะมีคนที่ยังไม่เข้าใจอยู่บ้างก็ตาม

“ผมโชคดีที่ไม่มีไดเรคเตอร์คนไหนปฏิเสธไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงกับผม องค์กรนี้เวลามอบหมายหน้าที่ให้แล้ว พนักงานกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำนะครับ ซึ่งมันเป็นความอบอุ่นอย่างหนึ่งของผมเลย เพราะถ้าองค์กรปรับเปลี่ยนแล้ว แต่คนรับผิดชอบเซ็ง ไม่เอาด้วย อย่างนั้นผมก็ตาย แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยนแล้วกัน แต่นี่กลับกลายเป็นสนุกร่วมกันหมด มันเกิดพลัง ผมถือว่าผมโชคดีที่มีทีมเหล่านี้อยู่ ลงไปถึงผู้จัดการขายไม่มีแรงประท้วงอะไร เพราะมันจะมีคนที่เติบโตขึ้นจากการออกแบบองค์กรใหม่ แต่ก็ต้องโชว์ฝีมือนะ พูดเก่งอย่างเดียวไม่ได้”

DHAS เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียน ได้แก่ แฟ้มตราช้าง ปากกาควอนตัม ดินสอสีมาสเตอร์อาร์ต แฟ้มเอกสารสำหรับส่งออกต่างประเทศยี่ห้อเอลเฟ่น (Elfen) และทำหน้าที่เป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ในไทย และเป็นตัวแทนจำหน่ายปากกา Cross ทุกแบรนด์ของบริษัทต้องเผชิญกับคู่แข่งทั้งหน้าเก่าจากยุโรป และรายใหม่จากในประเทศและเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรต้องมีความแอคทีฟอยู่เสมอ

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก องค์กรผมต้องวัยรุ่น ผมเองก็ถือว่าตัวเองเป็นวัยรุ่นที่แก่ที่สุดในโลก องค์กรผม 100 ปี แต่ทำไม 100 ปีต้องแก่ ไม่ได้ ไม่มีแก่ ต้องสด ไขมันน้อย ต้องมีอะไรใหม่ๆ ในเวทีอยู่ตลอด เพราะผู้บริหารเปลี่ยน นี่คือนิสัยผม”

เมื่อทุกอย่างพร้อม สุหฤทประกาศเปิดตัวการเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารของเขาโดยจัดงานที่ใช้ธีมว่าDHAS REVOLUTION : The NEW DNA พร้อมเปิดตัวทีมงานผู้บริหารที่ถือเป็น The New DNA ประกาศมุ่งพัฒนาสินค้าและการบริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้ามากยิ่งขึ้น และเน้นการขยายองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศแบบก้าวกระโดด

หลังจบการประกาศอย่างเป็นทางการในงานนั้น ก็ไม่ลืมที่จะปิดท้ายด้วยงานปาร์ตี้สุดชิคสไตล์ จิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ DHAS แดนซ์ พร้อมกับบทสรุปแบบสุหฤทว่า

“เราไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทเครื่องเขียนที่ใหญ่ที่สุด แต่เราจะมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นบริษัทเครื่องเขียนที่..เฟี้ยวเงาะ.. ดังเด่น และดีที่สุด”

แน่นอนว่า สุหฤทไม่ได้ยืนพูดประโยคนี้นิ่งๆ แบบผู้บริหารทั่วไป แต่แทบจะแร็ปให้พนักงานฟัง

“แนวผมจะอย่างนั้นเลยมีสองภาค โชคดีที่ลูกน้องทุกคนเข้าใจ ยืนเฉยๆ ทำไม ทอล์กโชว์ก็ได้ แต่ก็แร็ปด้วยเลย บางคนขึ้นไปจอยด้วยบนเวที แต่งตัวกันเต็มที่ ใส่สาย ซ่อนแผง เป็นภาพที่ไม่มีวันลืมครับ หลังจากนั้นก็ไปต่างจังหวัดไปเคี่ยวกันต่อ คิกออฟแล้วถอยไม่ได้”

แล้วเฟี้ยวเงาะคืออะไร

“นั่นล่ะครับเป้าหมายของผมเลยทำให้คนถาม” สุหฤทตอบก่อนจะอธิบายต่อว่า

ก่อนไปเฟี้ยวเงาะ ต้องเริ่มจากอธิบาย The New DNA ซึ่งหมายถึงเชื้อใหม่ในการทำงานที่พร้อมรับสิ่งที่กำลังจะเข้ามา พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ก่อนประกาศนโยบายเขาเริ่มปรับพฤติกรรมในการทำงานหลายๆ ด้านเพื่อให้เกิดความพร้อม เวลาพูดถึงองค์กรเฟี้ยวเงาะคือทันสมัย แต่ไม่ใช่ให้พนักงานทุกคนเป็นวัยรุ่นหมด คนอายุมากก็เฟี้ยวเงาะทันสมัยได้จากการปรับเปลี่ยน เป็นความพยายามที่เขาต้องการให้ทุกคนกล้าก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน อย่าอยู่กับความเคยชิน เวลาบอกให้ปรับต้องปรับ นั่นคือเฟี้ยวเงาะ

“ลองเปลี่ยนงานตัวเองดู คิดจะปรับปรุงมันอย่างไร มันก็เป็นคำจำกัดความให้ทุกคนเห็นว่ามันเริ่มมาจากดีเอชเอเรฟโวลูชั่น เป็นการปฏิวัติความคิดทั้งหมดปฏิวัติด้วยดีเอ็นเอคือทุกๆ ชีวิตที่อยู่ในองค์กรเป็นดีเอ็นเอของสยามวาลาหมด ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดที่เฟี้ยวเงาะ เพราะฉะนั้นมันก็จะอินไลน์มาจากสิ่งที่เราคุยกันมา”

สุหฤทเล่าว่า คำว่า “เฟี้ยวเงาะ” เป็นคำที่ได้มาจากการคุยเรื่องงานเพลงกับ เชาวเลข สร่างทุกข์ นักแต่งเพลงของเบเกอรี่มิวสิค ตอนไปเป็นกรรมการโค้กมิวสิคอวอร์ด ซึ่งเชาวเลขเอ่ยคำว่าเฟี้ยวเงาะในการคอมเมนต์วงเข้าแข่งที่ถูกใจ เขาเลยขอคำนี้มาใช้

“คุณมิตรยังถามว่าทำไมไม่พูดคำว่าทันสมัยไปเลยง่ายกว่า ต้องมานั่งแปลเฟี้ยวเงาะ แล้วคนจะรู้เรื่องเหรอ ผมว่าพูดทันสมัยเขารู้เรื่องเขาไม่ถาม แต่อยู่ดีๆ บอกทำงานให้เฟี้ยวเงาะเขางงแล้วถาม เราจะได้มีโอกาสบอก” สุหฤทอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ

ดีไซน์องค์กรใหม่ของ DHAS นั้น สุหฤท แบ่งแยกองค์กรออกเป็นหน่วยธุรกิจตามแบรนด์หลักที่มีอยู่ 4 แบรนด์ ทำให้เหมือนองค์กรย่อยในองค์กรใหญ่ เป็นหน่วยธุรกิจที่จะทำหน้าที่ไดรฟ์องค์กร โดยมีเขาเป็นผู้คุมกฎ หรือที่เขาเรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการห้ามมวย”

“ผมจะคอยดูไม่ให้ทำผิดหลักกลยุทธ์ เป็นกรรมการห้ามมวยเพื่อไม่ให้ Synergy ของโปรดักต์ทั้งหมดของบริษัทเสียหรือกระจัดกระจายเละเทะไป ยกตัวอย่าง ควันตัมห้ามออกแฟ้ม ปล่อยตราช้างทำ”

ส่วนการปรับเปลี่ยนด้านการบริหารงาน มีการปรับเปลี่ยนให้ฝ่ายตลาดจากระดับ Senior ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ ยกเลิกตำแหน่งผู้อำนวยการขายที่คุมสินค้าแต่ละประเภทมารวมกันเป็นหมวดธุรกิจ แล้วให้ผู้อำนวยการที่คุมหน่วยธุรกิจมีหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ดูเฉพาะการตลาดมาดูแลทั้งด้านกลยุทธ์การตลาดและการขาย ทำหน้าที่ออกแคมเปญ รับผิดชอบไปจนถึงผลกำไร

รวมแล้วใน DHAS มีตำแหน่งที่เติบโตขึ้นร่วม 20 ตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่ไดเรคเตอร์ของหน่วยธุรกิจซึ่งไม่เคยมีมาก่อน 2-3 คน รองผู้อำนวยการของฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ ตำแหน่งผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ ผู้จัดการเขตขาย

“นอกจากนี้ มีการย้ายหน่วยลอจิสติกส์มาอยู่รวมกับการตลาดและการขาย ทำให้แผนกนี้จากเดิมไม่เคยต้องไปหาลูกค้า ไม่เคยต้องเข้าประชุมรับรู้เป้าหมายและการประเมินการขาย ตอนนี้ต้องเข้ามารับรู้ทั้งหมด ต้องรู้ว่าแคมเปญจะออกเมื่อไร หากมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งสินค้า ไม่ใช่ให้ผู้จัดการฝ่ายขายไปเจรจาอย่างเดิม แต่คุณต้องไปเจรจา เพราะผมเชื่อว่าลอจิสติกส์กับลอจิสติกส์คุยกัน จะเป็นตัวแทนที่ดีของบริษัท ไม่มีใครที่จะได้อยู่หลังฉากอีกแล้ว”

ในด้านของพนักงาน สิ่งที่พวกเขาต้องตั้งรับการปรับเปลี่ยนนี้คือ ต้องนึกอยู่เสมอว่า พวกเขามีโอกาสเติบโตประสบความสำเร็จ มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ทั้งหมดจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น องค์กรเติบโตพวกเขาเติบโต เงินทุกบาทที่ใช้ คือสิ่งที่จะได้รับและรับผิดชอบร่วมกันระหว่างบริษัทและพนักงาน

สุหฤทบอกว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน ตัดสินใจเร็ว แต่ดีที่ DHAS มีจุดแข็งที่มีทั้งผู้บริหารที่เป็นพี่น้องและมืออาชีพที่อยู่ด้วยกันมานาน ซึ่งกลายเป็นส่วนผสมที่ดีให้กับเขา การที่เขาทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เพราะทุกคนเชื่อมั่นและให้โอกาส เขาหวังว่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ที่เขาเริ่มขึ้นนี้วันหนึ่งจะหยุดและอยู่ตัว โดยจะวัดผลได้จากตลาดที่จะเป็นตัวบอกซึ่งนั่นก็คือผลที่วัดได้จากการดำเนินงานอย่างแท้จริง จากนั้นก็จะเหลือเพียงการปรับเล็กๆ น้อยที่เขาเรียกว่า Fine Tune ซึ่งคงจะต้องมีอยู่ตลอดเวลา

“จุดอ่อนของผมคงจะเป็นเรื่องความโผงผาง เป็นคนเร็ว บางทีเร็วไปก็ทำให้เครียดทั้งองค์กร แต่ผมก็ต้องการทำให้องค์กรเครียดระดับหนึ่งแต่ไม่เครียดจนขาด โดนเตือนเรื่องนี้เยอะ แต่ลูกน้องที่อยู่ฝ่ายขายจะชินมาก”

ส่วนเรื่องที่สุหฤท จัดเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง คือ การออกสินค้าใหม่ เพราะเขาถือว่า สินค้าคือหัวใจของบริษัท ซึ่งเขาพร้อมจะรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจนี้เต็มที่

“เรื่องสินค้าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะถ้าเทสต์ไม่ดีแล้วปล่อยไปก็แย่ สุดท้ายถ้าใครคอนวินซ์ผมไม่ได้ผมรับผิดชอบเอง อาจจะมองว่าเป็นเผด็จการ แต่สำหรับสินค้าผมยอมไม่ได้ ปากกาล็อตหนึ่งเจอของไม่ดีผมยังต้องเก็บกลับมาหมด”

ความเชื่อเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้ DHAS ผลิตแฟ้ม ปากกา สมุด ที่มีสีสันสดใสออกสู่ตลาด แต่ในบางเรื่องสุหฤท ยอมรับว่าเขาเองก็ยังมีจุดอ่อน แต่ที่ยังชอบทำอะไรเร็วก็เพราะเชื่อในทีมเวิร์คของผู้บริหารในองค์กรซึ่งมีจุดแข็งช่วยเสริม

“ผมไม่เก่งทุกอย่าง ผมก็ประกาศว่าไม่เก่งทุกอย่าง แล้วก็ไม่อยากเก่งทุกอย่างด้วย แต่ผมมีคนเก่งมาเสริมหรือผมเสริมคนอื่น นี่คือทีมเวิร์ค ไม่ต้องวันแมนโชว์ ไม่มีใครเก่งรอบทิศ ผมว่าน่ารักออก แล้วยิ่งผู้บริหารแตกต่างกันมายืนเป็นแถวคาแร็กเตอร์ต่างกัน นั่งยิ่งเป็นทีมเวิร์คใหญ่ เพราะถ้าเก่งแต่การตลาดดูบัญชีไม่ได้เลยบริษัทก็ตาย”

ถ้าใครได้เห็นภาพการยืนเรียงกันของทีมผู้บริหารทั้งที่เป็นเชื้อสายเจ้าของและคนนอกที่รวมกันเป็น The New DNA ในวันคิกออฟ ก็จะเห็นภาพความแตกต่างที่สุหฤทพูดถึงได้ชัด เพราะมีทั้ง พ่อมดอิเล็กทรอนิกส์ คาวบอย ออฟฟิศแมน หนุ่มลำลองใส่เชิ้ตพับแขน สปอร์ตแมน ซึ่งสุหฤทบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรแบบ DHAS ที่มีส่วนผสมที่แตกต่างมานาน

ตัวอย่างที่แสดงถึงการทำงานร่วมภายใต้จุดต่างที่ดี ต้องย้อนไปเมื่อ 5 ปี ตอนที่บริษัทเริ่มผลิตปากกาควอนตัม ยิ่งศักดิ์ เอ็มดีในตอนนั้นทุบโต๊ะว่าต้องผลิตยี่ห้อปากกาของตัวเองเพราะเจ้าของแบรนด์เก่าที่บริษัททำตลาดให้อยู่ต้องการเอาแบรนด์ไปทำเอง ทั้งที่ DHAS ผลิตปากกาลูกลื่นมานานและเป็นองค์กรที่ให้กำเนิดคำว่า “ปากกาลูกลื่น” ในเมืองไทยด้วย

“ตอนแรกจะซื้อบริษัท คิดไปคิดมา คุณยิ่งศักดิ์ทุบโต๊ะปัง ทำเอง แบรนด์ควอนตัมเกิดเลย ผมอยู่ฝ่ายขายก็เซอร์เวย์ตลาด ปากกาในบ้านเรามีแค่สีน้ำเงิน สีดำ สีแดง ที่เชลฟ์มีกระจุกอยู่แค่นี้ ตอนนั้นเรามีแฟ้มสีสเปกตรัม เราเป็นคนเอาสีเข้าไปอยู่ในธุรกิจเครื่องเขียน จากแฟ้มที่เคยมีแต่น้ำเงินดำแดง ก็มีสีเขียวมะนาว ส้ม แสด เหลืองแป๊ด ชมพูหวานแหวว เป็นคนแรก ก็คิดว่าทำไมไม่เอาสีของแฟ้มไปอยู่ในปากกาล่ะ ปากกาก็เริ่มมีสีสันขึ้น หลังจากนั้นทุกคนก็ตาม ก็สนุกที่ได้ครีเอทอะไรขึ้นใหม่ภายใต้ทีมเวิร์ค”

นอกจากสำรวจตลาด สุหฤทบอกว่า การคิดแคมเปญของเขา จะใช้เทคนิคเหมือนการแต่งเพลง ต้องมีท่อนฮุกให้ลูกค้ากรี๊ด

ล่าสุดไม่กี่เดือนก่อน เขาก็ออกโฆษณาตัวใหม่พูดถึงคุณสมบัติเขียนลื่นของปากกาควอนตัม คิดเอง เล่นหนังโฆษณาเอง พร้อมกับออกแคมเปญให้ลูกค้ามีส่วนร่วมส่งคลิปลื่นๆ มาร่วมประกวด เสร็จจากงานนี้ก็ดันผลงานเพลง จากอีกภาคของชีวิตตามกันออกมาติดๆ ในอัลบั้มชื่อ เก ที่มีเพลงจาระบี แสดงความลื่นขั้นเทพเรื่องรักแต่ก็โยงถึงคุณสมบัติของปากกาที่ DHAS ผลิตได้อีกต่อด้วย

“ผมรักมากอาชีพนักร้องดีเจ เป็นอาชีพทั้งสองอาชีพ เอ็มวีใหม่ก็เปรี้ยวมากแบบที่ชอบมีความสุข อยู่บริษัทผมก็ต้องบริหารงานได้ แต่ไม่จำเป็นว่าผมจะต้องใส่สูทนั่งเรียบร้อยพูดไทยคำอังกฤษคำ ลูกค้าที่เป็นร้านค้าอยู่กันมานานเขาก็ชินกับภาพแต่ละภาพของผม แต่ถ้าลูกค้าทั่วไปผมก็อยากให้เขารู้ว่ามันมีผู้บริหารอีกแบบนะ เป็น Executainer คือ Executive + Entertainer มันน่าจะเป็นอะไรใหม่สำหรับธุรกิจไทยได้ ในธุรกิจอื่นก็อาจจะมีบ้าง อย่างคุณพาที (สารสิน) แต่ผมจะแสบกว่านั้นนิดหนึ่ง เป็น Bad Boy และนี่ไม่ใช่การพีอาร์มันเป็นธรรมชาติของผม แต่ไม่ว่าผมจะทำอะไรสินค้าผมต้องดีก่อน”

โดยสรุป Executainer ก็คือการรวมสองภาคไว้ในคนคนเดียว บริหารด้วย บันเทิงด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องขององค์กร สุหฤทบอกว่า อยากให้ DHAS เป็นเหมือน Alternative Rock ต้องเปรี้ยว โครมครามหน่อย ไม่ค่อยหวาน และรวดเร็วรุนแรง

“ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนความสุข สนุก อย่าให้องค์กรเป็นทุกข์ ผมเอ็มดี ผมยอมไม่ได้ ผมไม่ทำร้ายใคร แต่ห้ามใครทำร้ายผม ห้ามทำร้ายองค์กร เบสิกที่ผมขีดเส้นไว้เลยห้ามข้ามรั้วนี้ ถ้าอะไรที่กระทบคนส่วนมากผมจบง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก ถึงเวลาเหี้ยมก็เหี้ยม และผมมั่นใจว่าวันนี้จุดที่ทำให้ทุกคนยอมรับในสิ่งที่ผมทำเพราะทุกคนอยากมีความสุขเหมือนๆ กัน” สุหฤทกล่าวทิ้งท้าย