ย่างเข้าปีที่ 11 ในตลาดน้ำอัดลม “เอส โคล่า” ยกเครื่องทุกด้าน ปรับสูตร “รสชาติ” ครั้งใหญ่ให้ “ซ่าขึ้น” และน้ำตาลน้อยลง ตามความเห็นผู้บริโภคที่สะท้อนกลับมา พร้อมกับการปรับโลโก้และแพ็กเกจจิ้งให้มินิมอล ทันสมัย โดนใจ Gen Z วางกลยุทธ์ใหม่สร้างจุดยืนที่แตกต่างในตลาดด้วยการเป็น “Cola of Asia” ทุ่มงบการตลาด 150 ล้านบาท เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์รวดเดียว 10 คน!
“เอส โคล่า” น้ำอัดลมในพอร์ตของไทยเบฟเวอเรจเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2555 ทำให้ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 11 ของแบรนด์ และยังคงไล่ล่าการชิงมาร์เก็ตแชร์ให้ได้มากกว่าเดิมจากปัจจุบันเป็นอันดับ 3 ในตลาด
“สุภรณ์ เด่นไพศาล” ผู้อำนวยการสำนักการตลาด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ประเทศไทย บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด เกริ่นถึง ‘จุดอ่อน’ ของเอส โคล่า ที่มีมาตลอดทศวรรษ มีเรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่องที่ต้องแก้คือ “รสชาติ” ซึ่งผู้บริโภคมีฟี้ดแบ็กตลอดว่าไม่อร่อย หายซ่าเร็ว และอีกเรื่องคือ “จุดขายไม่ชัดเจน” เพราะการวางตัวเองทางการตลาดเปลี่ยนบ่อยเกินไป
นั่นทำให้ปีนี้เอส โคล่าจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ภายใต้แคมเปญ “Born to be Awesome เกิดมาซ่า..กล้าเป็นตัวเอง” ยกเครื่องอัพเลเวลแบรนด์ในทุกมิติ
ฟังเสียงลูกค้า รสชาติต้อง “ซ่าขึ้น”
มิติแรกที่เอส โคล่าปรับคือ “รสชาติ” ปรับสูตรใหม่ให้ “ซ่าขึ้น” และ “น้ำตาลน้อยลง” ตามความเห็นผู้บริโภค และยังปรับสูตรให้ได้รสชาติที่มีเอกลักษณ์ขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคแยกความต่างได้จากแบรนด์อื่นๆ
หลังปรับสูตรแล้ว บริษัทร่วมกับ Ipsos บริษัทที่ปรึกษา ทดสอบชิมรสชาติกับผู้บริโภค พบว่าผู้ทดลองชื่นชอบรสเอสโคล่าสูตรใหม่เพิ่มเป็น 98% จากสูตรเดิมมีคนที่ชื่นชอบ 91%
โลโก้-แพ็กเกจ แบบมินิมอล
มิติต่อไปคือการออกแบบโลโก้และแพ็กเกจจิ้งใหม่ โดยใช้การออกแบบที่มินิมอล ทันสมัย สะท้อนความเท่ ซ่า สดชื่น
โลโก้ใหม่จะใช้ร่วมกันหมดทั้งน้ำดำและน้ำสี (ปัจจุบันตัดคำว่า ‘เพลย์’ ออกจากชื่อแบรนด์น้ำสีแล้ว) ในส่วนกระป๋องน้ำสีก็จะปรับสีใหม่ด้วย ทำให้เมื่อทั้ง 10 รสชาติวางบนชั้นวาง จะโดดเด่นสะดุดตาลูกค้า
วางความต่างเป็น Cola of Asia เจาะกลุ่ม Gen Z
สุดท้ายคือการวางการตลาดให้แตกต่าง ส่วนนี้สุภรณ์ชี้ให้เห็นว่าในตลาด เอส โคล่า เป็นเจ้าเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย จึงหยิบยกเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพลักษณ์แบรนด์ “Cola of Asia”
ประกอบกับเอส โคล่าจากนี้จะเน้นกลุ่มเป้าหมาย Gen Z เป็นหลัก ทำให้การสื่อสารจะพูดเรื่องเอกลักษณ์ของคนเจนนี้ซึ่งเอสพบว่า Gen Z จะมีความกล้าที่จะต่าง และมีความเจ๋งในแบบของตัวเอง ทำให้ปีนี้แบรนด์เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ที่มีคาแรกเตอร์ความ ‘Awesome’ และเป็นตัวแทนของเอเชียน รวมทั้งหมด 4 กลุ่ม 10 คน ได้แก่
- “ชาอึนอู” ไอดอล ศิลปิน นักแสดงมากความสามารถจากเกาหลีใต้
- “โบกี้ไลอ้อน” นักร้องสาวเสียงดี ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่วิ่งไล่ล่าฝัน
- “3 นักวอลเลย์บอลหญิงคลื่นลูกใหม่” แป้น-ปิยะนุช, ชมพู่-พรพรรณ และ ออมสิน-ศศิภาพร ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยไปโอลิมปิกเป็นครั้งแรก
- “Yes Indeed” วงดนตรีมัธยมที่สร้างปรากฏการณ์ “สยามแตก” สะท้อนพลังคน Gen Z
การเปลี่ยนแปลงทุกมิติในปีนี้ เอส โคล่าวางงบการตลาด 150 ล้านบาทที่จะใช้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 ทำแคมเปญครบลูป ตั้งแต่โฆษณาในทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็น Out of Home, TVC หรือ Online Media จนถึงเตรียมแจกชิมเอส โคล่าสูตรรสชาติใหม่ 1 ล้านกระป๋องทั่วประเทศ
ในแง่อีเวนต์จะเริ่มจาก Fan Meeting กับชาอึนอู วันที่ 5 เมษายนนี้ และตามด้วย Awesome Stage ที่จะเปิดเวทีให้คน Gen Z ได้แสดงความสามารถ
การวางตัวเองเป็น Cola of Asia นั้น สุภรณ์กล่าวว่าเป็นการวางภาพแบรนด์ในระยะยาว ปัจจุบันเอส โคล่ามีจำหน่ายในต่างประเทศแห่งเดียวคือที่มาเลเซีย และยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มาก แต่ต่อไปแบรนด์จะศึกษาการลุยตลาดต่างประเทศมากขึ้น
- TCP ส่ง ‘Red Bull Halls XS’ ลุยตลาดพรีเมียมเอนเนอร์จีดริ้งก์ หวังลบภาพ ‘เครื่องดื่มแรงงาน’ มัดใจ Gen Z
- ไทยเบฟฯ เตรียมถอดหุ้นโออิชิออกจากตลาดฯ หลังประกาศรับซื้อหุ้นสัดส่วนทั้งหมด 20.34%
หวังปี’66 “น้ำอัดลม” โตจากการใช้ชีวิตนอกบ้าน
ด้านภาพรวมตลาดน้ำอัดลม สุภรณ์อ้างอิงข้อมูลจาก “นีลเส็น” ตลาดน้ำอัดลมไทยปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 57,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นเกือบ 8% ขณะที่เอส โคล่าปีก่อนเติบโต 9.4% สูงกว่าตลาดรวม อย่างไรก็ตาม ถ้าหากวัดเชิงปริมาณตลาดน้ำอัดลมปีก่อนโตเพียง 2% เพราะยังมีปัจจัยลบจากโควิด-19
ในแง่ส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลม สำรวจ ณ เดือนมกราคม 2566 พบว่ามีมาร์เก็ตแชร์ตามลำดับ ดังนี้
- 51% บจก.โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) – โค้ก, แฟนต้า, สไปรท์
- 37% บจก.เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) – เป๊ปซี่, มิรินด้า, เซเว่นอัพ
- 8% บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ – เอส (est)
- 3% บจก.อาเจ กรุ๊ป – บิ๊ก โคล่า
- 1% อื่นๆ
สุภรณ์กล่าวว่า เอส โคล่าเคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด 11% เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นปีเปิดตัวสินค้า ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 10% ในปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด
สาเหตุที่หลังผ่านโควิด-19 แล้วเอส โคล่ายิ่งมีส่วนแบ่งลดลง เพราะแบรนด์นี้แข็งแรงในช่องทางการขายผ่าน “ร้านอาหาร” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของตลาดน้ำอัดลม เมื่อเผชิญโรคระบาดทำให้ร้านอาหารเปิดขายได้ไม่เต็มที่ และคนทานอาหารในร้าน (dine-in) ก็ลดน้อยลง เอส โคล่าที่เป็นอันดับ 1 ในการขายผ่านช่องทางร้านอาหารจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด
ขณะที่ปี 2566 สุภรณ์หวังว่าตลาดจะโตได้ดีกว่าปีก่อน เพราะคนไทยกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติแล้ว และเอส โคล่าน่าจะได้ปัจจัยบวกที่ดียิ่งขึ้น เพราะคนไทยเริ่มกลับมาทานอาหารในร้าน ยอดขายน้ำอัดลมผ่านร้านอาหารในช่วงต้นปีนี้จึงดีขึ้นอย่างชัดเจน