แม้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รถอีวี หรือ รถยนต์ไฟฟ้า จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยระดับโลกก็มองว่า ปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่น่าจับตาของตลาด เพราะนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่จะยุติลง รวมถึงค่าไฟที่แพงขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังควรรีบเปลี่ยนไหม
ปี 66 ตลาดอีวียิ่งท้าทาย
เปโดร ปาเชโก รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เพราะในฝั่งของยุโรปนั้นกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าพลังงาน โดยเฉพาะ ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อาจไม่น่าสนใจขนาดนั้น ประกอบกับในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ที่กำลัง เริ่มจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวี และ ช่วงต้นปี 2566 รัฐบาลจีนยุติการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จทั่วโลกที่ยังไม่ครอบคลุมพอ ปัจจัยราคาของวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ลิเธียมและนิกเกิลที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถ BEV สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนแบบโออีเอ็ม (หรือ OEM) ลดช่องว่างด้านราคากับรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปได้ยากขึ้น ผลที่ตามมาคือยอดขายรถ BEV อาจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่ามากหรือหยุดชะงักในบางตลาด ทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถ BEV ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของการจำหน่ายยานพาหนะยังคงเดินหน้าต่อ เพียงแต่ช้าลง ขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจกำลังท้าทายการขับเคลื่อนของตลาดรถยนต์ จากข้อจำกัดด้านอุปทานไปสู่ข้อจำกัดด้านอุปสงค์ โดยผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์จะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนไปสู่การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อลดต้นทุนในการจำหน่าย” ไมค์ แรมซี่ รองประธานฝ่ายวิจัยอีกคนของการ์ทเนอร์ กล่าวเสริม
50% ของตลาดเป็นแบรนด์จีน
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 มากกว่า 50% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั่วโลกจะเป็นแบรนด์จากประเทศจีน แรมซี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีบริษัทจีนมากกว่า 15 แห่งที่จำหน่ายรถอีวีและหลายรุ่นมีขนาดเล็กกว่าและมีราคาถูกกว่าคู่แข่งต่างชาติอย่างมาก ขณะที่แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ Tesla, VW และ GM กำลังจำหน่ายรถอีวีจำนวนมากในประเทศจีน และยังพบว่าเติบโตรวดเร็วกว่าบริษัทจากจีนอย่างมาก
เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก บริษัทจีนหลายแห่งจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตตลาด ด้วยการเข้าถึงแร่สำคัญ ๆ และกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีนได้ การ์ทเนอร์แนะนำให้ผู้บริหารไอที (CIOs) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า ผสานเข้ากับการวางแผนด้านห่วงโซ่อุปทานและซอฟต์แวร์การควบคุมการมองเห็น (Visibility Software) เพื่อช่วยตัดสินใจทางธุรกิจเกี่ยวกับแหล่งที่มาและมีการรับประกันที่ยืดหยุ่นของวัสดุหลักในการผลิตได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ภายในปี 2568 บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จะเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการส่วนหนึ่งสำหรับรถยนต์ใหม่บนท้องถนนถึง 95% เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มเข้ามาแทนที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ (ระดับ Tier 1) ในฐานะผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ในรถยนต์ (อาทิ Google Automotive Services และ CarPlay) และยังขยายเครือข่ายของตนเพื่อเคลมส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้นในขอบเขตของระบบปฏิบัติการรถยนต์ (อาทิ ความร่วมมือระหว่าง Renault กับ Google หรือ ความร่วมมือของ VW กับ Microsoft)
นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายรายยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายรถยนต์ อาทิ Foxconn, Huawei, Alibaba, Xiaomi, Tencent และ Sony ที่ล้วนเป็นตัวอย่างของเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้
“เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิต OEM หรือซัพพลายเออร์แบบดั้งเดิมจะประสบความสำเร็จแต่เพียงผู้เดียว อย่างน้อยแต่ละรายต้องร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล หากพวกเขาต้องการรักษากำไรและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้” ปาเชโก กล่าวย้ำ