มาทำความรู้จักกับ เครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ได้เตรียมที่จะขอใช้สภาพคล่องจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 50,000 ล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 1.85 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่ใช้บริการ
โดยแผนการการกู้ยืมเงินของ Credit Suisse อยู่ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้นของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากหุ้นของสถาบันการเงินรายนี้ตกลงอย่างหนักในช่วงการซื้อขายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นหลังปิดตลาดลดลงไปมากถึง 24%
ราคาหุ้นที่ตกลงอย่างหนักของ Credit Suisse เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มธนาคารทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการล้มของ Silicon Valley Bank (SVB) ทำให้ท้ายที่สุดหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐอเมริกาต้องออกมาตรการอุ้มผู้ฝากเงินทั้งหมดในธนาคารรายดังกล่าว
เหตุการณ์ของ SVB ยังทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินกังวลว่าผลจากการล้มของ SVB อาจกระจายไปทั่วโลกได้ แม้ว่าจะมีมาตรการที่รวดเร็วออกมาจากฝั่งสหรัฐฯ แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ต้นทุนการเงินของธนาคารหลายแห่งสูงขึ้น จนทำให้ความอ่อนแอของสถาบันการเงินเหล่านี้โผล่ออกมา
ซึ่งความสำคัญของ Credit Suisse ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (GSIB) ซึ่งรายชื่อดังกล่าวมี 30 ธนาคาร ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ธนาคารในประเทศจีน
ความอ่อนแอของ Credit Suisse นั้นต้องไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤตการเงินปี 2007-2009 วิกฤตการเงินในทวีปยุโรปในช่วงปี 2010-2011 ทำให้สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีความอ่อนแอลงอย่างมาก
ปี 2021 Credit Suisse ยังต้องรับสภาพจากผลขาดทุนของการล่มสลายของ Greensill Capital ที่เป็นกองทุนที่เน้นด้านการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสถาบันการเงินจากสวิตเซอร์แลนด์รายนี้ได้รับผลกระทบไปถึง 1,720 ล้านเหรียญสหรัฐ
และในช่วงปีดังกล่าวเองนั้น สถาบันการเงินรายนี้ยังมาเจ็บหนักกับการปล่อยกู้ให้กับกองทุนบริหารความเสี่ยงชื่อดังอย่าง Archegos Capital Management ที่สถาบันการเงินรายนี้ต้องรับรู้ถึงผลขาดทุนมากถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งการรับรู้ของผลที่ขาดทุนอย่างหนักในปี 2021 ทำให้ Credit Suisse ต้องใช้ยาแรงในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือสร้างความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินรายนี้ออกไปล็อตใหญ่
ขณะที่ในปี 2022 สถาบันการเงินรายนี้จะมีการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ จนทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่มากถึง 14% และที่ผ่านมา Credit Suisse ยังได้รื้อโครงสร้างภายในอีกรอบ โดยเตรียมที่จะ IPO ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Credit Suisse First Boston) ในตลาดหลักทรัพย์หลังจากนี้ รวมถึงการปรับการบริหารภายในชุดใหญ่ก็ตาม
อย่างไรก็ดีการปรับโครงสร้างของ Credit Suisse ก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในเวลานี้เท่าไหร่นัก ซึ่งผลประกอบการในปี 2022 ที่ผ่านมาขาดทุนมากถึง 7,300 ล้านฟรังก์สวิส แม้ว่านักวิเคราะห์จะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 สถาบันการเงินรายดังกล่าวจะกลับมามีกำไรก็ตาม
ทำให้ท้ายที่สุดสถาบันการเงินรายนี้ต้องใช้กลไกของแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง