2023 ปีที่คนทั่วโลกมองเชิง ‘ลบ’ มากที่สุดในรอบทศวรรษ เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมวิกฤตหนัก

Ipsos
  • งานวิจัย Ipsos Global Trend 2023 สำรวจความเห็นผู้บริโภคใน 50 ประเทศ พบว่าคนเพียง 65% ที่เชื่อว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ดีกว่าปีก่อน ซึ่งถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบสิบปี
  • ความกังวลหลักคือเรื่อง “เศรษฐกิจ” และ “สิ่งแวดล้อม” มองภาพปีนี้เป็นเหมือน ‘เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’ หลังจากช่วงโควิด-19
  • คนไทยมองในทิศทางเดียวกับทั้งโลก 27% เห็นว่าตนเองยากลำบากทางเศรษฐกิจ และ 86% มองว่าไทยกำลังเผชิญวิกฤตภูมิอากาศ
  • แนะนำแบรนด์ไทยคว้าโอกาส ชวนคนไทยใช้ของไทยซึ่งถูกกว่าสินค้านำเข้า และเน้นหนักการแก้ปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ

“อุษณา จันทร์กล่ำ” กรรมการผู้จัดการ และ “พิมพ์ทัย สุวรรณศุข” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด เปิดรายงานการวิจัย Ipsos Global Trend 2023 ซึ่งครั้งนี้บริษัทสำรวจใน 50 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทุกทวีป มีผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์ 48,000 คน รวมถึงมีการสำรวจในประเทศไทยด้วย (*เฉพาะในไทยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน)

การวิจัยนี้ Ipsos มีการสำรวจทั้งหมด 12 หัวข้อที่เป็นเทรนด์ในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวเลือกการดูแลสุขภาพ มิติทางเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนของทุนนิยม เป็นต้น

12 หัวข้อที่สำรวจในงานวิจัย

หลังจากสำรวจแล้วพบว่ามุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคในปี 2023 นั้นอยู่ภายใต้มุมมองของ ‘A New World Disorder’ เพราะเห็นว่าปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความผันผวนไร้ระเบียบ

65% ของประชากรโลกมองว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ดีกว่าปีก่อน ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำสุดในรอบสิบปี เพราะโลกเราตกอยู่ภายใต้ความกังวลหลายประการ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องสงคราม

 

เศรษฐกิจตกสะเก็ด เงินเฟ้อพุ่ง

เทรนด์สำคัญที่ Ipsos พบว่าเป็นมุมมองร่วมกันของคนทั้งโลก คือ ความกังวลด้านเศรษฐกิจ นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดีขึ้น มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนทั่วโลก

โดยค่าเฉลี่ยประชากรโลกมี 34% ที่มองว่าตนเองตกอยู่ในภาวะยากลำบากถึงลำบากมากในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนชาวไทยที่อยู่ในภาวะนี้มี 27%

27% ของคนไทยรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในภาวะยากลำบากถึงลำบากมากในเชิงเศรษฐกิจ

ตัวเลขหากเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกถือว่าดีกว่า เพราะทวีปที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักและเรื้อรังมาตลอดคือประเทศแถบละตินอเมริกากับแอฟริกา แต่ถ้าหากเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ปรากฏว่าคนไทยรู้สึกลำบากทางเศรษฐกิจสูงที่สุด (*ประเทศแถบ SEA ที่ Ipsos สำรวจในครั้งนี้ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์)

ความกังวลของคนไทยในด้านการเงินมี 2 ปัจจัยหลัก คือ 53% กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และ 48% กังวลเรื่องเงินที่ใช้จับจ่ายประจำวัน แม้แต่คนในระดับฐานะปานกลางก็กังวลทางเศรษฐกิจแล้ว เพราะสินค้าบริการทุกอย่างมีราคาสูงขึ้น

 

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องฉุกเฉิน

ประเด็นถัดมาที่ Ipsos พบว่าทั่วโลกมองในทางเดียวกันคือ “สิ่งแวดล้อม” ประชากรโลก 80% เชื่อว่าโลกเรากำลังมุ่งไปสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อม หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การวิจัยพบว่าประเทศแถบทวีปเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์) มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งน่าจะเกิดจากประเทศในแถบนี้คือผู้รับผลเสียจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสูงที่สุด และมีการแก้ไขรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมช้ากว่าประเทศทางตะวันตก รวมถึงบางครั้งเป็นเหยื่อรับภาระขยะพิษจากตะวันตกนำมาฝังกลบในเอเชีย ทำให้รู้สึกกังวลสูงกว่า

การวิจัยพบว่าประเทศแถบทวีปเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์) มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน คนไทย 86% เชื่อว่าเรากำลังเผชิญหายนะทางสิ่งแวดล้อม ประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องฝุ่น PM2.5 เพราะเป็นปัญหาร้อนที่เราเผชิญมาหลายปี รองลงมาคือความผันผวนของสภาพอากาศจนเกิดภัยพิบัติแล้งจัดสลับน้ำท่วมอยู่เสมอ

 

แนะนำ “แบรนด์ไทย” คว้าโอกาส

จากทัศนคติของคนไทยต่อวิกฤตของปี 2023 ในอีกแง่มุมจะเป็นโอกาสของแบรนด์ที่เข้าใจคนไทยและสามารถปรับตัวได้ โดย Ipsos มีคำแนะนำดังนี้

1.โอกาสสินค้าไทยทดแทนสินค้านำเข้า

เมื่อเงินในกระเป๋ามีมูลค่าลดลงเพราะเงินเฟ้อ ทำให้คนไทยเริ่มหันมามองสินค้าไทยที่มีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า โดยผลสำรวจพบว่า คนไทย 73% เลือกซื้อของไทยมากกว่าต่างชาติ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการทำการตลาดของแบรนด์ไทยที่จะสะท้อนถึงคุณภาพที่ดีทดแทนการนำเข้าได้

คนไทย 73% เลือกซื้อของไทยมากกว่าต่างชาติ เป็นโอกาสของแบรนด์ไทย

2.แบรนด์/ธุรกิจควรเน้นหนักการดูแลสังคม-สิ่งแวดล้อม

ทัศนคติของคนไทย 80% กังวลว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคต และมีคนไทยเพียง 36% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลวางแผนในระยะยาวไว้อย่างดีแล้วเพื่อดูแลประชาชน

เมื่อคนไทยไม่มั่นใจในรัฐบาล กลายเป็นว่า 81% ของคนไทยเชื่อว่าเป็นไปได้ที่แบรนด์/ธุรกิจสามารถดูแลสังคมได้ไปพร้อมๆ กับการทำกำไร และ 71% ของคนไทยยอมที่จะจ่ายเงินแพงกว่าถ้าจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์ที่ดูแลรับผิดชอบสังคม ความคาดหวังของคนไทยเช่นนี้ทำให้แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ควรหันมาใส่ใจการสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

81% ของคนไทยเชื่อว่าเป็นไปได้ที่แบรนด์/ธุรกิจสามารถดูแลสังคมได้ไปพร้อมๆ กับการทำกำไร

อย่างไรก็ตาม 53% ของคนไทยไม่เชื่อใจผู้นำทางธุรกิจว่าจริงใจกับผู้บริโภค ดังนั้น แบรนด์ที่จะสร้างฐานลูกค้าจากประเด็นนี้จึงต้องเริ่มสร้างความเชื่อใจกับคนไทยให้ได้ก่อน

โดยสรุปมุมมองความคิดของคนไทยปีนี้สอดคล้องกับความคิดของคนทั่วโลก เพราะคนไทยมีการเสพข่าวสารในระดับโลก และเห็นชัดเจนว่าวิกฤตในอีกมุมหนึ่งของโลกจะส่งผลมาถึงไทยด้วย ทำให้เกิดความกังวลที่ไม่แตกต่างกัน ปี 2023 จึงเป็นจุดเปลี่ยนความกังวลของไทยที่เปลี่ยนจากเรื่องสุขภาพในช่วงโควิด-19 มาเป็นเรื่อง ‘ปากท้อง’ นั่นเอง

หมายเหตุ: Ipsos เปิดสัมมนาออนไลน์ ฟรี “Global Trends–Thailand Webinar” วันที่ 30 มีนาคม 2566 ลงทะเบียนได้ที่ https://www.ipsos.com/en-th/ipsos-global-trends-2023-thailand-webinar 

Ipsos