J&T Express ไม่กังวลเรื่องสงครามราคา ชี้โฟกัสเรื่องคุณภาพ ส่งตรงเวลา พัสดุตีกลับลดลง

หนึ่งในบริษัทขนส่งอย่าง J&T Express ได้ประกาศกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2023 นี้ โดยโฟกัสหลักของบริษัทนั่นก็คือเรื่องของคุณภาพการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพัสดุให้ตรงเวลา มีปริมาณพัสดุตีกลับน้อยลง หรือแม้แต่บริการดูแลลูกค้า

ลิลลี่ เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย (J&T Express) ได้กล่าวว่า ตั้งแต่มีการเปิดบริการในประเทศไทยตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีเส้นทางการขนส่งพัสดุครบ 77 จังหวัด ครอบคลุม 928 อำเภอรวมถึงพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้บริษัทมีศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้ามีพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร

เธอได้กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้นำในตลาดขนส่งพัสดุด่วนของประเทศไทย โดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายสำคัญในปีนี้คือนำจ่ายให้สำเร็จและตรงเวลา ลดการตีกลับ ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเรื่องสงครามราคาของธุรกิจ Logistics นั้น เธอมองว่าไม่ได้กังวลกับเรื่องดังกล่าวมากเท่าไหร่นัก เธอได้กล่าวถึงเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งสินค้ามากกว่า และกล่าวเสริมว่ากลยุทธ์ดังกล่าวไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน แต่ประสิทธิภาพอย่างการส่งสินค้าให้ตรงต่อเวลาสำคัญที่สุด ปัจจัยดังกล่าวนั้นทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ

นอกจากนี้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดรายนี้ยังกล่าวว่าบริษัทยังโฟกัสไปยังธุรกิจขนส่งด่วนก่อนที่จะขยายไปยังการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ในภายหลัง

ขณะที่ปัญหาสำคัญคือต้นทุนของธุรกิจ Logistics อย่างน้ำมันนั้น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ J&T Express ได้กล่าวว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการพัฒนาพนักงานให้มีความชำนาญ รวมถึงการคัดแยกสินค้าให้มีความผิดพลาดน้อยลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นสามารถลดต้นทุนได้

นอกจากนี้ในปี 2023 นี้บริษัทยังมีงบลงทุนในอุปกรณ์คัดแยกสินค้าที่ทันสมัยเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจหลังจากนี้ด้วย

ปัจจุบัน J&T Express มีเครือข่ายครอบคลุม 13 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก บราซิล และอียิปต์ ซึ่งลิลลี่ได้กล่าวว่าการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยถือว่าเติบโตมากกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วยซ้ำ

นอกจากนี้สัดส่วนลูกค้าจากแพลตฟอร์ม E-commerce หลายรายนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณขนส่ง และปริมาณขนส่งในปัจจุบันนั้นเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยความท้าทายของบริษัทที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดรายนี้มองไว้คือทำยังไงให้ประสิทธิภาพของการส่งสินค้านั้นดีกว่านี้ได้อีก