ส่อง 4 เทรนด์ “การสื่อสารแบรนด์” จาก “ปับลิซิส กรุ๊ป” อัปเดตตั้งแต่เทคนิคจนถึงอินไซต์ผู้บริโภค

การสื่อสารแบรนด์
“ปับลิซิส กรุ๊ป” จัดงานสัมมนาใหญ่ Power of One แบ่งปันเคล็ดลับและอินไซต์ “การสื่อสารแบรนด์” ที่เป็นเทรนด์ใหญ่ในยุคนี้ ตั้งแต่เทคนิคเชิงลึกจนถึงอินไซต์ผู้บริโภค ติดตามได้ที่นี่

“ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย” กลุ่มเอเจนซี่ด้านการสื่อสารการตลาด จัดงานสัมมนาเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านการตลาดเป็นครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่องาน Power of One, Powering the future เจาะลึกด้านการสื่อสารแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ

โดยงานแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 เทรนด์หัวข้อใหญ่ ดังนี้

  • Power of Human Insight
  • Power of Media
  • Power of Social Behavior
  • Power of Social Content & Influencer

รายละเอียดแบบอัดแน่นที่ Positioning ได้สรุปจากงาน ติดตามได้ด้านล่าง

 

Power of Human Insight

–นำเสนอโดย เจนคณิต รุจิรโมรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย

อินไซต์ของผู้บริโภคทุกวันนี้มีบางอย่างที่เห็นเทรนด์เด่นชัดและแบรนด์สามารถนำมาปรับใช้ได้ ดังนี้

1.Navigating Bias

เราอยู่ในโลกที่มี “อคติ” กันมากขึ้น ทั้งอคติทางบวกและทางลบ เพราะโซเชียลมีเดียที่คอยป้อนข้อมูลให้ทำให้อคติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเรามีความเชื่อบางอย่างและตัดสินใจด้วยอารมณ์ความรู้สึก (emotional) มากกว่าเดิม

ในมุมของแบรนด์ แบรนด์สามารถใช้โอกาสนี้สร้าง “อคติเชิงบวก” ขึ้นมาได้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ชุมชนนักป้ายยา ช่วยพูดถึงแบรนด์ในทางที่ดี

ในอีกมุมหนึ่งคือถ้าผู้บริโภคเกิด “อคติเชิงลบ” กับแบรนด์ แบรนด์ต้องเร่งแก้เกมให้อคตินั้นหายไป ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางยี่ห้อ A ที่ถูกมองว่าเป็นแบรนด์เชยและแก่ ใช้วิธีออกโฆษณาพูดถึงว่าคนเราไม่ควรตัดสินกันที่ภายนอก ทำให้แฟนคลับแบรนด์ที่ใช้จริงออกมาแสดงตัวและช่วยปกป้องแบรนด์มากขึ้น

2.Embrace Empathy

โลกทุกวันนี้คนเราเริ่มเห็นใจ เปิดใจให้กับจุดอ่อนหรือด้านลบของคนอื่นมากขึ้น หันมาให้กำลังใจกัน ยอมรับที่จะต้องมีท้อ มีเหนื่อย มีพักบ้าง

แบรนด์จึงเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง ผู้บริโภคเริ่มเห็นใจและยอมรับจุดอ่อนของแบรนด์ ถ้าแบรนด์กล้าที่จะพูดถึง ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าแบรนด์ B ที่เป็นเสื้อยืดธรรมดา ลุกขึ้นมาทำโฆษณาที่พูดถึงความธรรมดาของตนเอง สร้างแรงกระเพื่อมให้คนยอมรับว่าความธรรมดานั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร

3.Green for Game Change

ประเด็น “ความยั่งยืน” และ “สิ่งแวดล้อม” ต้องเริ่มไปไกลกว่าการเป็นโครงการซีเอสอาร์หรือภาพลักษณ์บริษัท วันนี้เรื่อง “Green” ควรเป็นเสาหนึ่งของการทำการตลาด เพราะผู้บริโภคเริ่มมีไลฟ์สไตล์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็น “Native” ด้านความยั่งยืน ทำให้แบรนด์ควรจะโตไปพร้อมกับลูกค้ากลุ่มนี้

4.Mind the Gap

เรื่องช่องว่างระหว่างอะไรบางอย่างมาแรงมาก เช่น วัย ชนชั้น ฐานะ คนเมืองกับชนบท ความสามารถด้านเทคโนโลยี บีบให้แบรนด์ต้องเลือกระหว่างทำตัว ‘กลางๆ’ หรือเลือกกลุ่มเป้าหมายยืนข้างใครให้ชัดเจน

แต่ที่จริงแล้วแบรนด์สามารถเลือกยืนข้างคนทุกกลุ่มได้ เพราะวันนี้มีเทคโนโลยี Personalized Media ยิงแอดสื่อสารแบบเฉพาะกลุ่ม ยกตัวอย่างแบรนด์สมาร์ทโฟน C ที่สื่อสารมือถือระดับท็อปเทียร์ของตนเองกับคนเมืองมีฐานะ แต่สื่อสารมือถือระดับเข้าถึงง่ายด้วยภาษาถิ่น

5.Consent with Confidence

ตั้งแต่มีกฎหมาย PDPA และมีมิจฉาชีพออนไลน์ ทำให้ลูกค้าระแวงกับการขอความยินยอมเข้าถึงข้อมูลของแบรนด์มากกว่าเดิม ยิ่งมีเงื่อนไขเป็นภาษากฎหมายยาวเหยียด ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่เป็นมิตรยิ่งขึ้น

ทางแก้คือแบรนด์สามารถเขียนรายละเอียดให้ชัด สั้น เข้าใจง่าย ใช้เป็นภาษาที่เป็นมิตร เมื่อจะขอความยินยอมเก็บดาต้า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำ เพราะความเชื่อมั่นสบายใจกับแบรนด์ต้องค่อยๆ สร้างขึ้น และต้องมีในทุกๆ touchpoint

 

Power of Media

–นำเสนอโดย ลลิต คณาวิวัฒน์ไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลและมีเดีย ปับลิซีส กรุ๊ป ประเทศไทย

หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการใช้สื่อคือการสร้าง “Immersive Experience” การรับสื่อคือการสร้างประสบการณ์ร่วม ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ เช่น ป้ายสื่อ Out of Home สามารถใช้กล้องสมาร์ทโฟนส่องเป็นภาพ AR ได้ หรือการดีไซน์ไอเทมและอวาตาร์ของแบรนด์ในเกม

อีกหัวข้อที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจพบว่าคนเจนเนอเรชันใหม่ “ยินยอมที่จะถูกเก็บดาต้า” มากขึ้น หากว่าเก็บไปแล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้วย เช่น แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ เก็บดาต้าไปแล้วทำให้ลูกค้าได้ข้อเสนอสินค้าที่ตรงใจ หรือ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เก็บดาต้าไปแล้วเสนอคอนเทนต์โดนๆ

 

Power of Social Behavior

–นำเสนอโดย วิบู หาญวรเกียรติ หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริลเลียน แอนด์ มิลเลียน

พฤติกรรมโซเชียลมีเดียของคนยุคนี้ยิ่งต้องการ “แสดงออก” มากกว่าที่เคย และผู้เสพคอนเทนต์หันมานิยมคอนเทนต์ที่ “เรียล” จริงใจ ดิบๆ ไม่เสริมแต่ง และเป็นตัวเอง โดยมีสถิติจากช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2565 เก็บข้อมูลจากเครื่องมือ Social Listening พบว่า คอนเทนต์เรียลๆ จะได้รับ engagement สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-3%

นั่นทำให้คอนเทนต์ฮิตของยุคคือการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นเต็มที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น สังคม การเมือง ดารา และการไลฟ์ขายของที่จะฮิตได้ ผู้ขายต้องมีคาแรกเตอร์ชัดเจน แสดงออกตรงไปตรงมา

เป็นคีย์สำคัญให้แบรนด์วางกลยุทธ์ว่าจะสอดแทรกการตลาดเข้าไปกับคอนเทนต์เรียลๆ อย่างไร

 

Power of Social Content & Influencer

–นำเสนอโดย สมิหรา ทันต์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ ดิจิทาซ ประเทศไทย

เมื่อแบรนด์จะเล่นกับโซเชียลมีเดีย ต้องทำอย่างไรให้ทันเทรนด์ยุคนี้ ไปดูกัน

1.ไม่ต้อง follow เดี๋ยวคอนเทนต์โชว์เอง

เกมเปลี่ยนไปแล้ว ยุคนี้ทุกแพลตฟอร์มปรับระบบมาเป็น suggestion for you ผู้บริโภคไม่ต้องกด follow ก็เห็นคอนเทนต์ได้ง่าย ซึ่งดีกับแบรนด์เพราะโอกาสส่งคอนเทนต์ไปถึงผู้บริโภคแบบออแกนิกส์จะง่ายขึ้น แต่ต้องทำคอนเทนต์ที่ตรงความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย และปรับให้เข้ากับแพลตฟอร์มนั้นๆ

2.เรียลไทม์เทรนด์ โหนอย่างไรไม่ให้เด๋อ

แบรนด์ต้องเข้าใจวงจรอายุของคอนเทนต์ “เรียลไทม์” บางอย่างขึ้นเร็วลงเร็ว บางอย่างลงช้าทำให้มีเวลาคิดมุก ดังนั้น จะโหนเทรนด์ให้ไม่เด๋อ ต้องเข้ามาโหนให้ทันช่วงที่ยังเป็นกระแส และถ้ามาไม่ทันหรือแบรนด์ของตัวเองไม่เข้ากับเทรนด์นั้นๆ จริงๆ ก็ควรจะ “ไม่ไหวอย่าฝืน”

3.ตีฟู อินฟลูอย่างไร ให้งานฟูล

อินฟลูเอนเซอร์ระดับเมกะยังคงมีความสำคัญ เพราะช่วยดันแคมเปญให้เป็นที่รู้จักได้กว้างและเร็ว

แต่คนที่มองข้ามไม่ได้อีกส่วนคือ “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” เพราะผู้บริโภคยุคนี้ต้องการข้อมูลละเอียด และไมโครอินฟลูฯ เหล่านี้คือคนที่ช่วยให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตรงกับวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มได้

ตัวอย่างเช่น สกินแคร์ยี่ห้อ D มีแคมเปญร่วมกับเมกะอินฟลูเอนเซอร์แล้วเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จัก จากนั้นใช้ไมโครอินฟลูฯ เจาะไปในกลุ่มสาวมุสลิม พูดถึงสกินแคร์เป็นฮาลาลหรือไม่ หรือเจาะในกลุ่มวีแกน พูดถึงว่าแบรนด์ไม่มีการทดลองกับสัตว์ เป็นต้น

4.จิตสัมผัส มากกว่าตาดู หูฟัง

ยุคนี้คือการทำคอนเทนต์ที่ “สร้างจินตนาการ” ให้กับผู้บริโภคได้ เห็นภาพแล้วเสียงลอยมา หรือฟังเสียงแล้วนึกถึงประสบการณ์ร่วมกับเสียงนั้น

ยกตัวอย่างเช่น บริการเดลิเวอรี E มีแคมเปญทำคลิป ASMR เสียงทำกับข้าวของร้านอาหารดังบนแพลตฟอร์ม เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคนึกถึงรสชาติและประสบการณ์ร่วมกับร้านนั้นๆ ช่วยดันยอดคำสั่งซื้อได้ดีขึ้น

ทั้งหมดคือองค์ความรู้ที่ “ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย” แบ่งปันให้กับสาธารณะ ช่วยอัปเดตเทรนด์ที่จะทำให้แบรนด์สื่อสารถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย!

ปับลิซิส กรุ๊ป
(จากซ้าย) เจนคณิต รุจิรโมรา , มิณฑารา บัวทอง Senior Strategic Planner ดิจิทาซ ประเทศไทย, สมิหรา ทันต์เจริญกิจ, ภารุจ ดาวราย ซีอีโอ ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย, โศรดา ศรประสิทธิ์ ซีอีโอ ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย, ลลิต คณาวิวัฒน์ไชย และ วิบู หาญวรเกียรติ