Jensen Huang ซีอีโอแจ็คเก็ตหนัง ผู้เปลี่ยน Nvidia ให้เป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

Jensen Huang Nvidia
Photo : Shutterstock
เจนเซน หวง (Jensen Huang) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทหน่วยประมวลผลกราฟิกอย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) นั้นกำลังได้รับความสนใจล้นหลามจากชาวโลก เพราะวันนี้หุ้น Nvidia พุ่งทะยานจนดันมูลค่าตลาดให้เข้าใกล้หลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ในไม่กี่อึดใจ ผลจากความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้ Nvidia เตรียมขึ้นเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกของโลกที่มีมูลค่าทะลุล้านล้านดอลล์

Huang ไม่ได้มีชื่อเสียงแต่เพียงในแง่การเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเด่นที่การสวมแจ็คเก็ตหนังอันเป็นเอกลักษณ์ด้วย ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ Nvidia ถูกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มั่งคั่งที่สุด Huang ได้พยายามปลูกฝังแบรนด์ส่วนบุคคลหรือ Personal Brand ที่แตกต่างโดยมีแกนกลางอยู่ที่ “แจ็คเก็ตหนังซิกเนเจอร์” แฟชั่นล้านล้านดอลลาร์นี้ถูกโชว์สู่สายตาสาธารณชนอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เพราะ Huang มักจะสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนังที่เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้า ขึ้นเวทีเปิดตัวสินค้าหลายรุ่นอย่างต่อเนื่องจนได้รับความสนใจจากชาวเน็ต

Jensen Huang Nvidia
(Photo by Walid Berrazeg/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

สีสันล่าสุดจาก Jensen Huang คือผู้ก่อตั้ง Nvidia ออกมาเตือนทุกฝ่ายที่งานคอมพิวเทค (Computex Taipei) ว่าอย่าประเมินความตั้งใจในการสร้างเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของประเทศจีนต่ำเกินไป เพราะมีข้อมูลวงในตอกย้ำว่าจีนแผ่นดินใหญ่กำลังทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างชิประดับไฮเอนด์ของตัวเอง ซึ่ง Nvidia และคู่แข่งในสหรัฐอเมริกาจะต้อง “วิ่งเร็วมากๆ” เพื่อรักษาตำแหน่งให้ก้าวนำหน้าคู่แข่งจากจีน

ขุมพลังของโลก

Jensen หรือ Jen-Hsun Huang นั้นเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน ก่อนจะสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังจากการเป็นซีอีโอของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) และปัญญาประดิษฐ์ เด็กชาย Huang เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1963 ในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน ก่อนจะอพยพไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุยังน้อย จนสามารถผงาดเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

Huang ร่วมก่อตั้ง Nvidia ในปี 1993 และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเติบโตและความสำเร็จของบริษัท ภายใต้การนำของ Huang บริษัท Nvidia ได้กลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สามารถปฏิวัติวงการกราฟิกคอมพิวเตอร์และขับเคลื่อนความก้าวหน้าในเทคโนโลยี GPU ในอีกด้าน Huang ถูกยกว่าเป็นเจ้าของวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน Nvidia ให้ขยายตัวสู่ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ Nvidia มีส่วนร่วมกับยุคที่ AI และระบบอัตโนมัติกำลังเฟื่องฟูได้สำเร็จ

สิ่งที่ทำให้โลกสนใจ Jensen Huang คือการกล่าวสุนทรพจน์ที่สนุกสนานและมีเสน่ห์บนเวที การนำเสนอที่มีพลังทำให้ Huang กลายเป็นไฮไลต์ของการประชุมและกิจกรรมทางเทคโนโลยีหลายครั้ง สไตล์การนำเสนอที่กระตือรือร้นของ Huang บวกกับความหลงใหลในเทคโนโลยีทำให้คำพูดของ Huang ให้อารมณ์ที่น่าจดจำและสนุกสนาน สะท้อนความสามารถของ Huang ในการดึงดูดให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับแนวคิดทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เสริมให้แบรนด์ Nvidia ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก

Huang ยังเป็นที่รู้จักจากสไตล์ส่วนตัวที่โดดเด่น แจ็คเก็ตหนังซิกเนเจอร์ของ Huang ทำให้ผู้ใช้ Reddit ลุกขึ้นมาค้นหาที่มาของแจ็คเก็ตที่ Huang สวม ที่ผ่านมา Huang ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time โดยสวมแจ็คเก็ตอย่างภูมิใจ บนเสียงยกย่องจากสื่อมวลชน ที่มองว่าสไตล์ที่โดดเด่นของ Huang กลายเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการและความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

Jensen Huang Nvidia
(Photo by Walid Berrazeg/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลภาพถ่ายของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่าทุกภาพของ Huang ตั้งแต่ปี 2013 ล้วนสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนัง โดยยกเว้นเพียงปี 2009-2010 ที่ Huang เลือกสวมเสื้อยืดคอปกสีดำ นอกจากนี้ ผู้ใช้ Reddit ยังย้อนดูวิดีโอจากปี 2011 ที่ Huang ไปเยือนมหาวิทยาลัย Stanford ด้วยกางเกงยีนส์สีน้ำเงินและเสื้อโปโลสีดำ ซึ่งแปลว่าแจ็คเก็ตซิกเนเจอร์ยังไม่ได้แจ้งเกิดหรือปรากฏตัวสู่สายตาสาธารณชนในเวลานั้น

ยังไม่มีความแน่ชัดว่าการตัดสินใจของ Huang ที่จะเลือกสวมแจ็คเก็ตหนังขึ้นเวทีนั้นได้รับอิทธิพลจากสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Apple ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือไม่ ก่อนหน้านี้ Jobs ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในการสวมเสื้อคอเต่าสีดำ กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน และรองเท้าผ้าใบสีขาวเป็นชุดประจำวัน แต่ Jobs อธิบายว่าเป็นเพราะความง่ายและลดการใช้เวลาคิดถึงสิ่งที่จะสวมใส่ ซึ่ง Huang ยังไม่ได้ออกมาตอบรับเหตุผลนี้อย่างเป็นทางการ

นอกเหนือจากบทบาทที่ Nvidia และภาพลักษณ์การแต่งตัว Huang ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเรื่องการกุศลด้วย ทั้งการสนับสนุนโปรเจ็กต์ด้านการศึกษาและการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอีกหลายทาง ทั้งหมดส่งเสริม Huang มีภาพความใจดีคู่ความเก่งไม่แพ้ใคร

อย่าประเมินจีนต่ำไป

ระหว่างงาน Computex Taipei ปีนี้ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Nvidia ได้เตือนไม่ให้ทุกฝ่ายประเมินความมุ่งมั่นของจีนต่ำเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องการไล่ตามเทคโนโลยีชิป เพราะ Huang พบว่าจีนได้จัดสรรทรัพยากรจำนวนมากเพื่อสนับสนุนภาคเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดการส่งออกที่มีกฎของรัฐบาลสหรัฐฯ บีบเอาไว้

Huang ระบุว่าภาวะนี้เป็นผลให้ Nvidia และผู้ผลิตชิปอเมริกันรายอื่นต้อง “ทำงานอย่างรวดเร็ว” เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันให้ได้ โดยบอกว่าแม้จีนจะถูกสหรัฐฯ สั่งห้ามไม่ให้ใครขายชิปที่ทันสมัยแก่บริษัทสัญชาติจีน ซึ่ง Huang เองก็ตระหนักถึงความจำเป็นของ Nvidia ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ Huang รู้สึกยอมรับความตั้งใจของจีนในการบ่มเพาะผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพราะ Huang ได้เห็นการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทผู้พัฒนา GPU จำนวนมากในจีน ซึ่งเป็นแนวโน้มจากการที่ GPU มีสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายกว่าหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) อย่างเห็นได้ชัด

Nvidia
Photo : Shutterstock

คำพูดล่าสุดของ Huang สะท้อนถึงคำเตือนก่อนหน้านี้ ที่ Huang ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ซึ่ง Huang เองได้เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของ Biden บังคับใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างระมัดระวัง เนื่องจากจีนอาจตอบโต้ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของชิปในประเทศ เพื่อแก้เกมที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้ Nvidia สามารถขายชิป “GPU ขั้นสูงรุ่นเริ่มต้น” ที่ปรับแต่งสำหรับตลาดจีนแก่บริษัทจีนเท่านั้น

สำหรับงาน Computex Taipei ซีอีโอ Huang ได้เปิดตัวหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมถึงแพลตฟอร์มซูเปอร์คอมพิวเตอร์ DGX GH200 AI ซึ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่สำหรับแอปพลิเคชัน Generative AI นอกจากนี้ Huang ยังได้พบกับมอริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตชิปรายใหญ่ของโลกที่รับผิดชอบในการผลิตชิปเรือธงของ Nvidia ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนการขยายความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทั้ง 2 บริษัทในทศวรรษหน้า ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากยุคทองของ Generative AI แน่นอน

ที่มา :Qz, SCMP, Japan Times