แบ่งโค้กกัน แคมเปญแมสแต่ได้ความรู้สึกส่วนตั๊วส่วนตัว

เมืองไทยนึกจะหาน้ำอัดลมเย็นๆ สะใจกินสักกระป๋องในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมากลายเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน จนเกิดเป็น Viral แต่เป็นเชิงบ่นปากต่อปากเสียมากกว่าจะจริงจังว่าหาน้ำอัดลมดื่มยาก

บังเอิญว่า Viral Marketing ที่ทอล์กกันทั่วออสเตรเลียตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนที่ผ่านมา หรือช่วงเดียวกับที่มวลน้ำมาถึงกรุงเทพฯ พอดีราวต้นเดือนตุลาคม ก็เป็นเรื่องน้ำอัดลมเหมือนกัน แต่ต้นเหตุต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่ออสเตรเลียเป็นเรื่องที่บอกต่อๆ กัน เกี่ยวกับแคมเปญแมสที่โดนใจตลาดเข้าอย่างจัง จนกลายเป็น Talk of the town และ Talk of Social Network ไปพร้อมกัน หลังจากที่โคคา-โคล่า เปิดตัวแคมเปญ “Share a Coke” แคมเปญใหญ่แต่ Customize ให้ผู้บริโภคแต่ละคนมีอารมณ์ร่วมแบบส่วนตัวได้ด้วย

แคมเปญ Share a Coke เปิดตัวต้นเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ด้วยการส่งกระป๋องโค้กที่พิมพ์ชื่อที่คนออสเตรเลียนิยมนำมาตั้งชื่อมากที่สุด 150 ชื่อ กระจายไปตามตู้แช่ในเมือง ตัวอย่างชื่อที่ว่า เช่น Luck, Kate, Matt, Rebecca, Joel, Vanessa, Anna ฯลฯ โดยกะว่าถ้าไม่ใช้ชื่อของใครสักคนที่ผู้บริโภครู้จัก ชื่อบนกระป๋องก็สามารถทำให้ผู้บริโภคต้องงงกับสิ่งที่เห็นอยู่ดี เพราะโค้กพิมพ์ชื่อเหล่านี้ไว้แทนตำแหน่งที่พิมพ์คำว่า Coke เลย แล้วจะไม่งงได้อย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้น

ชื่อต่างๆ บนกระป๋องเลยกลายเป็นภาพที่ถูกแชร์ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและได้รับการพูดถึงไปทั่ว ก่อนที่ Coca Cola South Pacific Pty Ltd ผู้ดูแลตลาดโค้กในออสเตรเลีย เจ้าของไอเดียจะออกมาเป็นตัวแคมเปญ Share a Coke อย่างเป็นทางการ

“เราใช้ชื่อแรกเพราะเป็นชื่อที่ออกไปในทางสนุกและเป็นชื่อที่ใช้ในสังคม เป็นการเตือนให้ผู้บริโภครู้ว่าอาจจะมีคนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่เขาอาจจะลืมติดต่อไปบ้างหรือยังไม่ได้ติดต่อ เพื่อให้เขาสนุกที่จะหาชื่อเพื่อน คนในครอบครัว แล้วรู้สึกสนุกที่ได้เอาขวดโค้กที่มีชื่อนั้นไปแชร์กัน” Lucie Austin ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Coca-cola South Pacific บอกเหตุผลของแคมเปญไว้แบบนี้

นอกจากชื่อฮิตๆ ที่กลายเป็นของแปลกตาบนกระป๋องโค้ก รวมถึงขวด PET ด้วย ส่วนประกอบอื่นๆ ยังคงเดิม

กระป๋องยังคงเป็นสีแดงและมีเส้นริบบินโค้งที่ปรับมาจากหางปลาของอักษรตัว C ในชื่อ Coca-Cola ที่ลูกค้าจดจำได้พาดไปตรงตำแหน่งใต้ชื่อที่ถูกพิมพ์ไว้สำหรับแบบขวด PET และแนวตั้งด้านข้างสำหรับแบบกระป๋อง

การสร้างความฮือฮาด้วยประสบการณ์ตรงถึงมือผู้บริโภคเป็นแค่สเต็ปแรกของแคมเปญ ทั้ง 150 ชื่อที่พิมพ์บนผลิตภัณฑ์โค้ก ยังมีลูกเล่นให้ผู้บริโภคสนุกได้อีก โดยลูกค้าสามารถไปเลือกเพลงประจำตัวได้ใน Coke’s Facebook page ที่มีเท่าจำนวนชื่อ เลือกส่งให้เพื่อนพร้อมกับการแชร์อะโค้กผ่านออนไลน์ หลังจากเข้าไปกดไลค์แฟนเพจ

ส่วนของเพลงโค้กได้พันธมิตรอย่าง Southern Cross Austereo มาเป็นผู้ผลิตให้

เพียงไม่ถึงเดือนแฟนเพจของโค้กก็มีกดไลค์ 6 แสนกว่าราย มีคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกือบ 2 หมื่นราย

ส่วนคนที่ชื่อไม่โหล ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะโค้กคิดเผื่อไว้ให้แล้ว

ใครที่อยากจะมีชื่อตัวเอง ชื่อเพื่อน คนในครอบครัว คนรู้จัก หรือคนที่อยากรู้จัก พิมพ์ลงบนกระป๋องโค้กขนาด 200 มิลลิลิตร ก็ไปลงทะเบียนนัด ผ่านแฟนเพจของแชร์อะโค้กในเฟซบุ๊กซึ่งจะมีกิจกรรมไปชื่อบนกระป๋องให้ตามต้องการตามจุดต่างๆ ที่ประกาศไว้ เป็นการเอาใจผู้บริโภคแฟนโค้กเป็นส่วนตัวอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน

จุดนัดพบส่วนใหญ่ก็จะเป็นห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่เป็นหลัก ซึ่งภาพของกิจกรรมก็จะเป็นตัวขยายผลของแคมเปญได้อีกต่อหนึ่งด้วย ถือเป็นแคมเปญที่ใช้ประโยชน์จากโซเชี่ยลมีเดียและต่อยอดกิจกรรมได้เป็นลูกโซ่จริงๆ

การคัสโตไมซ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนรวมกับแคมเปญได้แบบนี้ ถือเป็นการปิดจุดอ่อนที่ทำให้แคมเปญนี้แข็งแกร่งขึ้น เพราะแม้จะมีชื่อให้เลือกถึง 150 ชื่อ สังคมที่ออสเตรเลียก็ไม่ต่างจากไทย ที่จะพบลูกค้าบางกลุ่มที่ออกมาเม้าท์ว่า โค้กจะทำอย่างไรถ้าเขาหาชื่อตัวเองไม่เจอ หรือเจอแต่ชื่อของคนที่ไม่ชอบหน้า เมื่อจัดกิจกรรมให้กำหนดชื่อที่จะพิมพ์ได้เองแบบนี้ เลยเปลี่ยนเป็นความรู้สึกถูกใจและเป็นตัวกระตุ้นให้พวกหาข้ออ้างไม่ได้แล้วหันไปบอกต่อเพื่อนๆ ดังขึ้นอีก

หากพิจารณากันในแง่ของแบรนด์ ถ้าแบรนด์ไม่แข็งอย่างโค้ก ระดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ไม่แน่ใจว่าจะเล่นกับแคมเปญแบบนี้ได้ไหม โดยเฉพาะการใช้วิธีเอาชื่อแบรนด์ออกจากผลิตภัณฑ์ เหลือไว้เพียงสัญลักษณ์และสี เพราะถ้าไม่ใช่แบรนด์ดังระดับนี้ ไม่เพียงแค่แคมเปญที่จะจบตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ตัวแบรนด์เองก็อาจจะจบไปพร้อมๆ กันเลยก็ได้

แคมเปญง่ายๆ แต่กล้าเล่นกับการลบชื่อแบรนด์ จึงเป็นอีกจุดที่ทำให้เกิดกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่แรงทั้งบนสตรีทและในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คดังที่เกิดขึ้น

แบบนี้แล้ว คงต้องบอกว่าแคมเปญใหญ่จะเกิดเปรี้ยงป้างก็ไม่จำเป็นว่า จะต้องคิดการใหญ่หรือยุ่งยากซับซ้อน เพราะแค่ไอเดียพื้นๆ จากไอเดียการเลือกซื้อจี้สร้อย แหวน พวงกุญแจ ประเภทสลักชื่อให้คนชอบพอกันเป็นที่ระลึกที่คนจำนวนมากมีประสบการณ์และคุ้นเคยกันมานาน เปลี่ยนมาเป็นของพื้นๆ ยิ่งกว่าที่มีชื่อพิมพ์อยู่แทน กลับประทับใจได้มากกว่าเสียอีก

ประเด็นที่พูดมาส่วนใหญ่เป็นแค่เรื่องความรู้สึกส่วนตัวของผู้บริโภค แต่แคมเปญนี้เป็นแมส จัดเป็นแคมเปญใหญ่ของปี เพราะฉะนั้นจึงยังไม่จบแค่นี้

นอกจากเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ยุคนี้แบรนด์ไหนไม่มีไม่ได้ แชร์อะโค้กเปิดตัวเว็บไซต์ www.shareacoke.com.au สำหรับทำกิจกรรมออนไลน์ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้ามาชิงโชคเงินสดสูงถึง 50,000 เหรียญออสเตรเลียอีกด้วย เพราะลูกค้าประเภทชอบร่วมสนุกเพราะของรางวัลก็ยังมีไม่น้อย

แถมเรื่องสนุกไม่ได้จบแค่ออนไลน์ โค้กยังใส่กิมมิกให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกกับแคมเปญนี้เพิ่มขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย ที่ Kings Cross ใน Sydney ผู้บริโภคที่เดินผ่านบิลบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์สามารถส่งเอสเอ็มเอสชื่อตัวเองหรือชื่อใครสักคนขึ้นไป เพื่อให้ชื่อปรากฏบนบิลบอร์ดแชร์อะโค้กที่ทำไว้ได้ด้วย เป็นโฆษณาแบบอินเตอร์แอคทีฟ ให้ผู้ผ่านไปมาในย่านนั้น ติดตามเฝ้าดูด้วยความสนุกสนาน ขณะที่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ของโค้กที่มีเพียงชื่อใหม่ๆ จากเอสเอ็มเอสที่ส่งเข้ามาสลับสับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ก็ดูน่าสนใจกว่าการเปิดไฟกะพริบดึงดูดผู้ชมแบบเดิมๆ ได้ตั้งเยอะ

ส่วนของ TVC โค้กทำออกมาหลายเวอร์ชั่นเช่นกัน เน้นเล่าเรื่องของคนชื่อต่างๆ ก่อนจะจบท้ายด้วยสโลแกน “If you know …., share a Coke with” โดยเติมชื่อตัวละครของเวอร์ชั่นนั้นๆ ลงไป มีโอกิลวี่เป็นผู้รับหน้าที่ผลิต และเลือกเปิดตัวครั้งแรกวันอาทิตย์ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของ NRL (The National Rugby League) กีฬายอดนิยมในทวีปออสเตรเลีย

แคมเปญนี้มีเรื่องที่น่าสงสัยที่มีคนอยากรู้มากๆ ว่า โค้กจะพิมพ์ชื่อ “Pepsi” ให้ไหม ถ้าบังเอิญมีใครสักคนชื่อนี้จริงๆ และอยากจะเก็บกระป๋องโค้กที่มีชื่อตัวเองไว้เป็นที่ระลึกสักกระป๋องหนึ่ง…จะได้หรือเปล่า

cellpadding=”2″ cellspacing=”2″>

Share a
Coke Communications
Strategy Naked Creative : Ogilvy Digital /
Social media: Wunderman Media : IKON POS : Fuel Activations : Urban Promotions : Momentum PR : One Green Bean