-
ร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” ก่อตั้งในประเทศไทยมานาน 25 ปี ปัจจุบันขยายไปถึง 465 สาขา และยังตั้งเป้า ‘ไปต่อ’ ขอขยายครบ 800 สาขาภายในปี 2573
-
ปรับสาขา “ไอคอนสยาม” เป็น “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” แห่งที่สองในไทย แบ่งรายได้ 10 บาทจากการขายกาแฟแต่ละแก้วบริจาคเข้าองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยตั้งเป้าจะมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนครบ 8 สาขาในอนาคต
ปีนี้ “สตาร์บัคส์” เข้าสู่วาระครบรอบ 25 ปีที่ได้เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย จากสาขาแรกที่ “เซ็นทรัล ชิดลม” วันนี้สตาร์บัคส์ขยายไป 465 สาขาทั่วประเทศ และยังต้องการจะเพิ่มสาขามากขึ้นไปอีก
“เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดเผยเป้าหมายการขยายสาขาในไทย ตั้งเป้าไปถึง 800 สาขาภายในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยแต่ละปีสตาร์บัคส์จะขยายสาขาในไทยเฉลี่ยปีละ 30 สาขา มองโอกาสทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและต่างจังหวัด
ท่ามกลางตลาดร้านกาแฟที่เป็นเรดโอเชียนและเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างฝืดเคือง แต่เนตรนภามั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยจะเติบโต และตลาดกาแฟไทยจะยังเติบโตได้มากกว่านี้ บวกกับความมั่นใจในแบรนด์สตาร์บัคส์ที่มีความแตกต่างในตลาดร้านกาแฟ ทำให้บริษัทเดินหน้าการเปิดสาขาต่อเนื่อง
เนตรนภายังกล่าวด้วยว่า โมเดลร้านที่กำลังมาแรงในช่วงหลังของสตาร์บัคส์เป็นประเภท Drive-thru เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้ดี ทำให้ขณะนี้มีสาขาแบบ Drive-thru แล้ว 56 สาขา และเป็นไปได้ที่จะเปิดเพิ่มอีก
Positioning กางแผนที่สาขาของสตาร์บัคส์ไทย พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดก็เปิดสาขาในหัวเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวค่อนข้างครบถ้วนแล้ว เช่น เมืองพัทยา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, โคราช, ภูเก็ต, หัวหิน ฯลฯ ขณะที่ในเมืองรองก็มีกระจายสาขาเข้าไปหลายจังหวัดแล้ว เช่น เชียงราย, พิษณุโลก, จันทบุรี, ชุมพร ฯลฯ แต่ยังมีโอกาสอีกมากในเมืองรองอื่นๆ หรือการขยายสาขาเพิ่มในจังหวัดหลัก
- ‘สตาร์บัคส์’ เร่งเครื่องแรงสุดในรอบ 5 ปี! ลุยขยายสาขากว่า 400 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิกภายในสิ้นปี
- ร้านกาแฟ Tim Hortons เตรียมขยายสาขาในอาเซียนเพิ่ม หลังจับมือ Marubeni พาร์ตเนอร์จากญี่ปุ่น
เปิด “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” 8 สาขา
นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว อีกมุมหนึ่งร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” ถือเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทำให้สตาร์บัคส์มีนโยบายในระดับสากลจัดตั้ง “Community Store” หรือ “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” ขึ้น เป็นร้านกาแฟที่แต่ละสาขาจะมีคอนเซ็ปต์เฉพาะเพื่อร่วมพัฒนาชุมชนในประเด็นที่เหมาะกับแต่ละสาขา
ตัวอย่างในต่างประเทศ:
- สาขา Gallaudet University ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ เป็นสาขาที่อุทิศให้กับ “ผู้พิการทางการได้ยิน” มีการจ้างงานพนักงานที่พิการทางการได้ยินมาให้บริการ โดยร้านช่วยสร้างความเข้าใจกับลูกค้า เช่น มีป้ายสอนวิธีสั่งเอสเปรสโซด้วยภาษามือเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองเรียนรู้ โมเดลแบบนี้มีในอีกหลายประเทศ เช่น กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย, เมืองกวางโจว ประเทศจีน
- สาขา Daehakro กรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นสาขาที่ใช้โมเดลแบ่งปันรายได้ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร Green Umbrella ChildFund Korea องค์กรที่มีเป้าประสงค์ช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดโอกาส ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อและมีอาชีพ
สำหรับในประเทศไทย มีร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาแรกมาตั้งแต่ปี 2556 ที่สาขา “หลังสวน” และถือเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาที่ 4 ของโลกด้วย คอนเซ็ปต์สาขาหลังสวนจะเป็นโมเดลแบ่งปันรายได้ โดยเลือกแบ่งปันรายได้ 10 บาทในทุกแก้วที่จำหน่ายให้กับ “มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF)” เพราะมูลนิธินี้เป็นผู้สนับสนุนการฝึกอบรมการปลูกกาแฟของชาวเขาในภาคเหนือให้ปลูกได้อย่างถูกต้อง ไม่ตัดไม้ทำลายป่า มีคุณภาพดี และช่วยพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำดื่มสะอาด โรงเรียนในชุมชน ซึ่งสตาร์บัคส์เองมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวเขามาจำหน่ายในร้านด้วย
เนตรนภากล่าวว่า ตั้งแต่เปลี่ยนสาขาหลังสวนเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนมานาน 10 ปี สตาร์บัคส์มอบเงินสนับสนุนให้ ITDF ไปแล้ว 17 ล้านบาท
ล่าสุด สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ประกาศการเปลี่ยนร้านสาขา “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม” เป็นสาขาร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 ของไทย สาขานี้จะใช้โมเดลแบ่งปันรายได้แก้วละ 10 บาทเหมือนเดิม แต่จะแบ่งให้กับมูลนิธิ 2 แห่ง คือ ITDF ที่ร่วมงานกันมายาวนาน และอีกมูลนิธิคือ “มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS)” มูลนิธินี้ช่วยรวบรวมอาหารเหลือจากการจำหน่ายของสตาร์บัคส์ไปส่งมอบให้ชุมชนที่ขาดแคลน ทำให้ร้านได้ลดขยะอาหาร (food waste) โดยส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ
เหตุที่สตาร์บัคส์เลือกสาขาไอคอนสยามเป็นร้านกาแฟชุมชนแห่งที่ 2 เพราะสาขานี้เป็นสาขาใหญ่ที่สุดในไทย รองรับลูกค้าได้ 350 ที่นั่ง และมีลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนเข้ามา จึงเชื่อว่าจะสร้างผลเชิงบวกได้ดีที่สุดในการดูแลชุมชน
เนตรนภากล่าวด้วยว่า ตามนโยบายของบริษัทแม่ต้องการจะขยายร้านกาแฟเพื่อชุมชนทั่วโลกให้ครบ 1,000 สาขาภายในปี 2573 ในจำนวนนี้ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งโดยตั้งเป้าจะมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนให้ครบ 8 สาขา