-
ONE Championship มาปักหลักในไทยกับรายการแข่งขันมวยไทย “ONE ลุมพินี” ผลตอบรับ 7 เดือนแรกเรตติงพุ่ง เป็นรายการกีฬาต่อสู้ที่มีผู้ชมสูงสุด ยกระดับมวยไทยให้ “ปลอดโต๊ะพนัน” แข่งขันอย่างยุติธรรม และชมได้ทุกเพศทุกวัย
-
มองในระดับสากล มุ่งเป้าปั้น “มวยไทย” ให้เป็นที่นิยมสูงขึ้น ส่ง “นักมวย” คนไทยเพิ่มค่าตัว หวังแตะหลักสิบล้านบาทให้ได้
หากเป็นผู้ชมที่รักการดูกีฬาน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับโปรโมเตอร์ “ONE Championship” มาบ้าง เพราะปัจจุบัน ONE Championship เป็นรายการอันดับ 1 ในกลุ่มศิลปะการต่อสู้ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก และเป็นอันดับ 2 รองจากกีฬาบาสเกตบอล NBA ในฐานะรายการกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก
ผู้ก่อตั้ง ONE Championship คืออดีตครูสอนมวยไทย “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อและทำงานที่สหรัฐอเมริกาในภาคธุรกิจการเงิน แต่ด้วยความฝันและใจรักกีฬาต่อสู้โดยเฉพาะมวยไทย ทำให้เริ่มก่อตั้งสื่อบันเทิงกีฬา ONE Championship จัดรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้หลากหลาย ได้แก่ MMA (Mixed Martial Arts), มวยไทย, คิกบ็อกซิ่ง, ยิวยิตสู และล่าสุดยังจัดแข่ง e-Sports ด้วย
ชาตรีเริ่มสร้างการแข่งขันและฐานผู้ชมในต่างประเทศ จนปัจจุบันมีพันธมิตรถ่ายทอดสดผ่านช่องโทรทัศน์และสตรีมมิ่งต่างๆ รวม 180 ประเทศ โดยมีดีลกับสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ต่างๆ เช่น ในสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรกับ Prime Video, ในจีนเป็นพันธมิตรกับ Tencent และ iQIYI, ในญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับ Abema
“จิติณัฐ อัษฎามงคล” ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย มองว่ากุญแจความสำเร็จของ ONE Championship ในต่างประเทศ คือ การวางคอนเซ็ปต์หลักให้แตกต่างจากรายการกีฬาต่อสู้ที่มีอยู่เดิม ทำให้เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ชม และได้ฐานผู้ชมที่กว้างขึ้น ไม่ใช่กีฬาที่มีแต่ผู้ชายเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ
“เราวางคอนเซ็ปต์ความบันเทิงของเราว่าจะต้องสื่อสารออกไปในเชิงบวก ให้แรงบันดาลใจ ไม่เน้นฉายภาพเลือดสาด เหยียดกัน ทะเลาะกัน ไม่มี ‘Ring Girl’ ที่เน้นขายความเซ็กซี่เข้ามา ภาพรวมจะไม่ใช้แง่มุมเชิงลบดึงคนเข้ามาดู เพื่อให้การแข่งขันนี้เป็นมิตรต่อคนทุกเพศทุกวัย ทุกชาติศาสนา ผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาดูได้ คนแถบตะวันออกกลางเปิดดูได้” จิติณัฐกล่าว
รวมถึงเสน่ห์อีกส่วนหนึ่งของ ONE Championship คือมุ่งมั่น “การปั้นนักสู้ให้เป็นสตาร์” นักสู้บนสังเวียนไม่ใช่แค่ขึ้นไปสู้ แต่ต้องมีการสร้างคาแรกเตอร์ ถ่ายทอดเรื่องราวส่วนตัวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกได้ ตามคอนเซ็ปต์ว่า “นักกีฬาคือฮีโร่ของมนุษยชาติ” และค่ายจะช่วยปรับบุคลิกภาพให้นักกีฬาพร้อมเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ต่างๆ
พา “มวยไทย” กลับบ้านในรูปแบบใหม่
คอนเซ็ปต์ที่ทำสำเร็จในต่างประเทศมากว่าสิบปี ในที่สุด ONE Championship ได้โอกาสพามวยไทยกลับมาปักหลักในถิ่นกำเนิดเมื่อ 7 เดือนก่อน
“พอกองทัพบกย้ายสนามมวยลุมพินีไปอยู่รามอินทรา เขามองว่าจะต้องเปลี่ยนใหม่ให้มวยไทยสะอาด ไม่มีการพนัน เขาก็คุยหลายโปรโมเตอร์ จนมาจบที่เราที่ได้จัดรายการ ONE ลุมพินี” อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย กล่าว
ทั้งอริยะวัฏและจิติณัฐเปิดอกคุยตรงไปตรงมาว่า กีฬามวยไทยในประเทศไทยมีอิทธิพลจากกลุ่มโต๊ะพนันมานาน เมื่อโต๊ะพนันต้องการล็อกผลการแข่งขัน ทำให้เกิดเหตุล้มมวย หรือกรรมการตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม จนกีฬามวยหมดความศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับแต่ดั้งเดิมกีฬามวยถูกมองว่าเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงานอยู่แล้ว ยิ่งทำให้มวยไทยไม่เป็นที่นิยมในแง่การรับชมเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
ONE Championship ต้องการมาเปิดศักราชใหม่ พลิกโฉมให้มวยไทยเป็นกีฬาที่คนไทยนิยมดูกันทั่วประเทศ ด้วยการนำคอนเซ็ปต์ที่ทำมาในต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวทีแสงสีเสียงจัดเต็ม บรรยากาศงานแบบสากล มีการเชิญดารา-อินฟลูเอนเซอร์เข้างานเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์
เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดว่ากีฬามวยไทยไม่ได้ต่ำต้อย แต่เราเป็นกีฬาที่สร้างฮีโร่ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ การแข่งขันต้องยุติธรรมให้การเดินทางไปสู่แชมป์ของนักสู้แต่ละคนมีศักดิ์ศรี เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วยและหันมาติดตามนักกีฬาอย่างใกล้ชิด
“เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดว่ากีฬามวยไทยไม่ได้ต่ำต้อย แต่เราเป็นกีฬาที่สร้างฮีโร่ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” จิติณัฐกล่าว
“ONE ลุมพินี” ผลตอบรับพุ่ง – อนาคตขอดึง “คนเมือง”
ONE ลุมพินี เริ่มจัดไฟต์แรกเมื่อ 7 เดือนก่อน โดยได้เซ็นสัญญาออกอากาศทางช่อง 7HD ทุกวันศุกร์ เวลา 20:30-23:30 น. เห็นได้ว่าช่อง 7HD เลือกเสี่ยงดวงใช้เวลาไพรม์ไทม์ของละครหลังข่าวเปลี่ยนมาเป็นรายการมวย
ผลปรากฏว่า ONE ลุมพินี เรตติงพุ่งสูงสุดในสล็อตรายการที่ฉายเวลาเดียวกันโดยอยู่ที่ 5.8 คิดเป็นยอดผู้ชมเฉลี่ย 13.6 ล้านคนต่อวัน ขึ้นเป็นเบอร์ 1 รายการศิลปะการต่อสู้ที่มีเรตติงสูงสุดในไทย พร้อมกับค่าเฉลี่ยการเปิดรับชมยาว 80 นาทีไม่เปลี่ยนช่อง
ในแง่โปรไฟล์ผู้ชมเริ่มเป็นไปตามที่คาดหวังเพราะมีผู้ชมเป็นผู้ชาย 57% ผู้หญิง 43% เทียบกับค่าเฉลี่ยรายการกีฬาในไทยจะมีผู้หญิงชมเป็นสัดส่วน 36% เท่านั้น เห็นได้ว่า ONE ลุมพินีสามารถจัดสมดุลมีผู้ชมมาจากทั้งสองกลุ่มเพศ
จิติณัฐกล่าวต่อว่า อนาคตคาดหวังว่าจะโปรโมตให้ “คนเมือง” หันมาดูรายการมวยไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเรตติงในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ประมาณ 1.3 ล้านครัวเรือนต่อวันเท่านั้น ยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
เหตุที่ต้องพยายามดึงผู้ชมฐานคนเมืองให้ได้มากขึ้น เพราะนี่คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีอิทธิพลต่อเทรนด์ในสังคมสูง หากมีโปรไฟล์ผู้ชมกลุ่มนี้ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงจะเข้าเป็นสปอนเซอร์มากขึ้น และเม็ดเงินถึงนักกีฬาจะสูงตาม
โอกาส “นักมวย” คนไทยรับทรัพย์หลักสิบล้าน
นอกจากจะกลับมาโปรโมตมวยไทยในหมู่คนไทยแล้ว ONE Championship ยังคงมุ่งมั่นจะผลักดัน “มวยไทย” ให้เป็นกีฬาต่อสู้ที่คนนิยมกันทั่วโลก และจะเป็นโอกาสให้นักมวยชาวไทยโด่งดังระดับสากลเช่นกัน
จิติณัฐประเมินว่า ปัจจุบันกีฬาต่อสู้ที่คนนิยมมากที่สุดทั่วโลก คือ “มวยสากล” รองลงมาคือ “MMA” ซึ่งนิยมในทวีปอเมริกาทั้งหมดและแถบเอเชียกลาง ตามด้วย “คิกบ็อกซิ่ง” ซึ่งนิยมในทวีปยุโรป ส่วน “มวยไทย” กับ “ยิวยิตสู” จากญี่ปุ่น นั้นนิยมกันในเอเชีย และมีความโด่งดังใกล้เคียงกัน
จิติณัฐบอกด้วยว่า ประเทศที่มีอิทธิพลและกำลังซื้อต่อกีฬาต่อสู้มากที่สุดคือ “สหรัฐฯ” นั่นทำให้ถ้ามวยไทยจะเกิดได้มากกว่านี้ ต้องตีตลาดสหรัฐฯ ให้ได้
ONE Championship จึงเซ็นสัญญากับ Prime Video เพื่อผลักดันการจัดแข่งกีฬามวยไทยขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเปิดแข่งไฟต์แรกไปแล้วเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้ปี 2567 จะร่วมกับ Prime Video เพื่อจัดแข่งมวยไทยอย่างน้อย 4 ไฟต์ในสหรัฐฯ
การมีฐานคนดูเพิ่มขึ้น หมายถึงค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่สูงขึ้น สปอนเซอร์มากขึ้น และจะทำให้ “ค่าตัว” นักกีฬาสูงขึ้นด้วย
ปัจจุบัน ONE Championship มีนักสู้ในสังกัดมากกว่า 300 คนรวมทุกประเภทกีฬา นักสู้ที่ได้ค่าตัวสูงสุดขณะนี้คือ “เดเมเทรียส จอห์นสัน” เป็นนักกีฬา MMA ชาวอเมริกัน ซึ่งได้ค่าตัวไฟต์ละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 35 ล้านบาท)
ส่วนคนไทยในสังกัด ONE Championship ที่ได้ค่าตัวสูงสุดคือ “รถถัง จิตรเมืองนนท์” นักชกมวยไทยที่ค่าตัวหลักล้านบาท รองลงมาเป็นนักชกหญิง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์”
- ฝันอันยิ่งใหญ่ของ “นพพร วาทิน” แห่ง “ไทยไฟท์” ต่อยอด “มวยไทย” เป็น Soft Power ระดับโลก
- เปิดอินไซต์ ‘รายการกีฬา’ กับโอกาสในการใช้ทำ ‘การตลาด’ สำหรับแบรนด์
“เราอยากพัฒนาให้นักมวยไทยมีค่าตัวสูงระดับสิบล้านบาท คิดว่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้แน่ และถ้าเป็นไปได้อนาคตควรไปถึงร้อยล้านบาท พันล้านบาท เพราะนักมวยสากลมีคนที่ได้ระดับพันล้านบาทแล้วนะ เราก็ควรจะทำได้เหมือนกัน ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความคลั่งไคล้ในกีฬามวย และสร้างแฟนด้อมให้กับนักสู้แต่ละคน” จิติณัฐกล่าว