คาดการณ์ล่าสุด อัตราการเกิดของเด็กในประเทศจีนอาจลดลงต่ำกว่า 8 ล้านคนในปี 2023 นี้ ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์และทำให้ภาพรวมทางประชากรศาสตร์ของประเทศมืดมนยิ่งขึ้น อ้างจากนักวิชาการด้านการแพทย์ และผลดังกล่าวอาจกระทบกับเศรษฐกิจจีนในระยะยาวได้
South China Morning Post ได้รายงานข่าวถึงอัตราการเกิดของเด็กในประเทศจีนกำลังเข้าสู่สภาวะที่เริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว เมื่อคาดการณ์จาก Qiao Jie คณบดีศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้กล่าวในงานสัมมนาของมหาวิทยาลัยโดยคาดว่าในปีนี้อัตราการเกิดของทารกจีนจะอยู่ในช่วง 7-8 ล้านคนเท่านั้น
อัตราการเกิดของเด็กที่ลดลงของประเทศได้เพิ่มความกังวลให้กับประชาชนรวมถึงรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2022 นั้นประชากรของจีนลดลง 850,000 คน ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1964 เป็นต้นมา และจีนมีเด็กเกิดใหม่ในประเทศจีนราวๆ 9.65 ล้านคนเท่านั้น
สถิติในปี 2022 ดังกล่าวยังทำให้แผนกประชากรของกรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปี 2023
ตัวเลขการเกิดของเด็กในจีนที่ลดลงยังส่งผลต่อจำนวนโรงเรียนอนุบาลในจีนลดลงด้วย ในปี 2022 ที่ผ่านมาจำนวนโรงเรียนอนุบาลในจีนเหลือจำนวนแค่ 289,200 แห่ง ลดลง 5,610 แห่ง ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008
ปัญหาหลักที่ทำให้ประชาชนจีนไม่อยากมีลูกคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งจีนถือเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรอันดับ 2 ของโลก รองจากเกาหลีใต้ ส่งผลทำให้ครอบครัวของวัยรุ่นหลายคนไม่อยากจะมีบุตรด้วยซ้ำจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งเหตุผลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งทำให้ทางการจีนออกมาจัดระเบียบในหลายภาคธุรกิจ เช่น ภาคการศึกษา หรือภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดีทางการจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ โดยมาตรการล่าสุดคืออนุญาตให้หญิงโสด มีบุตรผ่านการทำ IVF (เด็กหลอดแก้ว) ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องการกระตุ้นกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้ดี พร้อมมีบุตร แต่ไม่ต้องการมีสามี
ผลกระทบจากการลดลงของประชากรในประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายประการ เมื่อรวมกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในประเทศแล้วจะเกิดผลกระทบต่อด้านการบริโภค ความต้องการที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่เรื่องของแรงงานในภาคการผลิต