GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 2 โตถึง 6% ภาคการส่งออกเติบโต ภาคการท่องเที่ยวแข็งแกร่ง แต่การบริโภคยังชะลอตัว

ภาพจาก Unsplash
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ของปี 2023 เติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 6% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2020 เป็นต้นมา จากปัจจัยการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดียังมีความกังวลถึงการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2023 โดยในไตรมาสนี้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยเติบโตมากถึง 6% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา และเป็นการเติบโตของ GDP มากที่สุดนับในรอบมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถือเป็นการเติบโตติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว แต่ถ้าหากมองการเติบโตรายไตรมาสแล้ว GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 2 เติบโตจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมาถึง 1.5% ดีกว่าผลสำรวจของนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าว Reuters คาดไว้ว่าจะเติบโตแค่ 0.8% เท่านั้น

ในไตรมาส 2 นี้ปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของ GDP คือภาคการส่งออกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นำโดยการส่งออกรถยนต์ และสินค้าอื่นๆ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง ขณะเดียวกันในไตรมาสนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขในเดือนมิถุนายนมีนักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นมากถึง 2 ล้านคน เทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดแล้วนั้นคิดเป็น 72%

ไม่เพียงเท่านี้ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ายังส่งผลดีต่อการส่งออก รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแห่เข้าประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ผ่านมาด้วย ปัจจัยดังกล่าวยังรวมผลดีจากการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยในการเติบโตเช่นกัน

การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมายังเป็นแรงผลักดันทำให้ GDP ของญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้พ้นจากสภาวะถดถอยซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว

อย่างไรก็ดีในไตรมาสนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงคือภาคการบริโภคของญี่ปุ่นที่ถดถอย โดยในไตรมาส 2 นี้ถดถอยที่ 2% เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อที่สูงในประเทศญี่ปุ่นในช่วงท่ีผ่านมา ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง (ปัจจุบันตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ GDP ญี่ปุ่น)

มุมมองจากสถาบันการเงินอย่าง UOB ได้วิเคราะห์ว่า ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในครึ่งปีแรก ทำให้ปี 2023 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้ถึง 1.5% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1% แต่ยังกังวลถึงภาคการบริโภคของญี่ปุ่นที่ยังไม่เติบโตกลับมาเท่าก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด และยังรวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังสูง

ในบทวิเคราะห์ของ Bank Of America มองว่าการบริโภคจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และมองว่าการเติบโตของตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะกลาง และถ้าหากมีการปรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหลังจากนี้แล้วนั้นจะส่งผลทำให้ตัวเลขการบริโภคกลับมาดีขึ้นได้

ที่มา – รัฐบาลญี่ปุ่น, บทวิเคราะห์จาก UOB และ Bank of America