Wednesday, May 1, 2024
Home Strategic Move “พฤกษา” เร่งโหมเปิด 17 โครงการช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หวังรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาหนี้-ค่าครองชีพ

“พฤกษา” เร่งโหมเปิด 17 โครงการช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หวังรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาหนี้-ค่าครองชีพ

  • “พฤกษา” แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 ฟื้นตัว ทำรายได้ 13,665 ล้านบาท เติบโต 20% กำไรสุทธิ 1,690 ล้านบาท เติบโต 72%
  • อย่างไรก็ตาม ทั้งยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และการเปิดโครงการใหม่ “ยังไม่ถึงครึ่ง” ของที่ตั้งเป้าหมายปีนี้ไว้ โดยเฉพาะการเปิดตัวโครงการใหม่ จะต้องเร่งโหมอีก 17 โครงการ มูลค่ารวม 19,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลัง

“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) รายงานผลประกอบการปี 2566 ของพฤกษา เฉพาะไตรมาส 2 ทำรายได้ 7,107 ล้านบาท เติบโต 32% YoY และกำไรสุทธิ 1,083 ล้านบาท เติบโต 141% YoY

เมื่อรวมผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก 2566 พฤกษาทำรายได้ 13,665 ล้านบาท เติบโต 20% YoY กำไรสุทธิ 1,690 ล้านบาท เติบโต 72% YoY

“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH)

การเติบโตเหล่านี้มาจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น 11% YoY

รวมถึงธุรกิจเฮลธ์แคร์ที่ทำรายได้พุ่งหลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ทำให้โรงพยาบาลวิมุตและเครือหันมามุ่งเน้นบริการสุขภาพด้านอื่นได้ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธุรกิจเฮลธ์แคร์จึงมีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว

 

ฟื้นตัว…แต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม อุเทนชี้แจงในส่วนธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขายว่า ทุกส่วนยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมายปี 2566 ดังนี้

  • ยอดขาย (พรีเซล) มูลค่า 9,116 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของเป้าหมาย
  • ยอดโอนกรรมสิทธิ์ มูลค่า 11,680 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของเป้าหมาย
  • การเปิดโครงการใหม่ มูลค่า 4,848 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเป้าหมาย

พฤกษา 2566

อุเทนกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปกติจะไม่ใช่ ‘หน้าขาย’ ของธุรกิจที่อยู่อาศัย ประกอบกับบางโครงการที่ตั้งเป้าเปิดภายในครึ่งปีแรก เช่น พลัม คอนโด นิว เวสต์ ไม่ได้รับใบอนุญาตตามเวลาที่วางไว้เดิม ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดตัว

ทีมงานยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเร่งเครื่องในช่วงครึ่งปีหลังให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ทั้งสามเป้าหมายนี้ โดยในส่วนสต็อกโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายยังมีอยู่มูลค่ารวมกว่า 64,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเพียงพอสำหรับขายได้ต่อเนื่องอีก 2 ปี ทำให้บริษัทยังมียอดพรีเซลเข้ามา รวมถึงมีแบ็กล็อกรอโอนอีก 4,975 ล้านบาท ซึ่งน่าจะโอนได้หมดภายในครึ่งปีหลัง 2566

 

ครึ่งปีหลังโหมจัดหนักเปิด 17 โครงการรวด

อุเทนระบุว่า บริษัทยังไม่มีการปรับเป้าลงมา โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่ที่ครึ่งปีแรกเปิดไปเพียง 6 โครงการ ทำให้ครึ่งปีหลังจะต้องเร่งเปิดตัว 17 โครงการ มูลค่ารวม 19,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะยังทำได้ตามเป้า

ไฮไลต์ของการเปิดตัวครึ่งปีหลังนี้ คือ จะมีการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมมากขึ้นเป็นสัดส่วน 33% ของที่เปิดใหม่ทั้งหมด เทียบกับครึ่งปีแรกที่มีการเปิดโครงการระดับพรีเมียมเพียง 22% (*กลุ่มสินค้าพรีเมียมของพฤกษา หมายถึง ทาวน์เฮาส์และบ้านแฝดราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านเดี่ยวราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป)

พฤกษา 2566
เดอะ ปาล์ม ไพรเวท เรสซิเดนซ์ วัชรพล บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ราคา 25-40 ล้านบาท

“ส่วนที่เราได้รับผลกระทบ มาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อธนาคาร ทำให้ลูกค้ากู้ยากขึ้น ดังนั้น 1 ใน 3 ของพอร์ตเราจึงต้องกระจายไปเซ็กเมนต์พรีเมียมมากขึ้นเพื่อหากำลังซื้อใหม่ๆ แต่เราจะไม่ทิ้งเซ็กเมนต์แมสไปหมด เพราะเราเชื่อว่าคนต้องมีบ้านในเกณฑ์ราคาที่จับจองได้ พฤกษามองว่าตรงนี้เป็นหน้าที่ต่อสังคมที่จะต้องทำบ้านให้เข้าถึงได้ทุกระดับชั้น” อุเทนกล่าว

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 พฤกษาเริ่มงานเปิดโครงการไฮไลต์ใหม่แล้ว 2 โครงการ คือ “เดอะ ปาล์ม บางนา-วงแหวน 2” บ้านเดี่ยวไฮเอนด์ราคาหลังละ 15-30 ล้านบาท และ “พลัม คอนโด นิว เวสต์” คอนโดฯ ระดับกลางล่างที่ได้ยอดพรีเซล 29.7% ของโครงการตั้งแต่วันแรกที่เปิดขาย

พฤกษา 2566
แชปเตอร์ วัน จรัญ (ทำเล MRT บางพลัด)

ส่วนช่วงที่เหลือของปีจะมีโครงการไฮไลต์อีก เช่น พฤกษา วิลล์ พหลฯ-รามอินทรา, เดอะ แพลนท์ ฉลองกรุง 2, เดอะ ปาล์ม ไพรเวท เรสซิเดนซ์ วัชรพล บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ราคา 25-40 ล้านบาท และคอนโดฯ แชปเตอร์ วัน จรัญ ทำเล MRT บางพลัด

ฟากธุรกิจเฮลธ์แคร์ก็ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยปีนี้มีงบลงทุน 2,500 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลดูแลผู้สูงวัย (Elder Care) ทำเลวัชรพล เป็นโรงพยาบาลดูแลผู้สูงวัยแห่งที่ 2 ต่อจากแห่งแรกที่ รพ.วิมุต ร่วมทุนกับ JAS ทำเลถนนคู้บอน

 

ปัญหาหนี้-ดอกเบี้ย รุมเร้ากำลังซื้อ

อุเทนกล่าวต่อถึงสถานการณ์ครึ่งปีหลังของภาคอสังหาฯ ดูแล้วน่าจะยังมีความเสี่ยง เพราะหนี้ครัวเรือนไทยสูงมาก และอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นมาตลอด แม้ขณะนี้นักวิเคราะห์คาดกันว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% ก็ทำให้กำลังซื้อลดลงไปแล้ว

ฝากถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ใครจะเข้ามา แต่นโยบายที่ทุกๆ พรรคมีพูดถึง คือ การลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพลูกค้าได้มาก และถ้าหากมีนโยบายดิจิตอล วอลเล็ต 10,000 บาทได้จริงก็จะดีต่อกระเป๋าเงินของลูกค้าด้วย” อุเทนกล่าว

อุเทนหวังว่าในปี 2567 ภาคอสังหาฯ อาจจะหายใจได้คล่องมากกว่านี้ เพราะนักวิเคราะห์คาดว่าเป็นไปได้ที่ปีหน้าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งอุตสาหกรรมอสังหาฯ หากเกิดขึ้นได้จริง