“Mechanical Keyboard” ของสะสมที่ใช้แล้ว “ฟิน” สินค้านิชมาร์เก็ตที่มีคนยินดีจ่ายชิ้นละหลายหมื่น!

Mechanical Keyboard
คีย์บอร์ดธรรมดาๆ แค่กำเงิน 200 บาทเข้าร้านไปก็หาซื้อได้ แต่ทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงยอมลงทุนกับ “Mechanical Keyboard” สนนราคาชิ้นละหลายหมื่นบาท Positioning ชวนหาคำตอบกับสินค้าตลาดนิชมาร์เก็ต ของรักของสะสมที่บูมขึ้นมาจากช่วง “Work from Home” ระหว่างล็อกดาวน์

คีย์บอร์ดธรรมดาสามัญประจำบ้านสามารถหาซื้อได้ที่ชิ้นละ 200 บาท ขยับขึ้นมาเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งราคาอาจจะขึ้นมาที่ 1,500-5,000 บาท แต่ถ้าเป็น “Mechanical Keyboard” โดยเฉพาะกลุ่มที่ถอดประกอบได้ทุกชิ้นส่วนหรือ “Custom Keyboard” ราคาจะวิ่งขึ้นมาเริ่มที่ 5,000 บาท หากเข้าสู่ระดับไฮเอนด์ ราคาจะเริ่มที่ 10,000 บาทขึ้นไป และนี่คือสินค้าประเภทกึ่งใช้งานกึ่งสะสมที่มีคนไทยกลุ่มหนึ่งนิยมกันมาก

Positioning ไปพูดคุยกับ “ภูมิ-นันทโชติ รัตนเมธานนท์” เจ้าของร้านนำเข้าคีย์บอร์ดเพจ “NTCH Keys” เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมคนเราถึงลงทุนกับคีย์บอร์ดชิ้นละหลายหมื่น?

Mechanical Keyboard
“ภูมิ-นันทโชติ รัตนเมธานนท์” เจ้าของร้านนำเข้าคีย์บอร์ดเพจ “NTCH Keys”

 

คีย์บอร์ดในฝัน ใช้แล้วฟิน

นันทโชติอธิบายความต่างของ Mechanical Keyboard กับคีย์บอร์ดธรรมดาก่อนว่า คีย์บอร์ดประเภทนี้จะสามารถถอดแยกทุกชิ้นส่วนออกจากกันได้ ตั้งแต่ส่วนโครงฐาน สวิตช์ข้างใต้ปุ่ม และคีย์แคปที่อยู่ข้างบน ซึ่งทำให้คีย์บอร์ดกลายเป็นของที่นักสะสมสามารถ ‘customize’ ได้ทั้งหมด ทั้งสีสัน รูปลักษณ์ และสวิตช์ที่สร้างสัมผัสการพิมพ์ที่แตกต่าง

“Custom Keyboard มันสามารถทำให้เป็นแบบที่เราตั้งใจได้ทั้งหมด รูปร่างภายนอกอาจจะทำเป็น theme-built ให้เข้ากับความชอบของเรา เช่น ธีมอนิเมะ, ธีม Star Wars, ธีม Lord of the Rings เสียงพิมพ์ก็สามารถเปลี่ยนสวิตช์ให้เป็นเสียงสูงต่ำได้ สัมผัสการพิมพ์มีแบบหนึบ แบบแข็ง ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ใช้งานที่เชื่อมกับความรู้สึกทางใจครับ” นันทโชติกล่าว

Mechanical Keyboard
โครงสร้างในคีย์บอร์ดแยกชิ้นส่วนได้ทั้งสวิตช์ข้างใต้ ปุ่มคีย์แคปด้านบน พร้อมอุปกรณ์ในการประกอบ

นั่นจึงเป็น “เสน่ห์” ของ Mechanical Keyboard คือ การดีไซน์ที่มีคุณค่าทางใจมากขึ้น เปรียบไปจึงคล้ายกับของสะสมอื่น เช่น รถยนต์ นาฬิกา สินค้าระดับทั่วๆ ไปสามารถใช้ขับขี่หรือดูเวลาได้ทั้งนั้น แต่เหตุที่บางคนเลือกรถสปอร์ตหรือเลือกนาฬิกาหรู เพราะสิ่งเหล่านั้นมีค่าทางใจและเป็นของสะสม

Mechanical Keyboard ก็ไม่แตกต่างกัน เป็นของที่สามารถจินตนาการในการตกแต่ง และ ‘เล่น’ กับมันได้ด้วย เพราะนักสะสมสามารถแกะชิ้นส่วนประกอบเองได้

 

สนนราคา ‘หลายหมื่น’ ในระดับไฮเอนด์

นันทโชติเล่าถึงตลาดสินค้าประเภทนี้ว่า Mechanical Keyboard ทั่วไปราคาเริ่มต้นประมาณ 1,000 บาทก็เข้าถึงได้ แต่ถ้าต้องการ Custom Keyboard ถอดประกอบได้ ระดับเริ่มต้นต้องกำเงินมาอย่างน้อย 3,000 บาท และถ้าไต่ระดับขึ้นไปจนถึงไฮเอนด์จะอยู่ที่ 10,000 บาทขึ้นไป

Custom Keyboard แบรนด์ QwertyKeys รุ่น QK80 ราคาเริ่ม 6,280 บาท

ราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง การผลิตในจำนวนจำกัด (limited) จนถึงวัสดุ งานดีไซน์ คุณภาพการผลิต เป็นรายละเอียดเชิงลึกที่ต้องสัมผัสกับสินค้าเองจึงจะเห็นความแตกต่าง

แน่นอนว่าตลาดของสะสมลักษณะนี้สามารถรีเซลได้ ไม่ว่าจะรีเซลทั้งตัวคีย์บอร์ด หรือรีเซลแยกชิ้นส่วนก็ได้ เพียงแต่ราคาอาจจะเก็งกำไรยาก ส่วนใหญ่ราคาขายต่อจะไม่ต่างจากราคาซื้อมือหนึ่งเท่าไหร่นัก

ยกเว้นกรณีเป็นคีย์บอร์ดรุ่นดังที่มีดีมานด์สูงมากในช่วงนั้น หรือเป็นคีย์บอร์ดที่มีประวัติ เช่น คีย์บอร์ดแบรนด์ TGR รุ่น Jane ซึ่งขายครั้งแรกในราคาประมาณ 10,000-20,000 บาท แต่ถูกรีเซลจนปัจจุบันขึ้นไปถึง 100,000 บาท เพราะคีย์บอร์ดรุ่นนี้ถือเป็น Mechanical Keyboard ชิ้นแรกๆ ในวงการ จึงมีค่าทางประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ด้วย

คีย์บอร์ดแบรนด์ Sososoya รุ่น Violetta ≥70 ราคาเริ่ม 12,150 บาท

ในฝั่งซัพพลายผู้ผลิต นันทโชติมองว่าเจ้าตลาดใหญ่ 90% มาจากจีน ส่วนที่เหลือเป็นเกาหลีใต้ เพราะทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตใหญ่ ส่วนในไทยก็เริ่มมีดีไซเนอร์ที่เข้าสู่วงการนี้แล้วเหมือนกัน

 

คนซื้อไม่ได้มีแต่กลุ่ม ‘เกมเมอร์’ อย่างที่ใครคิด

คำถามสำคัญที่คนนอกวงการมักจะสงสัย คือ ‘คนกลุ่มไหนที่ซื้อคีย์บอร์ดราคาเป็นหมื่น?’

“โอ้โห จริงๆ คนติดภาพเนอะว่าคนที่ใช้ Mechanical Keyboard คงเป็นเกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์ แต่จริงๆ แล้วคนซื้อใช้ก็คือคนทั่วๆ ไปทุกสายอาชีพเลย มีทั้งนักบัญชี หมอ นักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ ใช่หมดเลย” นันทโชติกล่าว

…จริงๆ คนติดภาพเนอะว่าคนที่ใช้ Mechanical Keyboard คงเป็นเกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์ แต่จริงๆ แล้วคนซื้อใช้ก็คือคนทั่วๆ ไปทุกสายอาชีพเลย มีทั้งนักบัญชี หมอ นักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ ใช่หมดเลย

แต่ที่พอจะวัดได้ว่ามีลักษณะเฉพาะคือ นันทโชติพบว่าลูกค้าของเขา 80-90% เป็น “ผู้ชาย” ซึ่งถ้าให้คาดเดาอาจจะเป็นเพราะ Mechanical Keyboard ที่ถอดประกอบเองได้มีลักษณะเป็น ‘งานช่าง’ ซึ่งดึงดูดใจผู้ชายได้มากคล้ายๆ กับการแต่งรถ

เมื่อของสะสมชิ้นนี้ไม่ได้จำกัดวงไว้ที่เกมเมอร์ ทำให้แรงขับเคลื่อนที่ทำให้สินค้านี้ ‘ฮิต’ สุดๆ จึงไม่ใช่เกม แต่เป็นการ ‘ล็อกดาวน์’ ที่ทำให้คนจำนวนมากต้อง Work from Home

“ช่วงโควิด-19 เป็นจุดตัดที่สำคัญมากสำหรับวงการคีย์บอร์ดในประเทศไทย” นันทโชติกล่าว “ผมว่ามันเป็นแพทเทิร์นเดียวกันทั่วโลก ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่เราต้องโฟกัสกับตัวเอง โฟกัสกับที่บ้านมากขึ้นเพราะเส้นแบ่งของที่บ้านกับที่ทำงานเริ่มไม่ชัดเจน บางคนเรียกว่าเป็นที่เดียวกันเลยก็ได้ คนเลยพร้อมจะลงทุนและให้ความสำคัญกับการจัดโต๊ะทำงานที่บ้าน พิถีพิถันมากขึ้น คีย์บอร์ดก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ต้องเลือก

คีย์บอร์ด Sonic 170 ราคาเริ่ม 13,550 บาท

วัดได้ชัดเจนจากคอมมูนิตี้ในกลุ่ม Facebook กลุ่ม “Thailand Mechanical Keyboard Community” ช่วงก่อนเกิดโรคระบาดมีสมาชิกเพียง 3,000 คน แต่ในช่วงต้นปี 2563 ทันทีที่เกิดโรคระบาด สมาชิกพุ่งขึ้นเป็น 30,000 คน และเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปี จนปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มกว่า 82,000 คน

 

คนกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้าน โอกาสเริ่ม ‘อิ่มตัว’

สำหรับร้าน NTCH Keys เพิ่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2565 ในฐานะตัวกลางรับสั่งซื้อและนำเข้าสินค้า ร้านทำธุรกิจมาถึงปี 2566 นันทโชติยอมรับว่า ปีนี้ตลาดเริ่มจะเข้าสู่ภาวะ ‘อิ่มตัว’ เพราะการเปิดเมืองทำให้คนหันไปโฟกัสกับกิจกรรมนอกบ้านมากกว่าการจัดโต๊ะทำงาน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ก็ยังถือว่าตลาดโตขึ้นมามากแล้วและยังมีโอกาสการขายอยู่สำหรับคนที่หลง ‘เสน่ห์’ ของคีย์บอร์ดไปแล้วเรียบร้อย

“ผมคิดว่าหลายคนเริ่มมาจากการหาคีย์บอร์ดใช้งานหรือเล่นเกมก่อน แต่สักพักพอเข้ามาแล้วมันจะเป็น ‘โพรงกระต่าย’ ที่มันลงไปต่อได้เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น คุณจะเริ่มมีคีย์บอร์ดหลายตัวมากขึ้น” นันทโชติกล่าว

เขาเสริมว่าเป็นเพราะคนในวงการนี้จะตามหาคีย์บอร์ดที่เรียกกันว่า ‘end game’ หรือคีย์บอร์ดตัวที่ใช่ที่สุด ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือ “เสียงและสัมผัสการพิมพ์เพราะถึงแม้จะดูรีวิวมากเท่าไหร่ก็ไม่เท่าสั่งมาลองใช้เอง จึงเป็นที่มาของการซื้อใหม่และขายต่อได้เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่า ‘end game’ ที่ว่านั้นจะหาเจอเข้าสักวันหรือไม่