ภัยแล้งและผลกระทบจากภาวะ El Nino ล่าสุดได้สร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ภาคการขนส่งเองก็ได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน เหตุการณ์ล่าสุดคือคลองปานามา ปริมาณน้ำลดลง ส่งผลทำให้เรือขนสินค้าแล่นเข้าออกคลองลำบาก แม้ว่าปัญหาจะเริ่มคลี่คลายเล็กน้อยบ้างแล้วก็ตาม
ผลจากภาวะ El Nino รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้ปริมาณน้ำในคลองปานามาลดลง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาปริมาณฝนกลับตกลดลง ส่งผลต่อการเดินเรือในคลองดังกล่าวอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
คลองปานามาถือเป็น 1 ใน 2 คลองสำคัญในการส่งสินค้าสำคัญของโลก ทำให้การขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังทวีปอเมริกามีความสะดวกมากขึ้น โดยรองรับปริมาณเรือขนสินค้าไปยังทวีปอื่นๆ ถึง 40% ของปริมาณเรือขนสินค้าทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจาก Refinitiv ชี้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรือสามารถผ่านคลองดังกล่าวได้มากถึง 50 ลำ แต่ล่าสุดเหลือแค่ 40 ลำเท่านั้น โดยล่าสุดยังมีเรือต่อคิวเข้าคลองดังกล่าวอีกประมาณ 200 ลำ แม้ว่าหน่วยงานบริหารจัดการคลองปานามากำลังเร่งระบายเรือให้เข้าคลองและออกจากคลองให้ไว้ที่สุดแล้วก็ตาม
ความล่าช้าดังกล่าวสร้างความกังวลถึงการส่งสินค้าระหว่างทวีป ที่อาจส่งผลต่อความล่าช้าด้าน Supply Chain ที่อาจสร้างผลกระทบต่อภาคการผลิตได้ และทำให้ค่าเดินเรือนั้นมีราคาแพงมากขึ้นเนื่องจากเรือที่ต้องการขนส่งสินค้าให้ทันเวลาอาจเดินเรืออ้อมแทน เพราะไม่สามารถรอคิวในการเข้าคลองนี้ได้
นอกจากนี้ปัญหาความติดขัดของคลองดังกล่าวทำให้ผู้นำละแวกละตินอเมริกาเริ่มบ่นถึงปัญหาดังกล่าวแล้วเช่นกัน ประธานาธิบดีของโคลอมเบียได้กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดจากภัยแล้ง ขณะเดียวกันประธานาธิบดีเม็กซิโกได้กล่าวว่าปัญหาในคลองปานามา อาจทำให้เม็กซิโกอาจขุดคลองคล้ายกับคลองปานามาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
ปัญหาดังกล่าว Ostergaard Nielsen หัวหน้าฝ่ายการเดินเรือส่วนทวีปอเมริกาของ Maersk ได้กล่าวว่าบริษัทได้ปรับตัวกับปัญหานี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโหลดตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือให้มีจำนวนลดลง เพื่อที่จะทำให้เรือไม่กินความลึกของร่องน้ำของคลองปานามาจนเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เรือติดขัดในคลองได้
ปัจจุบันความลึกของคลองปานามาอยู่ที่ราวๆ 15 เมตร โดยหน่วยงานบริหารจัดการคลองปานามากำหนดว่าเรือที่จะแล่นผ่านคลองนี้จะต้องกินน้ำลึกไม่เกิน 13.4 เมตร
แม้ว่าสถานการณ์ในเรื่องดังกล่าวจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ ณ เวลานี้เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ว่าปัญหาสภาวะแวดล้อมได้ส่งผลต่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
ที่มา – CNBC, Business Insider, Reuters