ราคาที่ดินในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2 ปีติดต่อกันแล้ว จากเทรนด์ท่องเที่ยว ตั้งโรงงานผลิตชิป และซื้อบ้านนอกเมือง

ภาพจาก Unsplash
รัฐบาลญี่ปุ่นได้สำรวจราคาที่ดินมากถึง 21,000 แห่งทั่วประเทศ โดยตัวเลขราคาที่ดินในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2 ปีติดต่อกันแล้ว ขณะที่ราคาที่ดินตามต่างจังหวัดกลับมาเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 31 ปี หลังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในยุค 1990

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยราคาเฉลี่ยที่ดินในประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งสำรวจราคาที่ดินมากถึง 21,000 แห่งทั่วประเทศ ราคาเฉลี่ยที่ดินทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้น 1% และเป็นการเพิ่มขึ้น 2 ปีติดต่อกันแล้ว

โดยราคาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 1.5% ขณะที่ราคาที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.7%

ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นก็คืออัตราดอกเบี้ยสำหรับซื้อบ้านในญี่ปุ่นยังถือว่าถูก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาอื่นๆ จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ขณะเดียวกันเทรนด์การซื้อบ้านนอกเมืองใหญ่ก็กำลังฮิตในชาวญี่ปุ่น เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกว่าตามเมืองใหญ่ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่สนใจเริ่มซื้ออสังหาริมทรัพย์ในแดนอาทิตย์อุทัยที่เพิ่มมากขึ้น

ทางด้านภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังการเปิดประเทศ โดยราคาที่ดินในเมือง Sapporo ที่เกาะ Okinawa หรือแม้แต่ที่ Nagano เพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านี้ ความต้องการที่ดินสำหรับการตั้งโรงงานผลิตชิปและสินค้าที่เกี่ยวข้องที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาที่ดินในเมือง Chitose เพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวโดยเฉพาะ หรือแม้แต่ราคาที่ดินในจังหวัด Kumamoto ที่ราคาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 32% จากการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิปของ TSMC

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ราคาที่ดินตามพื้นที่ต่างจังหวัดได้ปรับเฉลี่ยขึ้น 0.1% และเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 31 ปี หลังจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นแตกในช่วงยุค 1990 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงถัดมา

Ide Takeshi จาก Tokyo Kantei บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวกับ NHK ว่า แนวโน้มขาขึ้นของราคาที่ดินจะดำเนินต่อไป โดยได้ปัจจัยการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และมีการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านลบไม่มีเลย

แต่เขาก็เตือนว่ามีช่องว่างระหว่างราคาที่ดินกับเศรษฐกิจที่แท้จริง และต้องรอดูสัญญาณดังกล่าวว่าจะเป็นฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์หรือไม่

ที่มา – NHK, Kyodo News, Bloomberg