“เอเซอร์” เป็น 1 ในแบรนด์คอมพิวเตอร์มากกว่า 10 แบรนด์ที่พร้อมลุยกับ “อินเทล” ในการทำตลาด “อัลตร้าบุ๊ก” และคาดหวังการเติบโตของ “อัลตร้าบุ๊ก” ในไทยไม่น้อย แต่งานนี้ “เอเซอร์” ขอเปิดตัวเป็นคนแรก
“บุญชัย เงาวิศิษฎ์กุล” รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด บอกว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ “เอเซอร์” เปิดตัว “อัลตร้าบุ๊ก” ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้พอร์ต “โน้ตบุ๊ก” ของ “เอเซอร์” เติบโตมากกว่า 20% ด้วยงบทำตลาด 20 ล้านบาท ภายใน 3 เดือน
“เอเซอร์” เน้นจับกลุ่มเป้าหมายแรกในไทย ที่เป็น Trend Setter และกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีก่อน กลุ่มต่อมาคือคนที่ยังกำลังตัดสินใจเลือกระหว่าง “โน้ตบุ๊ก” กับ “แท็บเล็ต” ซึ่ง “เอเซอร์” พบว่าผู้บริโภคคนไทยต่างจากต่างชาติที่เมื่อซื้ออุปกรณ์มาแล้ว 1 ชิ้น ก็อยากได้คุณสมบัติอย่างครบถ้วน ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและเพื่อความบันเทิง
ผู้บริโภคได้เรียนรู้มาแล้วว่าแท็บเล็ตจะเหมาะกับการใช่เล่นเกม เพื่อความบันเทิง พักผ่อน มากกว่า แต่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างจริงจัง อย่างที่พบว่าคนใช้ “ไอแพด” มากกว่า 80% จะใช้เล่นเกม ในบ้าน ในห้องนอน และห้องน้ำ นี่คือโอกาสทางการตลาดที่ “เอเซอร์” มั่นใจในการลงทุนและลงแรงกับ “อินเทล” ในการทำตลาด “อัลตร้าบุ๊ก” รายแรกในไทย
หากมองในเรื่องคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในตลาดอย่าง “แม็คบุ๊คแอร์” “บุญชัย” มองว่าแอปเปิลสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างดี ความเหมือนของผลิตภัณฑ์นี้เป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่าง คือระบบปฏิบัติการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รู้จักวินโดวส์อย่างดี ซึ่งวินโดวส์ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโน้ตบุ๊กอยู่ถึง 80-90%
สำหรับความเป็นรายแรกที่เปิดตัวในตลาดไทยนั้น ทำให้ “เอเซอร์” มีโอกาสทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อน และย้ำใน Positioning ของ “เอเซอร์” ที่ต้องการบอกความ เป็นผู้นำ เรื่องเทค โนโลยีในตลาดนี้
หลังจากเอเซอร์แล้วมีอีก 2 แบรนด์ คือ โตชิบา และเอชพี ที่เปิดตัวตามมา โดยทิ้งระยะห่างกันเป็นเดือนเพราะปัญหาน้ำท่วม ด้วยความที่ไม่ใช่รายแรก การให้น้ำหนักจึงยังกล้าๆ กลัวๆ การเปิดตัวจึงพ่วงกับผลิตภัณฑ์อื่นไปด้วย อย่างโน้ตบุ๊ก และแท็บแล็ตแน่นอนว่าการไม่โฟกัส ทำให้อัลตร้าบุ๊กของทั้งสองแบรนด์ไม่ฮือฮาเท่าไรนัก
เมื่อมาทีหลังจึงต้องเลี่ยงชนกับเอเซอร์ ที่มารายแรกและพยายามเจาะกลุ่ม Geek ไปแล้ว “โตชิบา”
แบรนด์ที่ 2 เปิดตัวรุ่น Portege Z830 ในราคาเริ่มต้นที่ 42,990 บาท เน้นกลุ่มนักธุรกิจ ผู้หญิงที่ต้องการพกพาเพื่อทำงาน ขณะที่เอชพีเป็นแบรนด์ที่ 3 โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเน้นเจาะลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมที่แข็งแรงของกลุ่มโน้ตบุ๊กเอชพีมานาน โดยส่งรุ่น “เอชพี Folio 13 นิ้ว” ในราคา 39,990 บาท
ตลาด “อัลตร้าบุ๊ก” สำหรับผู้เล่นที่ตามมาในเวลานี้ จึงยังแค่เริ่มต้น เพื่อรอการพิสูจน์ว่าความต้องการมีอยู่จริงไหม ก่อนที่จะลงแรงเต็มที่กว่านี้