เม็ดเงิน “โฆษณา” ปี’66 ไม่โตตามคาด “MI GROUP” ประเมินปีนี้ฟื้นแค่ 4.4%

โฆษณา
(Photo: Shutterstock)
MI GROUP อัปเดตเม็ดเงิน “โฆษณา” ปี 2566 ช่วง 9 เดือนแรกยังโตต่ำเพียง 2.57% คาดตลอดปีนี้โตได้เพียง 4.4% จบที่เกือบ 8.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจัยเศรษฐกิจการเมืองสงครามทำตลาดไม่สดใส

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP เปิดข้อมูลการใช้เม็ดเงิน “โฆษณา” รอบ 9 เดือนแรก ปี 2566 มีการลงโฆษณารวม 61,848 ล้านบาท เติบโตเพียง 2.57% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภวัตมองว่า เหตุที่การลงโฆษณาปีนี้ไม่สดใสนักเพราะปัจจัยรุมเร้าหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ประชาชนกำลังซื้อต่ำจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง หลังเลือกตั้งแล้วยังใช้เวลานานในการจัดตั้งรัฐบาล ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงกลางปีทำให้แบรนด์ชะลอการทำการตลาด และล่าสุดยังมีปัจจัยเรื่องสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์เข้ามาทำให้มู้ดของผู้บริโภคยังเป็นเชิงลบ

ปีนี้จึงมีเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเอนด์ที่ยังสดใส เพราะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง Top 5% ของประเทศได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ มีการใช้จ่ายตามปกติหรือบางสินค้ามีการใช้มากกว่าปกติด้วย

โฆษณา
เม็ดเงินโฆษณารอบ 9 เดือนแรก ปี 2566

จากการลงโฆษณารอบ 9 เดือนแรกที่เติบโตต่ำ MI GROUP จึงประเมินว่า ทั้งปี 2566 นี้น่าจะมีเม็ดเงิน “โฆษณา” สะพัด 84,549 ล้านบาท เติบโต 4.4% จากปีก่อน โดยเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะกระเตื้องขึ้นเพราะเป็นฤดูท่องเที่ยวและเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่จะดึงเม็ดเงินและกำลังซื้อได้

อย่างไรก็ตาม การเติบโตเพียง 4.4% ก็ถือว่าต่ำกว่าที่วงการโฆษณาเคยคาดการณ์กันไว้ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ตลาดฟื้นตัว 5-7%

โฆษณา
เม็ดเงินโฆษณาคาดการณ์ ปี 2566

สำหรับประเภทโฆษณาที่เติบโตและหดตัวก็ยังเป็นไปตามเทรนด์ตลาด โดยกลุ่มโฆษณาโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แทนที่ด้วยโฆษณาดิจิทัลทางอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นมา และกลุ่มโฆษณาสื่อนอกบ้าน (OOH) ที่ปีนี้น่าจะขึ้นมาใช้เม็ดเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.3% ของตลาดโฆษณาทั้งหมด

วงการโฆษณาในช่วงก่อนโควิด-19 เคยมีเม็ดเงินสะพัด 9 หมื่นล้านบาทในปี 2562 อย่างไรก็ตาม เทรนด์การใช้เงินในวงการโฆษณานั้นภวัตมองว่า “คงจะไม่ได้เห็นกลับไปแตะ 1 แสนล้านบาทได้อีกแล้ว” เพราะสื่อที่เคยดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่หลักหลายแสนบาทต่อการลงโฆษณา 1 ครั้งอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์นั้นไม่สามารถดึงดูดได้มากเท่าในอดีตอีกแล้ว