-
REIC สำรวจ “ราคาที่ดิน” Q3/2566 ปรับขึ้นเพียง 3.0% จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวลง เทียบกับก่อนโควิด-19 ราคาที่ดินขึ้นช้าลงถึง 5 เท่า
-
เหตุจากดีมานด์ซื้อลดลง ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ตามภาวะเศรษฐกิจ และลดการเก็บสะสมที่ดินหลังรัฐเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา
-
อย่างไรก็ตาม บางทำเลราคาที่ดินยังพุ่งกระฉูด อันดับ 1 ประจำไตรมาสนี้คือ “นครปฐม” ราคาพุ่ง 62.5% YoY
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC เปิดเผยข้อมูลการสำรวจ “ราคาที่ดิน” ประจำไตรมาส 3/2566 พบว่า ราคาที่ดินมีการปรับขึ้น 0.9% QoQ หรือปรับขึ้น 3.0% YoY
โดยรวมตลอดปี 2566 ราคาที่ดินเริ่มมีการเติบโตแบบชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิด-19 (ปี 2558-62) ช่วงนั้นราคาที่ดินมีการเติบโตเฉลี่ย 14.8% ต่อปี ราคาที่ดินที่ปรับขึ้นในไตรมาสล่าสุดจึงถือว่าชะลอจากช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 5 เท่า
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เกิดจากปัจจัยลบสำคัญ คือ ผู้ประกอบการมีการหาซื้อที่ดินเปล่าลดลง
เหตุที่ผู้ประกอบการเริ่มหาซื้อที่ดินเปล่าน้อยลง เกิดจากผู้ประกอบการมีการชะลอเปิดขายโครงการใหม่ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดที่ลดลง หลัง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาหลายครั้งจนขณะนี้อยู่ที่ 2.50% สวนทางกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP
อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องการจ่ายภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปีนี้รัฐเรียกเก็บเต็มอัตรา ดังนั้น หากมีการซื้อที่ดินสะสมไว้จำนวนมาก อาจจะเป็นต้นทุนเพิ่มในการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต
เมื่อดีมานด์เริ่มลดลงจึงเป็นแรงสะท้อนให้ราคาที่ดินปรับขึ้นได้ช้ากว่าที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตาม บางทำเลก็ยังคงร้อนแรง โดยในไตรมาส 3 ปี 2566 นี้ พบว่า โซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีดังนี้
อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินในโซนนครปฐมมีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึงร้อยละ 62.5
อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 22.3
อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนราคา ร้อยละ 17.9
อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีอัตราการเปลี่ยนราคา ร้อยละ 14.9
อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพชั้นใน มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 6.8
อันดับที่ดินที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดช่วงไตรมาส 3/2566 เห็นได้ว่าจะเป็นเขตชานเมืองทางปริมณฑลมากกว่าในเมือง ทาง REIC วิเคราะห์ว่าเกิดจากผู้ประกอบการมีแผนจะพัฒนาโครงการในเขตจังหวัดปริมณฑล เพราะต้องการพัฒนาเป็นโครงการแนวราบ อีกทั้งชานเมืองยังเป็นเขตที่ราคาที่ดินยังไม่สูง จึงมีโอกาสเติบโตด้านราคาอีกมาก
- ขาดทุนยับ! ราคาที่ดินใน ‘Metaverse’ ดิ่งฮวบเกือบ 90% จับตาแว่น VR ใหม่จาก Meta จะช่วยดันได้ไหม?
- ราคาประเมินที่ดินรอบปี 2566-69 กรุงเทพฯ “ตารางวาละล้าน” ช่วงไข่แดงกลางเมือง
REIC กล่าวด้วยว่า โซนเหล่านี้ถ้าย้อนกลับไปดูสถิติในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ทำเลเหล่านี้คือพื้นที่ที่มีการเปิดโครงการใหม่และยอดขายใหม่มากที่สุดด้วย จึงน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันราคาเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ตลาดมีความต้องการสูง