บทความโดยณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (BUZZEBEES)
ในฐานะของคนที่ทำบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว การที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ไม่ว่าในแง่ของการเป็นลูกค้า หรือในแง่ของพนักงานบริษัท ตอนนี้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ลงไป มีการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่ทำงานด้วย หรือให้ผู้บริโภคที่จะเป็นกำลังซื้อสำคัญในรุ่นต่อไป จำเป็นต้องปรับตัวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ในการเป็นบริษัทที่มี Sustainability goal หรือภาษาไทยเรียกว่า ‘ธุรกิจที่มีความยั่งยืน’
‘ธุรกิจที่มีความยั่งยืน’ แบ่งออกเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่
- การดำเนินงานที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นการให้ความสำคัญด้านผลกระทบจากกิจกรรมบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงาน และการบริหารจัดการของเสีย ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Carbon Footprint ว่าบริษัทมีการบริหารจัดการอย่างไร
- การจัดการด้านสังคม (Social) ผลกระทบด้านสังคมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท อาทิ พนักงาน ลูกค้า ชุมชน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรมในการจ้างงาน การจ้างงานที่มีความหลากหลาย และไม่เลือกปฏิบัติ การให้ความสำคัญต่อหลักการมนุษยชน และการทำประโยชน์เพื่อชุมชน
- การจัดการด้านธรรมาภิบาล (Governance) รวมถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการบริษัท การจัดการโครงสร้างบริษัทที่เอื้ออำนวยต่อการตรวจสอบ และความโปร่งใสของผู้นำบริษัท โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท การให้ผลตอบแทนกับผู้บริหาร และการปฏิบัติตามศีลธรรม และจรรยาบรรณที่ดีของบริษัท
การเพิ่มขึ้นของความสำคัญด้านการบริหารบริษัทแบบยั่งยืน
ถ้าลองมาดูถึงสถิติเกี่ยวกับการบริหารบริษัทแบบยั่งยืน ในช่วงปีที่ผ่านมาจากการที่เจ้าของสตาร์ทอัพ หรือผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ในสมัยก่อนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับผลประกอบการในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด ช่วงนี้ก็ได้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการบริหารบริษัทอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นความคาดหวังในระยะยาว กลุ่มสตาร์ทอัพออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่กลุ่มผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ กล่าวว่า เขาจะต้องทำการบริหารความคาดหวังระยะสั้น และระยะยาวนี้ไปด้วยกันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ (PWC Leading in the new reality26th Annual Global CEO Survey – Asia Pacific January 2023: https://www.pwc.com/gx/en/about/pwc-asia-pacific/ceo-survey.html?icid=26th-ceo-survey-web-adwords-paid-ceosurvey&gclid=Cj0KCQiAr8eqBhD3ARIsAIe-buMsdBTrUxN6IVP7Gq-4_BPr5ebnE2rVczdDIxqD3jtrIbqaboweLGkaAuicEALw_wcB)
ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม และประเด็นด้านความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเทรนด์เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เผชิญอยู่ไม่ว่าการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก การเพิ่มขึ้นของภาวะมลภาวะ และการเพิ่มระยะห่างของการกระจายรายได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ เรื่องจะสร้างความยั่งยืนในโลก
กรณีศึกษา
บริษัทเทสลาเป็นตัวอย่างของเทคสตาร์ทอัพ ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนี้ที่ชัดเจนที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก โดยที่ อีลอน มัสก์ มีความคิดว่าเขาจะเปลี่ยนโลกด้วยการกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่า เขาจะทำได้สำเร็จ เขาแค่คิดว่าสิ่งที่เขาทำในเทสลา จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ ในโลกตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และหันมาผลิตรถยนต์ EV ได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบ
ทุกวันนี้เทสลา เป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก และทำให้ทุกคนตระหนักรู้ และเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลก หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น มากกว่าที่จะนั่งอยู่บนกองเงินกองทองของการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งทำลายโลกต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้ Carbon Emission หรือการปล่อยคาร์บอน ลดลงโดยองค์รวมอย่างมีนัยสำคัญ
นอกเหนือไปจากนั้น บริษัทเทสลา ก็ยังได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เขาสร้างรายได้จากโมเดลธุรกิจการผลิตรถยนต์เท่านั้น ในปัจจุบันรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ก็เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทสลาไม่ได้หยุดเฉพาะการผลิตรถยนต์ เทสลาได้มีความพยายามที่จะผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้นาน โดยไม่ต้องมีการชาร์จที่ยาวนาน ทำให้แบตเตอรี่มีความสามารถนำไปจ่ายไฟกลับจากรถยนต์ให้กับครัวเรือนได้อีก
ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน หรือน้ำมันในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือบ้านเรือน โลกวันนั้น ใกล้เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จากความตั้งใจของบริษัทสตาร์ทอัพ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทในมุมของการสร้างความยั่งยืนเป็นแกน
https://carboncredits.com/tesla-regulatory-carbon-credit-sales-jumps-116/
บริษัทสตาร์ทอัพ บียอนมีท ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมีจุดประสงค์ที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปล่อย Carbon Footprint ออกมาให้กับโลกเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับบริโภค Plant based หรือการบริโภคมังสวิรัติ ซึ่งการบริโภคมังสวิรัติแบบ Plant based นั้นทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นยังไง ให้ดูจากรูปด้านล่าง จะเห็นได้ว่าปริมาณเนื้อสัตว์ที่บริโภคได้หนึ่งกิโลกรัม ก่อให้เกิด Carbon Footprint จำนวนมาก เมื่อเทียบกับการบริโภค Plant based นี่อาจจะเป็นเพราะในเนื้อสัตว์ที่บริโภคได้หนึ่งกิโลกรัม มีสิ่งที่ไม่สามารถบริโภคได้เป็นจำนวนมาก นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของการลด Carbon Footprint จากการบริโภคเนื้อสัตว์
เรายังสามารถทำอย่างอื่น ในการลด Carbon Footprint ได้เช่นการลดการสูญเสียอาหาร โดยการนำเศษอาหารไปแปรรูปไปเป็นปุ๋ย หรือถ้าอาหารเหลือเป็นอาหารที่ยังดีอยู่ เราควรแจกจ่ายหรือบริจาค มิใช่ทิ้งอาหารไป หรือการบริหารประสิทธิภาพในการรับประทานอาหาร เพื่อให้อาหารเหลือและสูญเสียน้อยที่สุด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งมีหลายบริษัทสตาร์ทอัพ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างยั่งยืน
https://foodprint.org/blog/fake-meat-followup/
บริษัทพาทาโกเนีย เป็นบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า สำหรับกีฬากลางแจ้ง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการนำความยั่งยืน มาใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นรายต้นๆ บริษัทมีแนวความคิดล้ำหน้าเช่น โปรแกรม Worn Ware และก็มีจุดมุ่งหมายและให้สัตยาบันด้านการผลิตเสื้อผ้า อย่างมีจริยธรรม อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น
สัตยาบันด้านความยั่งยืนของพาทาโกเนีย เช่น การลดการปล่อย GHG (Greenhous Gas) ทั้งหมด 80% จาก Baseline ในปี 2017 ให้ได้ภายในปี 2030 เป็นต้น https://www.patagonia.com/climate-goals/
มาดูบริษัทในไทยที่เป็นผู้นำด้านนี้กันบ้าง บริษัทเวคินเป็นบริษัทที่ผลิตแอปที่ชื่อว่า CERO Carbon Wallet ซึ่งแอปพลิเคชันตัวนี้ เป็นแอปที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถทำกิจกรรมการลดคาร์บอนจากกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านแอปได้ เช่น การนำแก้วพลาสติกกลับไปรีไซเคิล การลดการสูญเสียของอาหาร การปลูกต้นไม้ โดยทุกกิจกรรม จะได้รับคาร์บอนเครดิต นับว่าเป็นครั้งแรกของวงการที่สามารถทำให้กิจกรรมที่ผู้บริโภคทำสามารถเปลี่ยนไปเป็นคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง เป็นการช่วยผลักดันให้ผู้บริโภคมีความตระหนักถึงการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเรื่องใกล้ๆ ตัว
โอกาสและความท้าทาย
ในส่วนของสตาร์ทอัพแน่นอนว่า การทำในเรื่องของโครงการความยั่งยืนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยเฉพาะความกดดันที่จะต้องทำยอดขายสูงสุดในค่าใช้จ่ายที่ประหยัดสุดเพื่อให้อยู่รอด และเมื่อต้องแข่งกับคู่แข่งที่ไม่ได้มีกิจกรรมด้านความยั่งยืน ต้นทุนของการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพที่ใส่ใจด้านความยั่งยืนอาจจะสูงกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของโอกาสนั้น จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคมีการให้ความสำคัญ และมีความต้องการซื้อสินค้าบริการ จากบริษัทที่มีความใส่ใจด้านความยั่งยืนมากกว่าบริษัททั่วๆ ไป ซึ่งหุ้นยั่งยืนนั้นมีผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งนี่หมายความว่า ในแผนระยะยาวนั้น การทำโครงการด้านความยั่งยืนอาจให้ผลตอบแทนด้านการเงินที่ดีกว่าด้วย
ซึ่งหมายความว่า ในโลกปัจจุบันนั้น การมีความเข้าใจและริเริ่มจุดมุ่งหมายของบริษัท ให้เกิดความยั่งยืนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เลือกทำได้อีกต่อไป แต่น่าจะเป็น Company Agenda หรือหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของบริษัทเพื่อก่อให้เกิดผลกำไรในระยะยาวเลยทีเดียว