MR. DIY ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดสัญชาติมาเลเซียทำตลาดในไทยครบ 7 ปีแล้ว ขยายสาขาครบ 700 แห่ง ขึ้นแท่นร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดเบอร์ 1 ในไทย เปิดสาขาแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทยที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ตั้งเป้าเปิดให้ครบ 1,000 สาขาให้ได้ในปี 2568
เปิดเส้นทาง MR. DIY
MR. DIY (มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย.) เป็นร้านค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศมาเลเซีย ได้เริ่มก่อตั้งในปี 2548 แรกเริ่มเดิมทีได้วางจุดยืนเป็นร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน มาจาก Pain Point ของผู้บริโภคคนมาเลเซียที่มีการซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่การไปหาซื้อจากหลายๆ ร้านทำให้ไม่สะดวกเท่าไหร่ จึงกำเนิดเป็น MR. DIY ที่รวมสินค้าซ่อมแซมบ้านไว้ในที่เดียว
ในช่วงเริ่มต้นจึงเน้นกลุ่มสินค้าฮาร์ดแวร์ ซ่อมแซมบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หลังจากที่ขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการบอกกันปากต่อปากในกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ทำให้ MR. DIY ได้เพิ่มกลุ่มสินค้าอื่นๆ มากขึ้น ทั้งสินค้าภายในบ้าน เครื่องครัว ของตกแต่งบ้าน เรียกได้ว่ามีสินค้าเกือบครบทุกกลุ่มกันเลยทีเดียว
หลังจากขยายสาขาในมาเลย์ได้อยู่พักใหญ่ สเต็ปต่อไปที่จะติดสปีดในการเติบโตก็คือการขยายตลาด MR. DIY ได้ตัดสินใจเลือกประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยเป็นหมุดหมายแรกในการบุกตลาดต่างประเทศ ได้เปิดสาขาที่ “ซีคอน บางแค” เป็นสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2559
ในช่วง 1-2 ปีแรก เป็นช่วงที่มีการขยายสาขาแบบค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยปีละ 50 สาขา และยังไม่ได้ทำการตลาดมากเท่าไหร่นัก เน้นการขยายสาขาเข้าศูนย์การค้าเพื่อสร้างการรับรู้ จนเข้าสู่ปีที่ 3 MR. DIY ได้เร่งเครื่องด้วยการขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 100 สาขาขึ้นไป จนล่าสุดในปี 2566 มีสาขาครบ 700 สาขาเป็นที่เรียบร้อย เปิดครอบคลุม 72 จังหวัด หลังจากทำตลาดมาครบ 7 ปี
ปัจจุบัน MR. DIY ได้ทำตลาดใน 11 ประเทศ มีร้านกว่า 3,500 สาขา ส่วนใหญ่อยู่โซนอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย, บรูไน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, สเปน, ตุรกี, กัมพูชา, อินเดีย และเวียดนาม ที่มาเลเซียมีสาขามากที่สุดที่ 1,300 สาขา ส่วนประเทศไทยเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่สุด คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนสาขาทั้งหมดทั่วโลก
ตีตลาดด้วยราคาถูก อยู่ได้ด้วยสินค้าครอบจักรวาล
ถ้าดูภาพรวมในตลาดแล้ว ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาอย่างยาวนาน มีทั้งแบรนด์นอกอย่าง Daiso และ Miniso ที่ขยายสาขาต่อเนื่อง รวมไปถึงแบรนด์ไทยอย่าง Moshi Moshi ที่มาเร่งเครื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมไปถึงร้านโลคอลจ๋าๆ อย่างร้านทุกอย่าง 20 บาทก็ยังคงได้รับความนิยม แม้แต่กลุ่มเซ็นทรัลเองก็ยังต้องลงมาจับตลาดนี้ด้วยแบรนด์ “โก! ว้าว” ด้วยเช่นกัน
MR. DIY เองก็เข้ามาตีตลาดร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าเบ็ดเตล็ด ใช้จุดแข็งในเรื่องราคา สินค้ามีราคาเริ่มต้นที่ 5 บาทเท่านั้น สินค้าบางอย่างก็มีราคาถูก เพราะทางบริษัทเองสามารถดีลราคาได้ในปริมาณสเกลใหญ่ จึงสามารถทำราคาได้ถูก แต่นอกจากเรื่องราคาแล้วยังมีเรื่องสินค้าที่หลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจยอมรับ
ซึ่งปัจจุบันมีสินค้ารวมกว่า 15,000 รายการ ใน 10 แผนก ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือช่าง, ของใช้ในครัวเรือน, อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ประดับยนต์, อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน, เครื่องเขียนและอุปกรณ์กีฬา, ของเล่น และของขวัญ, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์มือถือ อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงเครื่องประดับและเครื่องสำอาง
ในช่วงแรกที่ดึงลูกค้าให้ลองเปิดใจซื้อสินค้า อาจจะเป็นเรื่องของราคาย่อมเยา แต่ด้วยสาขาที่เข้าถึงได้ง่าย และมีสินค้าที่ครอบคลุมหลากหลาย ทำให้ MR. DIY มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุด 50% ของใช้ในบ้าน และสินค้าฮาร์ดแวร์ มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาท/บิล
เปิดโมเดลแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก
หลังจากทำตลาดมาแล้ว 7 ปี และได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ COVID-19 มาแล้ว ปีนี้ MR. DIY ได้เปิดโมเดลแฟลกชิปสโตร์สาขาแรกในไทยที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ด้วยพื้นที่ 1,285 ตารางเมตร จริงๆ แล้วสาขานี้ไม่ใช่สาขาใหญ่ที่สุด เพราะก่อนหน้านี้มีสาขาซีคอน ศรีนครินทร์ มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด 2,000 ตารางเมตร แต่สาขาแฟลกชิปสโตร์ถือเป็นสาขาใหญ่ที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤต COVID-19
สาเหตุที่เลือกทำเลเดอะมอลล์ บางกะปินั้น เพราะเป็นศูนย์การค้าที่ได้ทำการรีโนเวตใหม่ อยู่คู่กรุงเทพฯ มากว่า 30 ปี และพื้นที่ตรงนั้นมีลูกค้าที่หลากหลาย ลูกค้ามีกำลังซื้อ มีประชากรอาศัยโดยรอบกว่า 2 ล้านคน เป็นเดสติเนชั่นของคนฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกที่ต้องมาช้อปปิ้งที่นี่
ปัจจุบัน MR. DIY มีสาขาทั้งหมด 700 สาขา คาดว่าในสิ้นปีจะมีสาขารวมทั้งหมด 739 แห่ง มีการเติบโต 40% เป็นรูปแบบการลงทุนเองของบริษัททั้งหมด ไม่ได้มีเปิดขายแฟรนไชส์
โดยที่รูปแบบร้านจะแบ่งเป็น 3 ขนาดด้วยกัน ได้แก่
- เอ็กซ์เพลส พื้นที่ต่ำกว่า 300 ตารางเมตร อยู่ตามแหล่งธุรกิจ หัวเมืองต่างๆ อาคารสำนักงาน
- ร้านในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ พื้นที่ 700-800 ตารางเมตร
- สแตนด์อโลน พื้นที่ 300-1,000 ตารางเมตร อยู่นอกศูนย์การค้า เข้าถึงตามแหล่งชุมชน
MR. DIY ได้ขยายสาขาในอัตราเร่ง 150-180 สาขา/ปี มาได้ 3 ปีแล้ว ในปีต่อๆ ไปก็คาดว่าจะขยายสาขาในตัวเลขนี้ มองว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานยังมีโอกาสอีกมาก รวมไปถึงการเปิดด้วยโมเดลสแตนด์อโลนด้วย เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลาย ตั้งเป้ามีสาขาครบ 1,000 สาขา ให้ได้ภายในปี 2568 (2025)
ทำให้ปัจจุบัน MR. DIY ขึ้นแท่นเป็นผู้เล่นร้านเบ็ดเตล็ดอันดับ 1 ในไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 32% ทั้งในแง่ของสาขา และรายได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าถามถึงว่าในอนาคตจะมีการขยายสาขาด้วยโมเดลแฟรนไชส์หรือไม่ ทางแบรนด์บอกว่าจะไม่มีแผนเน้นการขยายด้วยบริษัทเองมากกว่า ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่า