“ถั่งผิง” ไลฟ์สไตล์ใหม่มาแรงในหมู่ “หนุ่มสาวชาวจีน” ที่รัฐบาลต้องการกำจัด

ถั่งผิง Lying Flat
“ถั่งผิง” เป็นคำจีนที่แปลตรงตัวจะหมายถึง “การนอนแผ่” แต่ในภาษาสแลงคำนี้จะหมายถึงการทำตัวต่อต้านวัฒนธรรม “996” เทรนด์การทำงานหนักแบบจีนที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก

ไลฟ์สไตล์ทำตัวชิลๆ แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเอาเสียเลย ทำให้รัฐบาลจีนต้องการกำจัดไลฟ์สไตล์นี้ออกไปจากความคิดของคนหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ให้ได้

Positioning สรุปรวบรวมที่มาที่ไปของ “ถั่งผิง” การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของหนุ่มสาวจีน และความพยายามตีกรอบใหม่ของจีน ดังนี้

========

“ถั่งผิง” วิถีชีวิตที่กลับด้านจาก “996”

  • หลายคนน่าจะเคยได้ยินวิถีการทำงานแบบ “996” ของจีนมาบ้าง สิ่งนี้หมายถึงการทำงานหนักตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ก่อนหน้านี้วิถี 996 ได้รับการยกย่องในสังคมจีนว่าเป็นการทำงานหนักที่ทำให้จีนสร้างชาติได้
  • ระหว่างการทำงานก็ไม่ใช่จะทำกันแบบสบายๆ ทุกนาทีต้องอุทิศให้งานเท่านั้น ตัวอย่างของเรื่องนี้ เช่น บริษัทจีน Wanda Group โพสต์รูปประจานพนักงานคนหนึ่งที่เล่นมือถือระหว่างพักกินข้าวเที่ยง สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจีนเข้มงวดกับพนักงานมากแค่ไหน
  • อย่างไรก็ตาม สังคมยุคใหม่เริ่มรู้สึกถึงความกดดันและไม่ยอมรับวัฒนธรรมนี้ เพราะ 996 ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาส่วนตัวเลย รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายให้ลูกจ้างจีนทำงานไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หากเกินเวลาต้องได้ค่าโอที) แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังให้พนักงานทำงานหนักแบบเดิม
  • ในที่สุด ความกดดันก็ปริแตกออกเมื่อคำว่า “ถั่งผิง” กลายเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมาในโลกโซเชียลจีนช่วงปี 2021 จากความรู้สึกร่วมของหนุ่มสาวจีนทั้งสังคมที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานสไตล์จีนดั้งเดิม

========

ทำไมต้องทนทรมานกับการทำงานหนัก

  • “ถั่งผิง” ความหมายตรงๆ ตัวคือการนอนแผ่ แต่คำนี้เป็นสแลงที่หมายถึง การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่อยากสู้ชีวิตขวนขวายเหมือนคนจีนรุ่นก่อน
  • การทำตัว “ถั่งผิง” ทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่เรียนจบแล้วขออยู่แบบคนว่างงาน, เป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเป็นงานๆ ไปขอแค่พออยู่รอดได้ รวมถึงการทำตัวแบบ ‘ไม่เต็มร้อย’ ทำงานเช้าชามเย็นชามที่บริษัท
  • เหตุผลของคนหนุ่มสาวคือ ‘บริษัทให้พนักงานทำงานหนักมากแต่ให้ค่าตอบแทนต่ำ ทำแล้วบริษัทรวยขึ้นแต่พนักงานเก็บออมเงินไปดาวน์บ้านยังไม่ได้ด้วยซ้ำ’ เมื่อชีวิตหมดหวังที่จะรวยขึ้น ผลคือหนุ่มสาวขออยู่ไปวันๆ ดีกว่า
  • ปัญหาหลายอย่างที่ประดังเข้ามา ทั้งสภาพเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาตั้งแต่เผชิญโควิด-19 ผนวกกับการทำตัว ‘ปล่อยจอย’ มากขึ้นของคนหนุ่มสาว ทำให้อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาววัย 16-24 ปี พุ่งสูงเมื่อปี 2023 ค่าเฉลี่ยคือถ้าถามคนหนุ่มสาว 5 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่ไม่ได้ทำงาน

========

ไม่ทำงานบริษัทแล้วจะทำอะไร?

  • คำถามต่อมาคือหนุ่มสาวจะใช้ชีวิตรอดอย่างไร? คำตอบคือบางคนก็ใช้วิธีรับจ๊อบทำงานแค่พอประทังชีพ หรือบางคนก็เข้าบริษัทไปทำงานไปวันๆ
  • อีกเทรนด์หนึ่งที่ฮิตมากคือการประกาศตัว “ทำหน้าที่ลูกเป็นงานประจำ” หมายถึงการกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ ดูแลพ่อแม่ ทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว ซื้อของ พาพ่อแม่เที่ยว ซึ่งพ่อแม่จีนบางคนก็รู้สึกดีที่ลูกหลานมาอยู่ด้วย เพราะชีวิตบั้นปลายย่อมต้องการคนดูแล
  • ส่วนคนที่มีลู่ทางประกอบอาชีพแบบ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ก็เลือกจะเป็น “ดิจิทัล โนแมด” เพื่อหลีกหนีวิถีชีวิต 996 ไปใช้ชีวิตต่างประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ของจีน เช่น บาหลี, เวียดนาม หรืออาศัยอยู่ตามชนบทจีน ส่วนใหญ่คนที่ทำได้มักจะเป็นงานที่ทำออนไลน์ได้ 100% เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์, โปรแกรมเมอร์, นักเขียน, ครีเอทีฟ เป็นต้น

========

รัฐบาลจีนจะไม่ทน

  • เทรนด์การใช้ชีวิต “ถั่งผิง” เหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดียมากมายจนหนุ่มสาวอยากจะทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ
  • มีกิจกรรมหลายอย่างที่กลายเป็นคอนเทนต์ฮิตในโซเชียล เช่น การจัดปาร์ตี้ลาออกให้ตัวเอง (ยิ่งลาออกแบบ ‘ไม่มีงานรองรับ’ ยิ่งเจ๋ง) หรือ การเสี่ยงโชคซื้อลอตเตอรี ถึงขนาดว่ายอดขายลอตเตอรีของรัฐเมื่อเดือนเมษายนปี 2023 พุ่งสูงถึง 5 หมื่นล้านหยวน สูงขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า เพราะเทรนด์ ‘อยากรวยทางลัด’
  • หลังจากปล่อยให้โซเชียลโพสต์เรื่องเหล่านี้มานาน ในที่สุดเมื่อปลายปี 2023 รัฐบาลจีนก็เริ่มทนไม่ไหว และกำหนดให้ “คอนเทนต์มองโลกในแง่ร้าย” เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ไม่เหมาะสมที่รัฐต้องการเซ็นเซอร์ (*คอนเทนต์ที่รัฐบาลจีนแบนอื่นๆ เช่น อวดรวย แฟนด้อมคลั่งดารา)
  • คอนเทนต์ที่สะท้อน ‘วัฒนธรรมการทำงานในแบบที่ผิด’ จะถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ เพราะรัฐจีนต้องการให้หนุ่มสาวเลิกมองโลกในแง่ร้าย และกลับมาสร้างประสิทธิผลให้กับชาติอีกครั้ง

 

#ถั่งผิง #เศรษฐกิจจีน #วัฒนธรรมจีน #positioningmag

ที่มา: Jing Daily, Yahoo
ภาพจาก: Shutterstock

อ่านบทความอื่นๆ