Big Match “พรีเมียร์ลีก” ทรู VS แกรมมี่ เร้าใจกว่าในสนาม

ยังไม่ทันเป่านกหวีด ศึกชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ก็เริ่มเกมได้เร้าใจกว่าทุกฤดูกาลที่ผ่านมา เพราะ “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่คือเครื่องมือทางการตลาด ลิขสิทธิ์นี้จึงมีเดิมพันสูง ทั้งศักดิ์ศรีและเม็ดเงินมหาศาล และที่สำคัญคือการชี้ชะตาอนาคตธุรกิจของซูเปอร์บิ๊กอย่างทรูวิชั่นส์ และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

นับจากนี้จนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนที่ “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” จะเปิดประมูลขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด สงครามข่าวสารเรื่องการแย่งซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” จะระเบิดอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เล่นระดับบิ๊กคือแชมป์เก่า “ทรูวิชั่นส์” ที่ยืนยันพลาดไม่ได้ และมีผู้ท้าชนโดยตรง คือ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ที่เพิ่งบุกทีวีดาวเทียม ภายใต้แบรนด์ GMM Z

ไม่เพียงเท่านั้น “ทรูวิชั่นส์” อาจกำลังโดนสอยจากกลุ่มสามารถฯ ที่จับมือกับสยามกีฬา และถูกหยั่งเชิงจากกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่น ที่ร่วมทุนระหว่างครอบครัวไทยรัฐ โดย “วัชร วัชรพล”  และ “วิชัย ทองแตง” นักลงทุน และอดีตทนายความ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่กลุ่มหลังนี้อาจไม่ชนวันนี้ แต่อนาคตไม่แน่

 “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” มีความหมายต่ออนาคตของผู้เล่นทั้งหมดนี้อย่างไร และหากทุ่มแบบ No Limit จะเจ๊งหรือเจ๊า POSITIONING มีคำตอบ

 

“ทรูวิชั่นส์” ปรับเกม ดึง Mass ช่วยบุก 

“ทรูวิชั่นส์” ที่ครองลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษมาเกือบ 15 ปี ต้องปรับเกมชนิดตั้งตัวไม่ติด เมื่อถูกคู่แข่งรุกหนักจะแย่งประมูล “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ที่เคยเป็นอาวุธบุกตลาดเคเบิลทีวีไฮเอนด์มาก่อน ทรูวิชั่นส์เลือกเดินแผนใหม่โดยมีผู้ชมกลุ่ม Mass เป็นเป้าหมาย

“ทรูวิชั่นส์” เริ่มธุรกิจด้วยการสร้างความต่าง (Differentiate) จากคู่แข่งอย่างเคเบิลทีวีท้องถิ่น  และฟรีทีวี ด้วยจุดขายการนำเสนอรายการต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ” เพื่อขยายฐานสมาชิก โดยเน้นกลุ่มไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อ คือกลุ่มแพ็กเกจโกลด์ และแพลทตินั่ม ที่ยอมจ่ายค่าบริการประมาณเฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถูกรสนิยมคนไทย เพราะเล่นแนวปะทะ ลุย แลก ล้มเจ็บ ทำประตู นักเตะหล่อ แต่ละทีมมีเดอะสตาร์ ที่มาจากการทำตลาดอย่างดีของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จนกลายเป็นแบรนด์ฟุตบอลที่ได้รับความนิยมทั่วโลก   

นอกเหนือจากนี้ยังมีเหตุลผลตรงที่มีผู้ชมส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มพนันบอล ที่ทำให้เฝ้าติดตามลีกดังระดับโลกนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

แม้กลุ่มไฮเอนด์ไม่ได้ดู “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ทุกคน แต่ก็เป็นรายการที่ทำให้ทรูวิชั่นส์มีความพิเศษ แรงพอเป็นจุดขายที่บอกกับลูกค้า จึงเริ่มทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2540 เมื่อครั้งยังใช้แบรนด์ไอบีซี (ที่ก่อตั้งโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภายหลังรวมกิจการกับยูทีวีในกลุ่มทรูฯ และเปลี่ยนชื่อเป็นยูบีซี และทรูวิชั่นส์ปัจจุบัน)

การซื้อลิขสิทธิ์ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยยื่นซื้อลิขสิทธิ์ทุก 3 ปี มีคู่แข่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างบิ๊กสุดคือกลุ่ม ESPN ที่ทรูวิชั่นส์ทุ่มแข่งมาจนถึงทุกวันนี้ถือลิขสิทธิ์มาแล้วเกือบ 15 ปี ด้วยมูลค่าลิขสิทธิ์การประมูลครั้งสุดท้ายใน 3 ฤดูกาลล่าสุด สิ้นสุด 2012/2013 มูลค่ารวมประมาณ 2,400 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีฐานสมาชิกไฮเอนด์ประมาณ 5 แสนรายจากสมาชิกทั้งหมด 2 ล้านราย 

“องอาจ ประภากมล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานคอมเมอร์เชี่ยล ทรูวิชั่นส์ บอกว่า 30% ของ 5 แสนราย (ประมาณ 1.5 แสนราย) คือผู้ชมที่ดูรายการพรีเมียร์ลีก อังกฤษประจำ

และไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับเรตติ้ง เพราะได้สูงสุดชนะทุกรายการของทรูวิชั่นส์ที่ออนแอร์ในช่วงเวลาเดียวกันกับการแข่งขันของทีมระดับบิ๊กโฟร์ โดยเฉพาะคู่แดงเดือนอย่างหงส์แดง ลิเวอร์พูล กับปิศาจแดง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่กวาดเรตติ้งเรียบ

แต่การเปิดประมูลรอบใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับ “ทรูวิชั่นส์” แล้ว เวลาเปลี่ยนเกมก็ต้องเปลี่ยน และต้องพยายามในทุกมิติเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์นี้มา ยุทธศาสตร์หนึ่งที่กำลังเดินคือ การทำให้พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ยินดีมากที่สุดนั่นคือการขยายฐานผู้ชมให้มากและทั่วถึงที่สุด

ทรูวิชั่นส์จึงปรับเกม โดยดึงเอาพรีเมียร์ลีก อังกฤษลงมาสู่ตลาด Mass มากขึ้น ในช่วงเกือบปีสุดท้ายของช่วงลิขสิทธิ์ปัจจุบัน (ฤดูกาล 2011/2012) ถ้าเป็นเกมการแข่งขัน ก็เหมือนการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ปรับแผนเพิ่มกองหน้า ในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของเกมก็ว่าได้ หลังจากที่ลังเลมานาน เพราะเกรงจะกระทบต่อความเป็นพรีเมียมในแพ็กเกจไฮเอนด์ 

สุดท้ายโจทย์นี้ “องอาจ” ขอตอบว่าเมื่อกลุ่ม Mass มาชมกันมากขึ้น โอกาสที่จะมีรายได้จากโฆษณาก็มากขึ้น อย่างปีที่ผ่านมา จากรายการแข่งขันของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ถ่ายทอดสดผ่านทรูวิชั่นส์นั้น สามารถขายเโฆษณาได้มูลค่าถึง 150 ล้านบาท ด้วยเรตต่อนาทีสูงสุดของทรูวิชั่นส์ ที่นาทีละ 25,000 บาท 

ทรูวิชั่นส์จึงเริ่มเปิดเกมโดยทดสอบตลาดว่าหากมีแพ็กเกจราคาถูกสำหรับคอบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษจะซื้อหรือไม่ และตัวเลขที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกว่าพร้อมจ่ายคือ 300 บาทต่อเดือน

สิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายของฤดูกาลนี้ยังเหมือนจัดวางให้ทรูวิชั่นส์ทำตลาดได้ง่ายขึ้น เพราะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมที่มีสาวกจำนวนมากในไทย กำลังเดินสู่เส้นทางแชมป์ หากถึงฝั่งก็จะได้ชมปิศาจแดงบนสนามครบทั้ง 7 แมตช์ แล้วฉลองแชมป์ไปพร้อมกัน

“องอาจ” เชื่อว่าเมื่อรวมกับฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ที่แฟนบอลไทยเริ่มชื่นชอบ จะทำให้ภายใน 3-4 เดือนทรูวิชั่นส์จะได้สมาชิกเพิ่มอีก 150,000 ราย 

แน่นอนว่าทรูวิชั่นส์จะใช้แผนนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีผู้ชมพรีเมียร์ลีก อังกฤษผ่านทรูวิชั่นส์ทะลุหลักล้านได้ไม่ไกลเกินเอื้อม

นี่คือยุทธศาสตร์ของทรูวิชั่นส์ ที่นอกจากเงินทุนที่พร้อมยื่นประมูลแล้ว เพราะไม่เพียงกลุ่มทรูฯท่านั้น แต่ยังมีบริษัทแม่ของกลุ่มทรูอย่างเครือซีพีเป็นฐาน มีจำนวนผู้ชมที่แน่นอนชัดเจนและจำนวนมาก จะทำให้พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ยากที่จะปฏิเสธทรูวิชั่นส์

 

“พรีเมียร์ลีก” เกมในฝันของ GMM Z

3 เดือนแรกของปี 2555 GMM Z หรือชื่อเดิม 1Sky ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มียอดลูกค้าที่ซื้อกล่องเพื่อติดรับชมทีวีดาวเทียมประมาณ 6 หมื่นกล่อง แต่สิ้นปี 2555 นี้ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการบริหาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขายกล่องได้ 2 ล้านกล่อง 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “ไพบูลย์” มั่นใจคือคอนเทนต์กีฬาที่ควักลงทุนไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ฟุตบอลยูโร บุนเดสลีกา กอล์ฟ บาสเกตบอล โดยหวังว่าฟุตบอลยูโรจะทำให้ได้ผู้ชมเพิ่มอีก 5 แสนกล่องในกลางปีนี้ และการขับเคลื่อนผ่านช่องทางการจำหน่าย ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

2 ล้านนี้ยังไม่นับรวม พรีเมียร์ลีก อังกฤษที่หากชนะและเริ่มถ่ายทอดฤดูกาล 2013/2014 จังหวะนั้นจะทำให้ GMM Z มีกล่องเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า  2 ล้านกล่องตามฐานผู้ชมที่เป็นสาวกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ พร้อมรีเทิร์นกลับมาเป็นรายได้ให้ GMM Z ปีละ 1,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ แม้พรีเมียร์ลีก อังกฤษจะสามารถทำให้ GMM Z แจ้งเกิดได้ในธุรกิจทีวีดาวเทียมทันที แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ GMM Z เจ๊งได้ หากทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเกินไป

นี่คือเสียงกระตุ้นเตือนที่ทั้ง “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ซีอีโอ GMM Z และ “ไพบูลย์” เห็นว่าต้องศึกษาให้รอบคอบ เปรียบเทียบให้ชัดเจนว่าต้นทุนการซื้อลิขสิทธิ์กับค่าสมาชิกที่ผู้ชมยอมจ่ายนั้นคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ลองซ้อม และยอมจ่ายไปกับการประมูลฟุตบอลลีกอื่นๆ มาแล้วจำนวนมาก รวมไปถึงงดจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นเพื่อเตรียมทุนไว้ให้มากที่สุด แต่ในวงการนี้ พรีเมียร์ลีก อังกฤษคือมีคนฟีเวอร์ที่สุด และแพงที่สุด

เกมนี้ระหว่างทรูวิชั่นส์ และ GMM Z คือทรูวิชั่นส์ ได้เปรียบกว่าตรงที่มีฐานสมาชิกอยู่เกือบ 2 ล้านรายแล้ว และกำลังพยายามขยายให้พรีเมียร์ลีกเข้าถึงผู้ชมวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนผู้เล่นที่มีประสบการณ์ และรู้ว่ามุมไหนที่จะยิงเข้าประตูได้ชัวร์ที่สุด ขณะที่ GMM Z เพิ่งเริ่ม สุดท้ายที่เหลือขึ้นอยู่ว่า GMM Z จะยอมทุ่มเงินอัดฉีดกขนาดไหน และที่สำคัญ เมื่อได้ครองลูกแล้วจะทำประตูหรือจะวืด

 

สามารถฯ จับมือสยามกีฬา ร่วมกระแส

ผู้ที่ประกาศตัวว่าจะลงชิงประมูลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ อีกราย และเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยคือกลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ฝ่ายหลังโดย “ระวิ โหลทอง” เจ้าพ่อคอนเทนท์กีฬา ได้ชักชวน “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ซีอีโอกลุ่มสามารถฯไว้แล้ว แต่ความแน่นอนว่าจะประมูลหรือไม่ ต่อให้แค่ค่ 50 : 50 นอกเสียจากว่า 2 กลุ่มนี้จะมีผู้ร่วมประมูลอื่นอีก

กลุ่มสามารถฯ และสยามสปอร์ต เป็นพันธมิตรทำคอนเทนต์รายการกีฬาภายใต้บริษัทไอสปอร์ตมานาน ปัจจุบันมีช่องรายการทีวี และมีช่องสัญญาณดาวเทียมที่เพียงพอหากได้สิทธิถ่ายทอดสด

ความพร้อมของกลุ่มสยามสปอร์ตหรือคอกีฬารู้จักกันดีว่า สยามกีฬา คือเครือข่ายคอนเทนต์ที่แข็งแรง ที่ล่าสุดยังเป็นผู้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก และขายต่อให้ทรูวิชั่นส์ ขณะที่กลุ่มสามารถฯต้องการคอนเทนต์เพื่อมาขับเคลื่อนบริการโทรศัพท์มือถือ 3G 

ประมาณ 6 ปีที่แล้วกลุ่มสามารถฯได้ซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษเพื่อนำคอนเทนต์มาออกในสื่อโทรศัพท์มือถือ เพื่อขับเคลื่อนยอดขายไอโมบาย ซึ่งในครั้งนั้นครอบคลุมถึงพื้นที่ประเทศไทย พม่า และกัมพูชา ที่เป็นตลาดของไอโมบายด้วย

ลักษณะของสิทธิที่ได้คือการยิงตรงเข้าเครื่องมือถือลูกค้าเมื่อมีการทำประตู เพื่อให้ลูกค้าเปิดดูทันที แต่ผลคือ “เจ๊ง” เมื่อเครือข่ายมือถือยังเป็นความเร็วต่ำ ยังไม่เป็น 3G  สมาร์ทโฟนยังไม่ทั่วถึง การดูแบบติดๆ ขัดๆ คือความเบื่อหน่ายของคอบอล ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงลูกค้าว่าจะถึงหลักแสนหรือไม่ สูงสุดแค่หลักหมื่นรายเท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าลิขสิทธิ์หลัก 100 ล้านบาท ในเวลา 3 ปีนั้น จึงบาดเจ็บอย่างหนัก

แต่สำหรับธุรกิจแล้ว หากมีโอกาสอีกครั้ง ก็พร้อมลงสนาม เพียงแต่ว่าบทเรียนที่สำคัญคือต้องมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง มีโมเดลธุรกิจในการหารายได้ที่ชัดเจน และต้นทุนที่เหมาะสมคือสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

หากประเมินความพร้อมแล้วงานนี้ถือได้ว่า “ทรูวิชั่นส์” พร้อมที่สุด ขึ้นอยู่กับการวางแผนว่าจะบุกหรืออุดอย่างไรเพื่อให้ได้ชัยชนะ เพราะว่าด้วยเรื่องของธุรกิจแล้ว มีโอกาสพลิกเสมอ ซึ่งไม่ต่างจากเกมในสนาม ที่หลายต่อหลายครั้ง ในนาทีสุดท้ายของเกม มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ที่ผู้แพ้กลับกลายเป็นผู้ชนะในพริบตา

Top 5 ลีกฟุตบอลต่างชาติที่คนไทยชื่นชอบ

1.พรีเมียร์ลีกอังกฤษ (ทรูวิชั่นส์ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและจะเริ่มประมูลใหม่ สำหรับฤดูกาลใหม่ เริ่ม 2013/2014 คาดมูลค่าประมูลสำหรับสิทธิ์ 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท และบางบริษัทประกาศว่าจะทุ่มถึง 5,000 ล้านบาท) 

2.ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก (จุดเด่นรวมทีมเด่นจากลีกดังๆ ในยุโรป ทรูวิชั่นส์เพิ่งได้สิทธิ์ 3 ปี เริ่มฤดูกาล 2012/2013  )

3.ยูโร (เริ่มฤดูกาลปี 2012 โดยแกรมมี่ด้วยค่าลิขสิทธิ์ 300 ล้านบาท 3 ปี ถ่ายทอดสดบางคู่กับช่อง 3 )

4.ลาลีกา สเปน (เริ่มฤดูกาลปี 2012 โดยอาร์เอส เก็บค่าสมาชิก 100 บาท) 

5.บุนเดสลีกา เยอรมนี (เริ่มฤดูกาล ปี 2012 โดยแกรมมี่)

เมื่อแกรมมี่อยากจับมือทรูวิชั่นส์

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ในงานพลังน้ำใจไทย ที่บรรดาองค์กรเอกชนระดับบิ๊กมารวมกันเพื่อฟื้นฟูโรงเรียนสามัคคีวิทยา จังหวัดนนทบุรีหลังน้ำท่วม 

หลังเสร็จภารกิจ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการบริหารของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้เดินมานั่งหารือกับ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นกันเอง

หัวข้อสุดฮอตวันนั้นคือว่าด้วยเรื่อง “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ที่อากู๋ ไพบูลย์ ได้ประกาศตลอดเวลาว่าอยากได้ หลังเปิดตัวธุรกิจทีวีดาวเทียมวันสกาย เมื่อปลายปี 2554 ที่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็น จีเอ็มเอ็มแซท โดยจะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษในการเปิดประมูลรอบใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ 

“ไพบูลย์” บอกว่า คุยกับ “ศุภชัย” เพื่อหารือว่าจะร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ธุรกิจไทยแข่งขันกันเองรุนแรง เพราะนอกจากเงินไหลออกนอกประเทศแล้ว ต้นทุนก็จะสูงไปด้วย สำหรับแกรมมี่แล้ว คำตอบเดียวคืออยากได้ อย่างที่เขารู้ดีว่า เป็นคอนเทนต์ที่ดีและใครๆ ก็อยากดู 

หลังจากนั้นทุกครั้งที่เจอสื่อ “ไพบูลย์” ยังคงย้ำว่าพร้อมสู้เต็มที่ จนมีเสียงเตือนให้ลดโทนลงเพื่อจะได้ไม่ทำให้ราคาแข่งขันถูกปั่นจนสูงเกินไป โดยรอบล่าสุดในการแสดงจุดยืนเรื่องนี้คือ แกรมมี่กำลังศึกษาถึงความคุ้มค่าทางธุรกิจ ว่าจะจ่ายได้สูงสุดแค่ไหน และคิดราคากับผู้ชมได้มากขนาดไหน ผู้ชมจึงยอมจ่าย 

แต่ถึงกระนั้นการเจรจาเพื่อหาทางร่วมมือกันก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่ง “ไพบูลย์” คงอยากยืมเพลงของทีมลิเวอร์พูลมาร้อง “You’ll never walk alone” เพียงแต่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยากเดินลำพังก่อนหรือเปล่าคงต้องเคลียร์กันก่อน

แน่นอนว่า “ศุภชัย” ก็ตอบว่าพร้อมเจรจาในการหาทางร่วมมือกัน เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจหลักของทรูวิชั่นส์

“พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นคอนเทนต์สำคัญ ทรูฯก็อยากได้ แต่การประมูลครั้งนี้ต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่มีตัวแปรมากขึ้น มีคู่แข่งในไทยมากขึ้น แต่ที่ผ่านทรูวิชั่นส์ก็เคยชนะผู้แข่งประมูลรายใหญ่ในเอเชียมาแล้ว “

สำหรับทรูวิชั่นส์แล้ว มองไกลกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่ครอบคลุมสิทธิ์เฉพาะในประเทศ แต่ครั้งนี้ สิ่งที่ทรูวิชั่นส์กำลังศึกษาคือ ไม่ได้ด้หวังแค่สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดในประเทศไทยเท่านั้น “ศุภชัย” ยังกำลังมองถึงการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ครอบคลุมพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย