ทำความรู้จักกับ 9Basil กองทุนของ ‘ชวิณ เจียรวนนท์’

Positioning จะพาไปทำความรู้จักกับ 9Basil ธุรกิจลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น หรือ Private Equity ซึ่งเป็นอีกธุรกิจสำคัญของ ‘ชวิณ เจียรวนนท์’ ซึ่งกำลังเป็นข่าวกับดาราชื่อดัง ‘เบลล่า’ ราณี แคมเปน อยู่ในขณะนี้

ชวิณ เจียรวนนท์ (วิล) เป็นหลานของ วัลลภ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งปู่ของ ชวิณ นั้นเป็นลูกพี่ลูกน้อง ธนินท์ เจียรวนนท์

ในส่วนของการศึกษานั้น ชวิณ จบการศึกษาจาก University of North Carolina at Chapel Hill ใน 2 สาขาวิชาหลัก นั่นคือ ด้านเศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจ

เขาได้ก่อตั้ง 2W Group ซึ่งเป็นสำนักงานครอบครัว (Family Office) และได้ลงทุนในหลายกิจการ ไม่ว่าจะเป็น MC Payment ซึ่งเป็นบริการรับจ่ายเงินในประเทศอินโดนีเซีย หรือแม้แต่เคยลงทุนใน Aura ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารความมั่งคั่งซึ่งมีสำนักงานทั้งในสิงคโปร์และออสเตรเลียมาแล้วในปี 2016 ก่อนที่จะขายหุ้นในกิจการดังกล่าวออกมาในช่วงปี 2021

ขณะเดียวกันเขาเองยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Blueprint Forest ซึ่งถือเป็น Family Office อีกแห่งเพื่อที่จะบริหารเงินลงทุนให้กับตระกูลมหาเศรษฐีในทวีปเอเชียด้วย

ชวิณ เจียรวนนท์ (คนกลาง) ในช่วงที่เป็นกรรมการ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) / ภาพจากบริษัท

9Basil ธุรกิจสำคัญของ ‘ชวิณ’

ชวิณ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของ 9Basil ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือหลายคนอาจคุ้นในชื่อของ Private Equity ในช่วงปี 2018 และธุรกิจดังกล่าวยังสร้างชื่อเสียงให้กับเขาในปัจจุบัน

สำหรับพอร์ตการลงทุนของ 9Basil ที่สำคัญๆ เช่น เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ‘เงินติดล้อ’ ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ซึ่งตัวเขาเองเคยเป็นกรรมการของบริษัทในช่วงปี 2019 จนถึงปี 2022 มาแล้ว ซึ่งการลงทุนในเงินติดล้อนั้นบริษัทได้จับมือกับ CVC Capital Partners ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Private Equity รายใหญ่ของโลก

ปัจจุบัน 9Basil ถือหุ้นในเงินติดล้อ สัดส่วน 3.49% คิดเป็นมูลค่าล่าสุด (29 เมษายน) ราวๆ 2,000 ล้านบาท

9Basil ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ‘อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป’ ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นบริษัทมีการยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมท่ีผ่านมา 9Basil เองยังเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนของ Sourcefit ซึ่งเป็นธุรกิจรับมอบหมายและดูแลงานบางส่วนภายในองค์กร (BPO) ในประเทศฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันในช่วงปี 2020 นั้นบริษัทเองยังมีการลงทุนในกิจการที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินด้วย

นอกจาก 9Basil เองแล้ว ชวิณ ยังมีกองทุนอื่นที่ดูแลไม่ว่าจะเป็น Lossless Capital และ Open Forest อีกด้วย

Private Equity ทำไมถึงได้รับความนิยมในไทย

การลงทุนในบริษัทที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ นั้นได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักคือต้นทุนการเงินที่ถูก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เองนั้นถือว่าต่ำ

จุดเด่นของ Private Equity คือสามารถที่จะหาผลตอบแทนที่สูงมากกว่าในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยที่ไม่ต้องรับความผันผวนจากราคาในตลาดหุ้นในช่วงการลงทุนในกิจการดังกล่าว แต่จะมีการหามูลค่าทางบัญชีว่ากิจการในช่วงลงทุนมีมูลค่าเท่าใด

Private Equity เองมีการกู้ยืมเงิน หรือนำเงินลงทุนจากนักลงทุนไปซื้อกิจการต่างๆ ที่มองว่ามีศักยภาพ สามารถสร้างกำไรในอนาคตได้ ซึ่ง Private Equity มักจะมีการเข้ามาฟื้นฟูกิจการหรือทำให้กิจการมีประสิทธิภาพหรือกำไรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการทำกำไรของ Private Equity เช่น การขายกิจการต่อให้นักลงทุนที่สนใจ หรือแม้แต่การนำกิจการที่ตัวเองเป็นเจ้าของ (หรือถือหุ้นอยู่) นำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้มีกำไรอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดีธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารกิจการอาจไม่เป็นไปตามแผน หรือแม้แต่สภาวะธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้การลงทุนเกิดความเสียหายได้

ขณะที่ในประเทศไทย Private Equity ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เหล่าตระกูลมหาเศรษฐีของไทยหลายตระกูลเองได้ประกาศตั้งกองทุน ไม่ว่าจะเป็น ภูมิ จิราธิวัฒน์ ที่มีการประกาศตั้ง ซีจี แคปปิตอล เป็นต้น ซึ่งธุรกิจดังกล่าวถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของเหล่าตระกูลมหาเศรษฐีของไทยอีกทางหนึ่ง