บิวตี้ บล็อกเกอร์ใช้อย่างไรให้คุ้ม
อัจฉรา กมลเพ็ชร Digital Strategic Planner, CJ Worx บอกถึงวิธีการเลือกบิวตี้ บล็อกเกอร์ ว่าจะต้องประเมินจากตัวเลขผู้เข้าชมบล็อกหรือพื้นที่เว็บไซต์ของบิวตี้ บล็อกเกอร์รายนั้น โดยอาศัยเครื่องมือดิจิตอลช่วย เช่น Google Analytic ประกอบกับการพิจารณาคอนเทนต์ของบิวตี้ บล็อกเกอร์รายนั้นว่าเหมาะสมกับกับแคมเปญการตลาดหรือเปล่า
ส่วนการพิจารณาผลของแคมเปญ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์เป็นหลักว่าต้องการยอดขายหรือว่า Awerness ที่แบรนด์สินค้า ซึ่งในฐานะดิจิตอล เอเยนซี่ก็มีวิธีการที่จะทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น ถ้าหากว่าอยากเพิ่มยอดขายก็อาจทำกิจกรรมภายในบล็อกของบล็อกเกอร์เหล่านั้น แล้วลงชื่อเพื่อซื้อสินค้าราคาพิเศษที่เคาน์เตอร์แบรนด์ อย่างไรก็ตามในฐานะคนที่ทำงานสังเกตุพฤติกรรมของผุ้บริโภคโดยตรงพบว่า จุดที่ประสบความสำเร็จของการสื่อสารผ่านบล็อกเกอร์ได้ผ่านเลยไปแล้ว เพราะผู้บริโภคที่ติดตามห้องโต๊ะเครื่องป้งในพันทิป หรือติดตามรีวิวของบล็อเกอร์เป็นประจำ จะเริ่มรู้แล้วว่าคลิปหรือรีวิวแบบไหนที่แบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วม คงเหลือแต่เพียงมือใหม่ หรือวัยรุ่นที่เพิ่งหัดแต่ตัวเท่านั้น ที่เข้าใจว่าเป็นรีวิวจากตัวบล็อกเกอร์เอง
บล็อกเกอร์รับงานแบบไหน
ฟังความเห็นจากดิจิตอล เอเยนซี่ไปแล้ว ลองมาฟังเสียงของบล็อเกอร์ดู้บ้างว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไรเมื่อสารพัดแบรนด์ความงามวิ่งเข้าหาบล็อกเกอร์คนดัง จนในที่สุดเกิดเป็นกรณีดราม่าของโต๊ะเครื่องแป้ง แล้วเคสเหล่านี้ก็วนเวียนกลับมาขึ้นกระทู้แนะนำอยู่เรื่อยๆ Positioning ได้พูดคุย ศักรัช เปี่ยมวรนันท์ หรือที่สาวๆ รู้จักกันดีในนาม PuPe_so_Sweet ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า ขั้นตอนเวลาที่แบรนด์ติดต่อเข้ามาบล็อเกอร์ก็จะต้องลองใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน ถ้าหากว่าถูกใจจึงจะพูดคุยธุรกิจในขั้นต่อไปว่าจะร่วมมือกันทางใดได้บ้าง โดยมีทั้งการติดต่อไปงานเปิดตัวสินค้า ไปทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนเปิดตัวจริงเพื่อคอมเมนต์ รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกับแฟนเพ็จของบล็อกเกอร์ ซึ่งถือเป็น CRM ของเหล่าบล็อกเกอร์ที่นานๆ ครั้งก็จะมีสิทธิพิเศษบางอย่างให้แฟนคลับตัวเอง
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น 1.คิดเป็นค่าความเสี่ยงจากการที่ต้องเอาหน้า และตัวไปทดลองผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพราะเขาเองก็เล่าให้ฟังว่า “เจ็บมาเยอะ” หรือ “หน้าพังไปหลายรอบ” 2.การสนับสนุนแบนเนอร์ในเว็บไซต์หรือบล็อก
ส่วนคอนเทนต์ที่เขียนรีวิวก็จะเป็นข้อตกลงกับแบรนด์เลยว่า ถึงแม้จะมีแบรนด็นั้นๆ สนับสนุเว็บไซต์หรือพื้นที่บล็อกของเขา แต่เมื่อถึงพื้นที่รีวิวก็ขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นไปตามความรู้สึกส่วนตัว มีทั้งเรื่องติและเรื่องชม “ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรือเอเยนซี่ ต้องเข้าใจก่อนว่าบล็อกเกอร์ก็คือคนๆ หนึ่ง เวลาที่คุณใช้เรา ช่วยดูด้วยว่าเราถนัดอะไร อย่างปูเป้ไม่แต่งหน้า พวกผลิตภัณฑ์เมคอัพ ก็อย่าเข้ามา ถึงเข้ามาเราก็รีวิวไม่ได้ดี อีกอย่างก็คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของบล็อกเกอร์ก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งเราไม่เอาชื่อเสียงเรามาขาย อุตส่าห์ทำมาตั้งหลายปี ดังนั้นพื้นที่รีวิวก็ขอให้เห็นตัวตน เป็นสไตล์ของเราเอง เวลาดีล คุยกันแบบเพื่อน คุยกันแบบพี่-น้องดีกว่า อย่างบางแบรนด์ผูกพันกันจนเหมือนเป็นเพื่อน เป็นพนักงานไปแล้ว เพราะว่าแบรนด์เขาเองก็เข้าใจในพื้นที่ของเรา เวลาพูดถึงสินค้าเขาก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชมอย่างเดียว”
การทำงานของบล็อกเกอร์มืออาชีพอย่างปูเป้ ที่ส่วนหนึ่งสรางรายได้จากพื้นที่โฆษณาของบล็อก ตอนนี้ขยายไปสู่การเป็นวิทยากรที่แนะนำเรื่องบุคลิกภาพ การดูแลตัวเองกับองค์กร หรือบางครั้งก็บรรยายให้ความรู้ แต่ส่วนหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้คืออาชีพของครอบครัวที่มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ดังนั้นการเป็นบล็อกเกอร์ก็คือรายได้เสริมที่ทำให้ใช้ชีวิตสบายขึ้นเท่านั้น ถึงจะเป็นอาชีพเสริม การเป็นบล็อกเกอร์ก็ใช่ว่าจะง่าย เพราะต้องทำการบ้าน นั่งอ่านเรื่องส่วนผสมของสารที่ผสมในตัวผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดเพื่ออธิบายถึงคุณสมบัติของสารเหล่านั้นที่มีผลกับผิว ซึ่งบางครั้งต้องนั่งอ่านข้อมูลเป็นวันเพื่อรีวิวผลิตภัณฑ์ความงาม 1 ชิ้น