การดึงผู้บริโภคให้มามีส่วนร่วมกับโฆษณา เป็นเทคนิคทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ยิ่งโฆษณาทำได้สนุกและผู้บริโภคเล่นเดียว ที่สุดคือการซึมซับแบรนด์เข้าไปในใจ กรณีนี้ผู้บริโภครู้ทันอยู่แล้ว แต่ก็ยินดีเล่นเพราะสนุก
ในกรณีของแบรนด์ Tippex ลิควิดเปเปอร์ เป็นกรณีศึกษาถึงการใช้ออนไลน์ได้อย่างเป็นประโยชน์ โดยเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคเล่น มาตั้งแต่ปี 2553 กรณีหมีป่ากับนายพราน ให้ผู้ชมเติมคำในช่องแล้วหมีกับนายพรานจะปฏิบัติการตามคำที่เราเติมลงในช่องว่าง
จนล่าสุดปี 2555 ก็ออกโฆษณาออนไลน์ทาง YouTube มาให้เล่นอีก เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวระหว่างหมีกับนายพรานกำลังจะจัดปาร์ตี้วันเกิดกัน แล้วจู่ ๆ ก็เห็นลูกไฟกำลังจะตกบนพื้นโลก แล้วภาพหยุดให้เลือกว่าเล่นต่อไหมหรือจะหยุด แล้วหมีก็ส่ง Tippex ให้นายพรานลบคำและเปิดให้ผู้ชมเติมตัวเลขปีเกิดในช่องว่างเพื่อช่วยโลก
ภายในประมาณ 1 เดือนมีคนดูคลิปนี้กว่า 8 ล้านคน แม้ระบบจะล่มบ้าง และมีเสียงบ่นความไม่เสถียรแต่ ก็เป็นไอเดียที่ได้รับคำชมอีกครั้งสำหรับ Tippex
ยังมีความพยายามของสื่อที่อยากให้ผู้ชมพึงพอใจมากขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นผู้ชมของตัวเอง ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Hulu.com เว็บไซต์เครือข่ายวิดีโอ และหนัง ก็ให้ผู้ชมเลือกดูโฆษณาจากกลุ่มสินค้าที่ชอบ ซึ่งนักโฆษณาในต่างประเทศให้ความเห็นว่าเมื่อให้คนได้เลือกดูโฆษณาจากกลุ่มสินค้าที่อยากดู ก็จะทำให้เขารักแบรนด์มากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าสื่อนั้นๆ แบรนด์นั้นๆ ให้ความเคารพในสิทธิของผู้บริโภค
นอกจาก Hulu แล้ว ก็ยังมี YouTube Yahoo ก็พยายามให้ทางเลือกกับผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นกลุ่มสื่อทางออนไลน์เหล่านี้ ก็ต้องปรับตัว เพราะคู่แข่งมีมากมาย จนผู้บริโภคมีทางเลือกพร้อมจะไปที่ที่สนุกและดีกว่าตลอดเวลา