-
Kantar เปิดเทรนด์ผู้บริโภคไทยปี 2567 พบกลุ่มผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (Personal Care) ฟื้นตัวกลับมาแล้วหลังผ่านโควิด-19
-
เทรนด์ใหม่คนไทยในการดูแลตนเองคือ “ต้องดูดีทั้งตัว” ทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทดูแลเส้นผมไปจนถึงครีมทามือกลายเป็นสินค้ามาแรง
-
แนะช่องว่างทางการตลาด เน้นสินค้ารับมือแดดร้อน ต้านมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“Kantar” ที่ปรึกษาทางการตลาด เปิดเทรนด์ผู้บริโภคไทยหลังผ่านพ้นโควิด-19 และกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน พบเจอคนอื่นใน “ชีวิตจริง” มากขึ้น ทำให้เมื่อปี 2566 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน (Home Care) ยอดขายตกลง -10.7% สวนทางกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (Personal Care) ที่กลับมาฟื้นตัว 0.2% และเทรนด์นี้น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2567
บทวิจัยนี้ยังพบไฮไลต์ที่น่าสนใจว่า การที่คนไทยต้องดูแลตนเองเพื่อพบเจอคน ไม่ได้ทำให้ยอดขายสินค้าประเภท “เครื่องสำอางสำหรับใบหน้า” เท่านั้นที่เติบโต แต่ยังทำให้สินค้ากลุ่มดูแลผมและผิวพรรณโตตามไปด้วย เพราะลูกค้าต้องการจะดูดีในทุกจุดของร่างกาย
เมื่อปี 2566 ยอดขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลที่ “เติบโตดีที่สุด” 10 อันดับแรกนั้น ได้แก่
1.น้ำยาบ้วนปาก
2.ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย
3.ทรีตเมนต์เส้นผม
4.แปรงสีฟัน
5.ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด
6.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้า
7.มอยเจอไรเซอร์สำหรับทาตัวและทามือ
8.สบู่เหลว
9.โทนเนอร์
10.ผลิตภัณฑ์จัดแต่งเส้นผม
เห็นได้ว่าใน 10 อันดับแรกมีสินค้าที่เกี่ยวกับเส้นผม 2 อันดับ และที่เกี่ยวกับการดูแลร่างกายโดยเฉพาะเข้ามาติดอันดับด้วย สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องการดูแลผมและผิวกายให้ดูดีเป็นเรื่องสำคัญของผู้บริโภคไทยยุคนี้
ช่องว่างการตลาด: ต้านมลพิษ สู้แดดร้อน
Kantar ยังชี้เป้าด้วยว่า ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นและมลพิษสูงขึ้น แต่คนไทยต้องกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้สิ่งที่ลูกค้ามองหาจะเป็นสินค้าที่ช่วยสู้กับแสงแดดร้อนแรงและมลพิษเมืองไทย เช่น มีส่วนผสม SPF, ส่วนประกอบอ่อนโยนต่อผิว
รวมถึงแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในอากาศและมลพิษแบบนี้ได้จะเป็นผู้ชนะ เช่น ลูกค้ามักจะเชื่อว่าการทาโลชันแล้วไปเผชิญอากาศร้อนจะทำให้ตัวเหนียวเหนอะหนะ ดังนั้น แบรนด์ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารให้ลูกค้าเชื่อได้ว่าโลชันของแบรนด์ ‘ซึมเร็ว’ ไม่ทำให้ตัวเหนียวแม้อยู่กลางแดดร้อน ก็จะได้ยอดขายที่สูงขึ้น
ชอบผลิตภัณฑ์ที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” แต่ติดที่ “ไม่เชื่อใจ”
อีกหนึ่งช่องว่างการตลาดที่แบรนด์สามารถเจาะได้คือ จากข้อมูลของ Alibaba’s Sustainability Trends Report 2023 พบว่า คนไทย 88% อยากจะมีไลฟ์สไตล์เพื่อความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แพ็กเกจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใส่สารเคมี ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทดลองกับสัตว์ เป็นต้น
- เปิด 4 กลยุทธ์พิชิตใจ ในยุคที่คนไทยเกินครึ่ง ‘ขี้เบื่อ’
- #dupe ค่านิยมใหม่วัยรุ่น “Gen Z” นิยมซื้อของ “เทียบแท้” ไม่รู้สึกผิดที่ใช้ของเลียนแบบ
อย่างไรก็ตาม กำแพงที่กั้นคนไทยไม่ให้หันมามีไลฟ์สไตล์เพื่อความยั่งยืนจริงๆ เป็นเพราะไม่รู้ว่าการกระทำของตัวเองจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือเปล่า ทั้งสินค้าที่ทำเพื่อความยั่งยืนก็มักจะแพง และมีตัวเลือกให้เลือกน้อย
ผลสำรวจนี้พบว่าคนไทย 38% ไม่เชื่อใจว่าผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าทำเพื่อความยั่งยืนนั้นมีแรงจูงใจที่ ‘จริงใจ’ ต่อสิ่งแวดล้อม มีคนไทยเพียง 15% เท่านั้นที่บอกว่าตนเองเชื่อใจแบรนด์เวลาแบรนด์บอกว่าทำสิ่งเหล่านี้ออกมาเพื่อความยั่งยืน
ด้วยโจทย์เช่นนี้ทำให้แบรนด์สามารถหาช่องว่างเข้าไปเป็นแบรนด์ที่ ‘สร้างความเชื่อใจ’ ได้จริงในแง่ของความยั่งยืน ซึ่งจะทำให้แบรนด์สามารถเล่าที่มาที่ไปได้ว่าทำไมผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงมีราคาแพงกว่า ทำให้ลูกค้า ‘รู้สึกดี’ เมื่อจะซื้อสินค้าเพราะรู้ว่าตนเองกำลังทำเพื่อโลกด้วย