-
มิณ – สิรัชชา พัชรโสภาชัย ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสาวแบรนด์เนมตัวแม่ในวงการ เป็นผู้ก่อตั้งร้านโมโมโกะ, iCHi Baby Center และ Runway Closet ก่อนผันตัวสู่วงการกัญชาเต็มตัว
-
“อิริเดซเซ็นท์ เมด” โรงงานผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์รายใหญ่แบบครบวงจร เตรียมผุดโรงงานใหม่ที่ชลบุรีรองรับดีมานด์ส่งออกต่างประเทศ
-
วอนกฎหมายมีความชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินหน้าลงทุนได้ชัดเจนด้วย
จากเจ้าแม่แบรนด์เนม สู่โรงงานกัญชา
พูดถึง “กัญชา” หลายคนยังติดภาพลักษณ์ความเป็นผู้ชายลุยๆ หรือเป็นหนุ่มฮิปปี้แต่อย่างเดียว ตอนนี้ภาพลักษณ์ของกัญชาเริ่มมีความ Positive มากขึ้น จากการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ หลายคนมีความเข้าใจเรื่องกัญชามากขึ้นเช่นกัน
เพราะฉะนั้น… ผู้หญิงก็ทำธุรกิจกัญชาได้เช่นเดียวกัน
Positioning พาไปพูดคุยกับ “มิณ – สิรัชชา พัชรโสภาชัย” ผู้ก่อตั้งบริษัท อิริเดซเซ็นท์ เมด จำกัด (Iridescent Med) ผู้ผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์แบบครบวงจร ถือว่าเป็นหนึ่งผู้ผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์รายใหญ่ของไทยอีกเจ้าหนึ่ง
เส้นทางการเป็นนักธุรกิจของสิรัชชาเป็นสาวไฮโซ คลุกคลีกับสินค้าแบรนด์เนมมาโดยตลอด เป็นผู้ก่อนตั้งร้าน “โมโมโกะ” ร้านสปากระเป๋า และรองเท้าแบรนด์เนม และก่อตั้ง iCHi Baby Center โรงเรียนสอนว่ายน้ำสำหรับเด็กทารก และเด็กเล็ก รวมไปถึงได้ก่อตั้งร้าน Runway Closet ร้านเช่าสินค้าแบรนด์เนม เมื่อปั้นแบรนด์จนประสบความสำเร็จ ก็ได้ขายโมโมโกะ และ iCHi Baby Center ให้นักลงทุนรายอื่น
สิรัชชาได้เริ่มศึกษาธุรกิจกัญชาราวๆ 3 ปี โดยที่จุดเริ่มต้นมาจากคุณแม่ของสามีป่วยเป็นสโตรก มีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งตัว เป็นผู้ป่วยติดเตียง จนได้ทำการศึกษาสรรพคุณของกัญชาที่ช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยสโตรก มะเร็ง และสมอง เมื่อศึกษาก็พบว่ากัญชาสามารถรักษาได้ เลยอยากทำให้กัญชาเป็นยาได้จริงๆ ช่วยเหลือคนจริงๆ
“เราได้เริ่มก่อตั้งบริษัท และโรงงานอิริเดซเซ็นท์ เมดที่ย่านแพรกษาเมื่อปี 2565 ด้วยงบลงทุน 100 ล้านบาท ได้พื้นที่จากครอบครัวมาทำโรงงาน ทำแบบครบวงจร มีการจ้าง R&D มีศูนย์วิจัยสายพันธุ์ที่เป็นยา รวมถึงจ้างนักปลูกกัญชาจากสหรัฐอเมริกามาช่วยบอกเทคนิคในการปลูก ส่วนที่มาของชื่ออิริเดซเซ็นท์ เมดมีความหมายที่มาการตกกระทบของแสง เหมือนกับกัญชาที่คนมองเห็นแค่ด้านดาร์กๆ แต่จริงๆ แล้วกัญชายังมีมุมสวยๆ ให้เห็นอีกมาก”
ในช่วงแรกที่ก่อตั้งบริษัท เริ่มจากปลูกเป็นดอกไม้ก่อน และมีการบรรจุแบบอัดกระป๋องตามขนาดที่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันอากาศเข้าไป มีทั้งทำแบรนด์ของตัวเอง และส่งขายร้านกัญชาทั่วไป แต่ต้องเป็นร้านที่มีการจดอนุญาตถูกต้องแล้วเท่านั้น
สิรัชชาเรียนจบทางด้านการตลาดมาโดยตรง ถนัดที่การสร้างแบรนด์ ถ้าถามว่าธุรกิจกัญชา แตกต่างจากธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมที่ผ่านอย่างไรบ้าง เธอบอกว่า “ทุกธุรกิจมีการเริ่มต้นเหมือนกัน ต้องมีการสร้างแบรนด์ แต่ธุรกิจกัญชามีความยากที่ตัวกฎหมาย ยังไม่มีความชัดเจน และไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน ประกอบกับต้องสู้กับความเชื่อผิดๆ ของคน หน้าที่ของเรา คือ ต้องสู้ด้วย Know How ต่างๆ”
ปักหมุดโรงงานแห่งใหม่ ใช้พลังงานสะอาด
ปัจจุบันสินค้าและบริการของ อิริเดซเซ็นท์ เมด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
- ช่อดอกกัญชาเพื่อการแพทย์ โดยเน้นตลาดส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง CBD เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เวชสำอาง น้ำมันนวดตัว เจลบรรเทาปวด
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม CBD เช่น เจลลี่เพื่อสุขภาพ น้ำมันหยดใต้ลิ้น CBD
สำหรับโรงงานของ อิริเดซเซ็นท์ เมด แบ่งเป็น 3 ส่วน
- โรงงานสำหรับปลูกเพื่อผลิตช่อดอกแห้งเพื่อการแพทย์ (Medical grade Cannabis) แบบระบบปิด ทั้งดอก CBD สูง และ THC สูง มี ซึ่งได้รับมาตรฐาน Global GACP CUMCS จาก Control Union มีกำลังการผลิต 1,000 กิโลกรัม/ปี เพื่อส่งออกต่างประเทศหลัก ไปให้แพทย์จ่ายในคลินิกทั้งภายใต้แบรนด์ Iridescent Med. และส่งแบบ OEM อีกด้วย
- โรงงานที่ผลิตสินค้า และอาหารเสริมที่มี CBD เป็นส่วนผสม เนื่องจากการผลิตสินค้าดังกล่าวจำเป็นต้องแยกมาจากโรงงานที่ผลิตสินค้าปกติ ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรับผลิตสินค้า CBD อีกทั้งปัจจุบันทางบริษัทยังมีแบรนด์ของตัวเอง ทั้ง Iridescent และ Aryu. โดยมีสินค้าหลากหลายทั้งเครื่องสำอาง และอาหารเสริม
- โชว์รูมสำหรับขายสินค้า เพื่อให้โชว์รูมของสินค้า คาดว่าจะเริ่มทำเป็นเคาน์เตอร์ แบรนด์ทั้งในไทย และต่างประเทศในอนาคต
ตอนนี้มีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยขนาดพื้นที่ 20 ไร่ ใหญ่กว่าโรงงานที่แพรกษา 10 เท่า ใช้งบลงทุน 500 ล้านบาท เป็นพื้นที่โรงงานเก่าของครอบครัว เอามาปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตกัญชา ที่จะมีระบบพลังงานสะอาดมากขึ้น สามารถนำแก๊สมาหมุนเป็นพลังงาน และน้ำเสียมาหมักเป็นแก๊สเพื่อปั่นไฟได้ด้วย ทำให้ต้นทุนค่าพลังงาน ค่าผลิตต่ำลง และมีการปล่อยคาร์บอน ฟุตปริ้นท์ที่ต่ำมาก ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ช่วยลดภาษีได้ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่า หรือราวๆ 20 ตัน/ปี
ล่าสุดอิริเดซเซ็นท์ เมดเพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GACP เมื่อเดือนพฤษภาคม ทำให้สามารถส่งออกกัญชาล็อตแรกได้เดือนกรกฎาคม หมุดหมายแรกก็คือ ประเทศออสเตรเลีย ที่ปริมาณ 30 กิโลกรัม
หลังจากที่ได้เริ่มคิกออฟส่งออกต่างประเทศ ก็จะเน้นการส่งออกเป็นหลัก เพราะตลาดส่งออกมีการเติบโตขึ้นทุกปี เป้าหมายต้องการส่งออกไปเยอรมัน, ออสเตรเลีย และอิสราเอล โดยที่อิสราเอลเป็นประเทศที่มีการใช้กัญชาเยอะที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ราวๆ 55 ตัน/ปี เป็นการใช้ทางการแพทย์ ควบคุมโดยแพทย์ทั้งหมด
ปัจจุบันอิริเดซเซ็นท์ เมดมีสินค้ากัญชาเพียงแค่ช่อดอกเท่านั้น แต่ในอนาคตมีแผนจะทำน้ำมันหยดสำหรับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเห็นว่าสัตว์เลี้ยงเมื่ออายุเยอะขึ้นระบบตับไตจะทำงานไม่ค่อยดี น้ำมันกัญชาจะช่วยทำให้ตับ ไตของน้องๆ ทำงานได้ยาวขึ้น จะเริ่มในช่วงปลายปีนี้
“ตอนนี้กฎหมายควบคุมออกได้แค่ดอกเท่านั้น แต่จะเปิดโรงงานสำหรับทำเครื่องสำอางอีกโรง เป็นการปลูกกัญชงแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ CBD เพื่อเข้าไปลดอัตราการอักเสบในร่างกาย มีสินค้าทั้งครีม สบู่ โลชั่น ทำเป็นแบรนด์ลูก เพื่อให้คนไม่สับสนกับกัญชา”
สิรัชชามีการตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ที่ 300 ล้านบาท แต่สิรัชชาบอกว่า เป้าหมายอยากให้ธุรกิจไปถึงหลักพันล้านให้ได้
เชียร์ให้กฎหมายแข็งแรง คุมมาตรฐาน
แม้กัญชาจะได้รับการปลดล็อกมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ทำให้เห็นธุรกิจกัญชาเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการก็เริ่มมีการสั่นคลอนกันยกใหญ่ เพราะรัฐบาลเตรียมจะชงให้กัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง
ในประเด็นนี้ สิรัชชาให้ความคิดเห็นว่า “กฎหมายฉบับแรกมีความเสรีเกินไป เข้าใจว่าทางรัฐบาลมองว่าจะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ แต่อยากให้มีการควบคุมให้อยู่ในร่องในรอย ทำให้กฎหมายแข็งแรงขึ้น ควบคุมการเข้าถึงของเยาวชน รวมถึง ควบคุมการปลูกกัญชาให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพราะกัญชาเป็นพืชที่เซ็นซิทีฟสูง”
แต่เมื่อกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนยังไม่สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง โรงงานที่จะสร้างใหม่เลยยังไม่ได้สร้างต่อ เพราะมีข่าวแว่วว่าจะมีการจัดโซนนิ่งโรงงานกัญชาอีก ทำให้ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนของกฎหมายอย่างเดียว
“จริงๆ เราอยากลบภาพลักษณ์กัญชาในอดีต ตอนนี้มันมีงานวิจัย มีการ R&D มีแพทย์รับรอง ยกตัวอย่างประเทศเยอรมันที่มีการเอากัญชาเข้าสู่สวัสดิการ มีการทดลองในกลุ่มเล็ก ยังไม่มีปัญหาอะไร มีคลินิกกว่า 24,000 แห่งรองรับ มีแพทย์คอยควบคุม”
แต่ถ้าเกิดว่ากฎหมายมีการปรับให้กัญชาเข้าสู่ยาเสพติดอีกครั้ง สิรัชชามองว่าร้านกัญชาที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการประเมินว่าน่าจะมีกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ น่าจะต้องล้มหายตายจาก อาจจะเหลือหลักพันแห่งที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง
แน่นอนว่าในแง่ของผู้ประกอบการน้อมรับในกฎหมาย เพียงแค่อยากให้มีความชัดเจน เพื่อจะได้เดินหน้าต่อเท่านั้นเอง