ละครออนไลน์ เรตติ้งของตัวจริง ไม่มั่วนิ่ม

เรตติ้งคนดูละครกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อผลการวัดของเอซี นีลเส็น เจ้าประจำที่วัดความนิยมคนดูทีวีต่อเนื่องยาวนาน กลับให้ผลที่ขัดแย้งความรู้สึกคนดูมาตลอด ดูอย่าง ละคร “แรงเงา” ที่ฟีเวอร์กันไปทั้งเมือง จนถึงกับเรียกว่าเป็น “วันแรงเงาแห่งชาติ” เพราะทำเอาวันจันทร์และอังคารถนนโล่งกันเลย แต่ปรากฏว่าเรตติ้งของนีลเส็นกลับเป็นรอง “ป่านางเสือ”

ผลวิจัยแบบไม่ชัวร์ของนีลเส็น ทำให้เวลานี้เจ้าของสินค้าและเอเยนซี่เวลาลงโฆษณาถึงกับต้องจ้างบริษัทวิจัยความนิยมของคนดูขึ้นเอง เพื่อกันพลาด นอกจากนี้สื่อออนไลน์ การดูย้อนหลังทางอินเทอร์เน็ตกับกระแสในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่าเรตติ้งแบบเดิมๆ “ตกยุค” แล้ว จนเป็นที่มาของแนวทางการวัดความนิยมของผู้ชมละครด้วย “ละครออนไลน์” ช่องทางติดตามละครรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งความแม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การวัดผลเรตติ้งคนดูทีวีเคยยึดการวัดผลของเอซี นีลเส็น ซึ่งจะใช้วิธีติดตั้งกล่องวัดเรตติ้งเอาไว้ที่บ้านของกลุ่มตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างต้องกดตอบแบบสำรวจ โดยที่กลุ่มตัวอย่างถูกปิดลับ

แต่นั่นไม่เท่ากับว่าผลวิจัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อสงสัยในกลุ่มคนโฆษณามานานแล้วว่า ผลวิจัยของเอซี นีลเส็นแม่นยำเพียงใด เพราะผลวิจัยของนีลเส็นขัดแย้งความรู้สึกมาโดยตลอด เมื่อหลายปีที่แล้วสถานีโทรทัศน์ไอทีวีก็เคยขนสื่อมวลชนไปดูการวัดผลทีวี ของนีลเส็น เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระจายกลุ่มเป้าหมายมากพอ จนเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการคัดเลือกผู้วัดเรตติ้งรายใหม่ แม้ว่าเอซี นีลเส็นจะถูกเลือกเหมือนเดิม เพราะเอเยนซี่หลายรายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ด้วยปัญหาผลวิจัยของนีลเส็นเองทำให้ช่อง 3 ออกประกาศเลิกใช้ผลวิจัยของเอซี นีลเส็นไปแล้ว

จากการเปิดเผยของเอเยนซี่รายหนึ่ง บอกว่า ทุกวันนี้เจ้าของสินค้า และเอเยนซี่โฆษณาหลายแห่งก็เริ่มหันมาออกแบบสำรวจวิจัยความนิยมคนดูมาประกอบการตัดสินใจเองแล้ว เพราะไม่มั่นใจผลวิจัยของเอซี นีลเส็นว่าจะแม่นยำเพียงใด

อีกความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้การวัดเรตติ้งเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งจานดาวเทียมสารพัดจาน สารพัดกล่อง หรือแม้แต่การดูย้อนหลังทางอินเทอร์เน็ตกับกระแสในโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่าเรตติ้งแบบเดิมๆ “ตกยุค” แล้ว

“ละครออนไลน์” เมื่อคลิก แม่นกว่ากล่อง
“ละครออนไลน์” คือทางเลือกใหม่ของการวัดเรตติ้งอย่างเห็นผล จากการนำเรื่องย่อและบทละครดังที่เป็นที่นิยมทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวี มาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นทั้ง iOS, Android และ BlackBerry

จากการเปิดเผยของ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ manager.co.th และ สุวิชชา เพียราษฎร์ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา และเว็บไซต์ manager.co.th และทีมงาน ได้ร่วมกันเปิดเผยถึง “ละครออนไลน์” เฉพาะที่อยู่ในแพลตฟอร์มเว็บไซต์มีผู้เข้าชมในเดือนตุลาคมมากกว่า 11 ล้านเพจวิว และแอปพลิเคชั่นก็เคยติดอันดับ Top 3 ของแอปพลิเคชั่นฟรี นับจากวันเริ่มต้นประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2554 ด้วยละครเรื่อง กลรักลวงใจ และ รอยไหม ทางช่อง 3 และ ในรอยรัก ทางช่อง 7

จากที่มีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เดือนละ 2 ล้านราย มาจนถึง 11 ล้านรายโดยเฉลี่ย ซึ่ง “ละครออนไลน์” ได้สร้างตัวเองให้กลายเป็นเครื่องมือวัดความนิยมละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมาย คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อ “ละครออนไลน์” สามารถบ่งบอกกระแสไม่ใช่เพียงแค่จำนวนคลิกเท่านั้น แต่ยังมีคอมเมนต์ของผู้อ่านที่มีต่อตัวละคร บทละคร ไปจนถึงโปรดักชั่นละคร

จนสามารถนำไปเปรียบเทียบกับการจัดเรตติ้งแบบเดิม อย่างเช่น ละครเรื่อง “แรงเงา” ที่ฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ แต่เมื่อวัดเรตติ้งของเอซี นีลเส็น กลับพบว่า “แรงเงา” ไม่เคยมีเรตติ้งชนะ “ป่านางเสือ” จากช่อง 7 ได้เลย

โดยข้อมูลจากนีลเส็นระบุว่า วันที่ 5 พฤศจิกายน เรตติ้งของ “แรงเงา” อยู่ที่ 10.9 (17.5,9.8) ขณะที่ป่านางเสือ ภาค 2 มีเรตติ้ง 13.0 (6.9,14.0) ทั้งๆ ที่รู้กันดีอยู่ว่า “แรงเงาฟีเวอร์” ในวันจันทร์-อังคาร ที่เล่นเอาถนนกับห้างสรรพสินค้าว่างเพราะผู้ชมรีบกลับไปดู และในช่องทาง “ละครออไนลน์” ละครเรื่อง “แรงเงา” เพียงเรื่องเดียวมียอดผู้อ่าน 1.7 ล้านต่อตอน

จนอาจกล่าวได้ว่า “ละครออนไลน์” ได้กลายเป็นสถิติที่ตรวจสอบได้ แล้วนำมาอธิบายปรากฏการณ์ความนิยมของคนดูละครได้มากกว่าแค่ความรู้สึก โดยโพรไฟล์ของผู้ที่เข้ามาอ่านละครออนไลน์ 67% เป็นกลุ่มผู้หญิง ซึ่งสอดคล้องกับทาร์เก็ตของผู้ชมละคร จึงเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค

บทละครอ่านแล้วยังไงก็ดู
นอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนในวงการโฆษณาที่ทำให้วางแผนการใช้สื่อได้แม่นยำขึ้นแล้ว สำหรับค่ายละครเอง “ละครออนไลน์” ก็เป็นทั้งช่องทางโปรโมตและงานวิจัยฉบับย่อของผู้จัดละคร เพราะพฤติกรรมของคนดูละครในประเทศไทยถึงแม้จะอ่านเรื่องย่อกับบทละครแล้ว พอถึงเวลาที่ละครมาก็ยังนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ติดตามเรื่องที่อ่านแล้วทางทีวีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหนังสือเรื่องย่อละครเป็นบทพิสูจน์พฤติกรรมนี้เป็นอย่างดี

จุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาของ “ละครออนไลน์” ก็คือ ฟีดแบ็กแบบ Interactive ผู้อ่านอ่านจบแล้วก็แสดงความคิดเห็นได้เลย ผู้จัดละครสามารถมองความนิยมของละครตัวเองได้ตั้งแต่ฟิตติ้งตัวละครกับบทประพันธ์ หรือถ้าหากว่ายอดผู้เข้าชมน้อย ก็อาจจะต้องวางแผนให้ละครจบเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้สถานีเอาเวลาไปออกอากาศละครที่เปรี้ยงกว่า และยังเป็นประโยชน์กับการวางแผนในอนาคตที่จะจัดละครให้ถูกจริตกับผู้ชม

ทางออกใหม่ที่มีเดียเอเยนซี่ต้องมอง
ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีเดียเอเยนซี่ผู้วางแผนสื่อ ยังคงยึดติดอยู่กับการวัดเรตติ้งด้วยวิธีการเดิม ด้วยความคุ้นชินของอุตสาหกรรม ทั้งจากเจ้าของเม็ดเงินโฆษณาเองก็ยังยึดติดกับการวัดผลด้วยเรตติ้งเช่นกัน โดยมองข้ามไปว่าเรตติ้งที่ออกมานั้นได้สะท้อนความนิยมจริงๆ ของผู้ชมที่มีต่อละครหรือไม่

วริษฐ์ มองว่า ต่อไปนี้สื่อออนไลน์ที่ระบุยอดผู้เข้าชม หรือจำนวนดาวน์โหลดได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เนื่องจากวงการโฆษณาและสื่อกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่การใช้เม็ดเงินโฆษณายังไม่เติบโตเต็มที่
เขาเชื่อว่า เมื่อวงการโฆษณาเข้าใจวิธีการวัดผลแบบใหม่นี้แล้ว ก็น่าจะหันมาใช้สื่อดิจิตอลให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ในเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาอ่านเรื่องบทละครแบบออนไลน์กันหมดแล้ว โดยผู้ชมที่อ่าน “ละครออนไลน์” ทางเว็บไซต์จะเข้ามาในช่วงเวลาที่อยู่บ้านหรือว่างจากงาน ขณะที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นก็จะมียอดผู้ใช้สูงในช่วงเวลาที่กำลังเดินทาง แล้วสนุกกับละครผ่านโมบาย ดีไวซ์

การติดตามพฤติกรรมของผู้ชมละครอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ น่าจะมีผลต่อการวางแผนซื้อสื่อได้อย่างถูกต้องสำหรับเหล่าเอเยนซี่

เพราะถึงอย่างไร “ละคร” กับสังคมไทยก็เป็นของคู่กัน