ศึกแชทกระจาย WeChat ปะทะ Line

ตลาดแชทแอปพลิเคชั่นร้อนฉ่า.. เมื่อ Tencent ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจากจีนและของโลก ส่ง WeChat ลงสู่ตลาดไทย รับตลาดสมาร์ทโฟนและโมบายอินเทอร์เน็ตโตเท่าตัว เดิมพันด้วยฐานธุรกิจ เงินทุนจากจีน มีสนุกดอทคอม งานนี้ไม่ได้หวังแค่แทนที่ในตลาดแชท ที่มี Line ยึดครองอยู่ก่อน แต่ถึงขั้นปูทางไปสู่การสร้าง Platform ใหม่ ระดับเดียวกับเฟซบุ้ค

ต้องจับตาให้ดีกับการเข้ามาของบริษัท Tencent ผู้ประกอบธุรกิจอินเทอร์เน็ตรายใหญ่จากจีน ส่ง “WeChat”ลงสู่ตลาดแชทแอปพลิเคชั่นในไทย ที่คาดว่ามีผู้ใช้ 5-7 ล้านคน ที่สำคัญเป็นตลาดที่มีคู่แข่งอย่าง Line แชทแอปพลิเคชั่นจากญี่ปุ่นกำลังยึดครองตลาดอยู่ในเวลานี้

อย่างที่รู้กันว่า Line นั้น ครองตลาดแชทในไทยมาได้พักใหญ่ Line เข้ามาสร้างปรากฎการณ์ให้กับตลาดแชทในไทย ดึงดูดผู้ใช้ นอกจากเรื่องพื้นฐานอย่างการใช้งานได้กับทุกระบบปฏิบัติการ iOS ,แอนดรอย, วินโดว์โฟน และโนเกีย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของแชท แอปพลิเคชั่นไปแล้ว กลยุทธที่ทำให้ Line แซงหน้า WhatsApp ไปแบบหลุดลอย คือ การให้สติกเกอร์การ์ตูนน่ารักๆ แทนส่งด้วยข้อความ โดนใจคนไทยไปเต็มๆ ซึ่งนอกจากเป็นกลยุทธที่ดึงดูดผู้ใช้ได้อย่างดีแล้ว ด้วยการให้โหลดฟรี และซื้อลิขสิทธิ์จากคาแรคเตอร์ดังๆ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้แล้ว

โมเดลการหารายได้ของ Line ยังรวมการกำหนดตัวเองให้เป็นเครื่องมือการสื่อสารการตลาด ให้กับแบรนด์สินค้า เข้ามาทำสติกเกอร์ และเป็นออฟฟิเชียลไลน์ เช่าพื้นที่ส่งข้อความถึงแฟนคลับและลูกค้า ความนิยมของการทำสติกเกอร์ Line ถึงขนาดที่ สามารถขึ้นราคาค่าทำสติกเกอร์ กับออฟฟอเชียลอีกเท่าตัว จากเดิมที่จ่ายกัน 2 ล้านต่อเดือน เวลานี้ขึ้นเป็น 4 ล้านบาทต่อเดือน

ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้กระแสของLine ไม่วูบหาย กลยุทธของ Line จึงส่งเกม Line Pop ให้ผู้ใช้ Line ดาวโหลดเล่นกันฟรี ไม่ถึงสัปดาห์ดี ยอดดาวโหลด 3 ล้านคน ส่งหัวใจกันสนั่นจอไปแล้ว ทำให้กระแสความฮิตของ Line ยังคงอยู่ต่อเนื่อง ไม่เงียบหายไปแบบ แชทแอปพลิเคชั่นก่อนหน้านี้

การมาของ WeChat จึงถูกจับตามองว่างานนี้ส่งผลให้ตลาด “แชทแอปพลิเคชั่น” ต้องร้อนฉ่าอย่างแน่ เพราะเจ้าของ WeChat นั้นไม่ธรรมดา คือ บริษัทเทนเซ็นต์ ยักษ์ใหญ่ในตลาดอินเทอร์เน็ตของจีน และติดอันดับโลก มีทั้งเงินทุน และประสบการณ์ในการทำแพลทฟอร์มออนไลน์ แชต เว็บพอร์ทัล เกมส์ มาแล้ว แถมยังมีสนุกดอทคอม ที่เทนเซ็นต์เข้ามาถือหุ้นช่วย ในการป้อนเนื้อหา และติดต่อธุรกิจ

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านธุรกิจเนื้อหาและบริการ บริษัท สนุก ออนไลน์ เล่าวว่า เทนเซ็นต์ มองว่า ตัวเลขสถิติ ยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกปี เวลานี้มีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 10-15 ล้านเลขหมาย โดยมีผู้ใช้แอปพลิเคชั่น โซเชี่ยล เมสเสจ 5-7 ล้านคน ซึ่งอัตราเติบโตโมบายอินเทอร์เน็ต ในช่วง 10 เดือนของปี2554 เติบโตถึง 350% ไทยยังติดอันดับ 8 ของการดาวโหลดแอปพลิเคชั่น โดยยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทย เฉลี่ย 30 ชั่วโมงต่อเดือน ในขณะที่สถิติผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ที่ 24-26 ชั่วโมง

ที่ผ่านมา ตลาดแชทแอปฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอด จากแบล็กเบอรี่ ที่เคยสร้างปรากฎการณ์แชทผ่าน BBM แต่ก็โดน WhatsApp ทำลายข้อจำกัดด้วยการ Cross Device ให้สมาร์ทโฟนที่ใช้ทุกระบบปฏิบัติการแชทถึงกันได้ ต่อมา Line ใส่ความสนุกผ่านสติกเกอร์ ถูกใจคนเอเชียที่ชอบแสดงออกผ่านรูปอยู่แล้ว

นอกจาก Line ที่ครองตลาดด้วยฐานลูกค้า 8 ล้านรายในเวลานี้ ยังมี WhatsApp แชทเจ้าเก่าที่พยายามจะกลับมา โดยมีข่าวลือว่า Facebook กำลังจะขอซื้อเพื่อเสริม Massaging Service ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มี แชทตัวใหม่โผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เช่น Kokaotalk ให้เห็นแล้วในแวดวงกูรูด้านออนไลน์ในประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียแอปฯ นี้ก็กำลังเป็นที่น่าจับตามอง เพราะความคล้ายคลึงกับ WhatsApp และผู้พัฒนาแอปฯ นี้ก็เป็นอดีตซีอีโอของ NHN บริษัทแม่ของ LINE นั่นเอง

การมาทีหลังอย่าง WeChat ย่อมต้องมีอะไรเหนือกว่า นอกจากพื้นฐานเรื่องการใช้งานได้กับทุกระบบปฏิบัติการ ทั้ง iOS แอนดรอย วินโดว์โฟน ซิมเบียน เมื่อต้องแข่งกับ Line ที่มีฐานลูกค้า 8 ล้านราย และสติกเกอร์เป็นหมัดเด็ด WeChat จึงต้องเพิ่มความหลากหลายในการแชท นอกจากส่งข้อความอักษรได้แล้ว กดปุ่มส่งข้อความเสียง ส่งวีดีโอคลิป ส่งอีโมติคอน และมี moment ที่คล้ายกับการคอมเม้นท์บนเฟซบุ้ค แต่จะให้เฉพาะเพื่อนเท่านั้นที่จะเห็นคอมเม้นท์ได้

อีกจุดขาย ของ WeChat คือ การแบ่งปันข้อมูลผ่านหน้าโซเชียลและฟังก์ชั่นที่ใช้ตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดเชี่อมต่อ เช่น ฟังก์ชั่น ‘เชค Shake, Look Around และ ‘Drift Bottle เพื่อสนทนาและหาเพื่อนใหม่ใน WeChat จากในพื้นที่ใกล้เคียงและทั่วโลก

เกมการตลาด ของ WeChat ที่ต้องแข่งขันคู่แข่ง Line ที่มีผู้ใช้ 8-10 ล้านราย WeChat จึงเป็นแชทแอปฯแรก ต้องทุ่มทุนทำหนังโฆษณาออกทางทีวี ควบคู่ไปกับการใช้ Influencer ซึ่งเป็นกลยุทธที่ WeChat ใช้ในการสร้างฐานผู้ใช้ โดยเฉพาะการบุกตลาดในเอเชีย ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย ที่ต้องใช้ Influencer ด้านบันเทิงมาเป็นตัวจุดกระแส นั่นจึงเป็นที่มาของจับมือกับ “เอ็กแซ็กท์และซิเนริโอ” เปิดตัว Official Account รายแรกของ WeChat ในไทย

“เรามองว่าผู้บริโภคคนไทยชอบอะไรใหม่ๆ เมื่อเรามีสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกเรื่อง คือการหาพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยสร้างคอนเท้นท์”

กฤตธี มองว่า การขยายฐานลูกค้า WeChat ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะคนไทยชื่นชอบสินค้าและบริการใหม่ๆ ซึ่ความหลากหลายและความง่ายในใช้งานของ WeChat จะดึงดูดผู้ใช้มาได้ในเวลาไม่นาน แต่ความท้าทายมากกว่านั้น คือ การดึงดูดให้ลูกค้าให้อยู้กับเครือข่ายได้นานที่สุด นั่นคือ ที่มาของ โมเดลการหาพาร์ทเนอร์ ที่เป็นแบรนด์ต่างๆ มาเข้าเป็น Official Account ได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“จะเป็นคอนเท้นท์อะไรก็ได้ ข้อตกลงอย่างเดียว คือ เขาต้องเมนเทนให้ได้ ต้องส่งข้อความสืได้วันละครั้ง และต้องเป็นข้อความที่ดึงดูดลูกค้า สิ่งที่เราต้องการ คือ การมีคอนเท้นท์เพื่อสร้างฐานลูกค้า เราจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี ในการสร้างฐานตรงนี้ รายได้ยังไม่ใช่เป้าหมายของ WeChatในเวลานี้ ”

สิ่งที่ WeChat ต้องการ คือ การวางตัวเองเป็น online marketing platform ให้แบรนด์ต่างๆ มาใช้พื้นที่ในการสื่อสารกับลูกค้า แจ้งข่าวสาร ทำแคมเปญ และกิจกรรมการตลาดกับลูกค้า ดารา นักร้องใช้สื่อสารกับแฟนคลับ ได้ฟรี ซึ่งคอนเทนท์ จะเป็นได้ทั้งข้อความ วีดีโอคลิป อิโมติคอน เกมต่าง การ์ตูนน่ารักๆ ซึ่งWeChatทำเห็นผลมาแล้วในจีน ฮ่องกง และไต้หวัน

สำหรับ WeChatแล้ว กลไกของการเป็น Open platform จะช่วยให้ WeChat มีคอนเท้นท์หลากหลาย ใช้เป็นแม่เหล็กในการใช้ดึงดูดลูกค้า ทั้งบันเทิง กีฬา ข่าวสารส่วนลดสินค้าและบริการ ซึ่งแบรนด์ต่างๆ มีฐานแฟนคลับของตัวเอง

ยิ่งมีแบรนด์มาใช้พื้นที่มากเท่าไหร่ เท่ากับว่า WeChat จะมีคอนเท้นท์ที่หลากหลายในการดึงดูดลูกค้าแมสมากเท่านั้น

เป็นกลไกแบบเดียวกับ ที่ เฟซบุ้ค ทำสำเร็จมาแล้ว โดยไม่ได้มองเรื่องการหารายได้ก่อนในระยะแรก และด้วยฐานเงินทุนการเป็นยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตในจีน และกำลังขยายไปทั่วโลก ทำให้ WeChat มีเวลามากพอ ในการหาพันธมิตร สร้างคอนเท้นท์ เพื่อปูทางไปสู่การเป็น Application Mobile platform ทางด้านสื่อสารในอนาคตอันใกล้

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ apapter digital agency ให้ความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า WeChat จะมายึดครองตลาดต่อจาก LINE ได้หรือไม่

แต่สำหรับออนไลน์ เอเยนซี่ เลือก แอปฯ ไหนเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการตลาด ะดูจาก แนวโน้มการเติบโตของผู้ใช้งาน อาจจะเป็นดูสถิติแบบเดือนต่อเดือน และเอื้อต่อการทำตลาดหรือไม่ เช่น มีบริการที่ดี สะดวก แอปฯถูกโปรโมทต่อเนื่อง

อรรถวุฒิ มองว่า ในเบื้องต้น WeChat ได้ประโยชน์เรื่องความสะดวกในการติดต่อ แต่จุดเด่นของ LINE ที่แอปพลิเคชั่นอื่นยังตามไม่ทัน ก็คือ เช่น LINE Pop, LINE Camera ส่วนจุดด้อยของ LINE น่าจะเป็นเรื่องความเยอะของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบริการ Voice Call ทำให้ส่งข้อความได้ช้า

รวมถึง Official LINE หลายแบรนด์เข้ามาใช้บริการเยอะมาก และส่งข้อความเยอะเกินไป โดยในประเทศไทยมีแบรนด์ต่างๆ หันมาใช้ Official LINE

ต้องจับตาดูว่า นับจากนี้เป็นต้นไป เมื่อผู้มาใหม่อย่าง WeChat มีจุดเด่นเรื่องฐานเงินทุน จะคว่ำแชมป์อย่าง Line จากญีปุ่นที่ครองใจคนไทย 10 ล้านราย ได้หรือไม่ ติดตามอ่านสกู๊ป ศึกแชทกระจาย WeChat ปะทะ Line ได้จากการดาวโหลดแอปพลิเคชั่น Positioning on Ipad และ www.positioningmag.com

WeChat LINE
จุดแข็ง – งบลงทุนสูง
– มีสนุก ดอท คอม เป็นฐาน ทำให้ขายบริการและพัฒนาคอนเทนท์ที่เหมาะกับผู้ใช้ได้ง่าย
– ทำตลาดมาก่อน และผู้บริโภคใช้งานจนติด
– บริการอื่นที่สนุกและเชื่อมโยงกันได้ดี
จุดอ่อน – การทำตลาดนอกประเทศจีน
– ยังไม่มีฟังก์ชั่นที่ต่างจาก LINE ชัดเจนนัก ในตอนนี้
– ไม่มีออฟฟิศหรือตัวแทนในไทย เจ้าของสินค้าหรือเอเยนซี่ติดต่อยาก
ฟังก์ชั่นเด่น – Video Call ที่ตอนนี้ LINE ยังใช้ไมได้ แต่จะเป็นประโยชน์สูงสุดเมื่อ 3G ใช้ได้จริง – สติ๊กเกอร์ เสน่ห์ที่ผู้ใช้ยังติดใจ
ความท้าทาย – การแย่งชิงเป็นแอปฯแชทเบอร์ 1 เพราะผู้ใช้งานมักเปิดใช้แอปฯ ไม่มากนัก – รักษาระดับความฮิตให้ผู้เล่นไม่เบื่อ