สินค้าเกษตรอินทรีย์ : โอกาสของไทยในตลาดโลก

ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องแนวนโยบายการปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มโอ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 นั้นมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้เข้าใจ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีเหตุผลที่ขัดแย้งกันมากในด้านวิชาการ ซึ่งท่ามกลางกระแสข่าวดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงทางเลือกของไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่สอดรับกับการผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก

เกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลในการปรับทิศทางการผลิตในภาคการเกษตรใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์โลก โดยไทยมีโอกาสในการที่จะหันไปผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้เริ่มหันมาสนใจบริโภคอาหารที่ผลิตโดยปราศจากสารเคมีตกค้าง และการผลิตนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการไม่ใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีโอกาสเติบโตอย่างมาก ซึ่งไทยก็เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีโอกาสที่จะก้าวไกลในตลาดโลก

เกษตรอินทรีย์คืออะไร

การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นมีหัวใจสำคัญคือต้องไม่มีการใช้สารเคมีใดๆในขั้นตอนการผลิต ซึ่งการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ใช่การตรวจสอบเฉพาะสินค้าที่ผลิตแล้วเท่านั้น แต่กระบวนการตรวจสอบจะต้องย้อนไปตรวจสอบถึงแหล่งผลิต ตั้งแต่ดินที่จะใช้ปลูก น้ำ สภาพแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารกำจัดแมลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และไม่มีการใช้สารตัดแต่งพันธุกรรมในการผลิต ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

โดยหลักการเลือกพื้นที่สำหรับทำเกษตรอินทรีย์นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรทั่วๆไปที่มีการใช้สารเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี และมีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ หลังจากนั้นเกษตรกรจะเข้าสู่ระยะปรับเปลี่ยนซึ่งถือเป็นช่วงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยทั่วไปช่วงระยะการปรับเปลี่ยนของการที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประเภทพืชล้มลุก(ผักและพืชไร่)จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน ส่วนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประเภทไม้ยืนต้นช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน เมื่อผ่านระยะการปรับเปลี่ยนแล้วผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้จึงจะถือว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์

สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ หลังจากผ่านการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2543 โดยคณะทำงานเฉพาะกิจปรับปรุงมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทยและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนอกจากการกำหนดมาตรฐานพืชอินทรีย์แล้ว ทางกระทรวงเกษตรฯยังดำเนินกำหนดมาตรฐานสัตว์น้ำอินทรีย์และปศุสัตว์อินทรีย์ทั้งนี้เพื่อให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในประเทศนั้นครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกประเภท ซึ่งเมื่อนำสินค้าเกษตรอินทรีย์เหล่านี้ไปแปรรูปก็ยังถือว่าสินค้าอาหารเหล่านั้นเป็นสินค้าอินทรีย์ด้วย

ในปัจจุบันผู้บริโภคจะพบสินค้าเกษตรที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ระบุว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรไร้สารพิษหรือสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ สินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษหรือสินค้าเกษตรอนามัย และสินค้าเกษตรทั่วๆไป ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้ได้โดยการพิจารณาตรารับรองเป็นหลัก ซึ่งสินค้าเกษตรต่างๆเหล่านี้มีขั้นตอนการผลิตแตกต่างกันกล่าวคือ

– เกษตรอินทรีย์ ด้านปัจจัยการผลิต ห้ามใช้พืชหรือสัตว์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนสังเคราะห์ คำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม และความสมดุลทางธรรมชาติ โดยมีมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบรับรองจากสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานระหว่างประเทศ

– สินค้าเกษตรไร้สารพิษหรือสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ด้านปัจจัยการผลิต สามารถใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดเชื้อราและฮอร์โมนสงเคราะห์ได้ แต่ต้องไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง และสารเคมีในการกำจัดวัชพืช อย่างไรก็ตามไม่ระบุถึงการห้ามใช้สินค้าตัดแต่งพันธุกรรม เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก ปัจจุบันชมรมกสิกรรมไร้สารพิษ และชมรมเกษตรธรรมชาติเป็นผู้รับรองคุณภาพสินค้า

– สินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษหรือสินค้าเกษตรอนามัย ด้านปัจจัยการผลิต ไม่ได้ระบุถึงการห้ามใช้สินค้าตัดแต่งพันธุกรรม ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ยังมีสารพิษตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 163 พ.ศ. 2538 โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ดูแลและตรวจสอบคุณภาพสินค้า นอกจากนี้สำหรับสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษที่เรียกกันว่าผักอนามัยนั้นผู้ที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าคือ กรมวิชาการเกษตร

– สินค้าเกษตรทั่วไป เป็นสินค้าเกษตรที่หาซื้อได้ทั่วๆไป ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีตรารับรอง เพียงแต่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีการบรรจุหีบห่อที่สะดวกในการซื้อมากกว่าในตลาดสดเท่านั้น ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้มีการตรวจสุ่มตรวจสอบปริมาณสารเคมีตกค้างทั้งในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตของกระทรวงสาธารณสุขตามโครงการอาหารปลอดภัย

การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย มีดังนี้

1.การรับรองว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในตลาดนั้นเป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นโดยอาศัยขบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์(Organic Farming) อย่างแท้จริงทั้งนี้เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในสินค้าอินทรีย์ที่มีวางขายอยู่ในปัจจุบันถือเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย(มกท.)คือ สถาบันที่วางรากฐานและควบคุมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(Organic Farming Standards) ซึ่งมาตรฐานนี้ได้ถูกนำมาใช้โดยกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสถาบันอาหารออร์แกนิก(Organic Foods) ตามข้อกำหนดแล้ว ไร่ที่สมัครขอใช้มาตรฐานอินทรีย์จะได้รับการรับรองว่าเป็นไร่เกษตรอินทรีย์ โดย มกท. จะต้องใช้เวลา 12 เดือน หลังจากวันที่เริ่มดำเนินการตามมาตรฐานและสินค้าที่ผลิตได้ในไร่ก็จะได้รับการรับรองและเรียกว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์”

2.การรับรองโดยองค์กรในต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐาน มกท.ได้ขอรับการรับรองระบบจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ(IFOAM)เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า มาตรฐานดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างถูกต้อง และเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับสากล และในเดือน พฤศจิกายน 2544 มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming Standards)ที่ถูกจัดวางขึ้นโดย มกท. นี้ ก็ได้ถูกรับการรับรองระบบอย่างเป็นทางการจากสถาบัน IFOAM ทำให้สินค้าออร์แกนิก ที่ถูกผลิตขึ้นโดยอาศัยมาตรฐานดังกล่าว

สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย…โอกาสที่เปิดกว้างในตลาดโลก

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกนับว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยคาดว่ามูลค่าการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี 2546 สูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับในปี 2540 ที่มีมูลค่าเพียง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราการเจริญเติบโตในแต่ละตลาดแตกต่างกันอยู่ที่อัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10-50) และคาดว่าในระยะ 5 ปีต่อไปตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2551 มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของตลาดเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20-30 ต่อปี

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในปัจจุบันคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(โดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส) และญี่ปุ่น สำหรับในอนาคตตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีอัตราการขยายตัวอย่างโดดเด่นคือ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ส่วนสินค้าเกษตรที่ความต้องการยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ผลไม้เมืองร้อนทั้งประเภทสดและตากแห้ง ผัก ธัญพืช รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะอาหารแปรรูป และขนมขบเคี้ยว

จากการสำรวจคาดว่าเนื้อที่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก ประมาณ 15.8 ล้านเฮกตาร์(98.75 ล้านไร่) โดยพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดคือ ออสเตรเลีย 7.6 ล้านเฮกตาร์(47.5 ล้านไร่) รองลงมาคืออาเจนตินา 3 ล้านเฮกตาร์(18.75 ล้านไร่) และอิตาลี 1 ล้านเฮกตาร์(6.25 ล้านไร่) ปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีการขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามเนื้อที่ของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในแต่ละประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ

กล่าวคือ ยังไม่มีประเทศใดที่สัดส่วนของเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ถึงร้อยละ 1 ของเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมด ปัจจุบันประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ คือ จีน อินเดีย และศรีลังกา โดยที่จีนมีเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 8,517 เฮกตาร์(53,231 ไร่)ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.002 ของเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมด จีนส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับอินเดียเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 0.001 ของเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรทั้งประเทศ โดยผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญคือ เครื่องเทศและสมุนไพร ถั่ว ธัญพืช และน้ำมันหอมระเหย และสำหรับศรีลังกาเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของเนื้อที่ผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมด สินค้าเกษตรอินทรีย์หลักที่ผลิตคือ โกโก้ กาแฟ มะพร้าว น้ำมันหอมระเหย ชา และวานิลลา

ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

ผู้บริโภคในตลาดโลกถึง 1 ใน 3 เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนของกระแสการรักษาสุขภาพ และกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงแนวโน้มที่แจ่มใสของสินค้าเกษตรอินทรีย์ คือ ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้ามาอยู่ในช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก โดยเฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคในปัจจุบัน จากที่สินค้าเกษตรอินทรีย์เคยจัดจำหน่ายในมุมเฉพาะ ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ และการจัดจำหน่ายโดยตรงของเกษตรกร อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 อันดับแรกคือ รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ มีปริมาณการผลิตที่สม่ำเสมอ การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และราคา ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ป้อนตลาดต้องตระหนักถึงปัจจัยสำคัญเหล่านี้

2.มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร

โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัย และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีข้อตกลงที่จะดำเนินนโยบายเขตการค้าเสรีระหว่างกัน โดยการลดภาษีและลดการอุดหนุนต่างๆที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ทำให้แต่ละประเทศเริ่มหันมาเข้มงวดในมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบปริมาณสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ และการใช้สารเคมีต้องห้ามในขั้นตอนการผลิต ดังนั้นบรรดาประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจึงปรับการผลิต โดยการหันมาขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลหลายประเทศมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การศึกษาวิจัยการผลิต การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตรงตามความต้องการของตลาด

3.การปรับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งในด้านการผลิต การค้า การตรวจสอบสินค้า และมาตรฐานฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าหลักสำคัญในการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์คือ การตรวจสอบถึงระดับขั้นตอนการผลิตว่าไม่มีการใช้สารเคมี แต่ในปัจจุบันแต่ละประเทศต่างก็มีการกำหนดมาตรฐานรายละเอียดในการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นองค์กรระหว่างประเทศได้แก่ โคเด็กซ์(Codex Alimentarius)ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก และสมาพันธ์ผู้ผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์นานานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM) มีการดำเนินการที่จะสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการปรับมาตรฐานดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน และทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในตลาดโลกแยกเป็นดังนี้

1.สหรัฐฯ

จากการศึกษาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในสหรัฐฯมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20-25 ต่อปีตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 จากที่มีมูลค่าเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2533 และมีการคาดหมายว่าในปี 2548 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนอเมริกันยังคงต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสินค้าประเภทของสดจะมีสัดส่วนตลาดมากที่สุดในบรรดาสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แต่ก็เป็นสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุด กล่าวคือ สินค้าประเภทของสดมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 8 ต่อปี ในขณะที่อาหารประเภทอื่นๆโดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป อาหารสำหรับทารก เบเกอรี่และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช มีอัตราขยายตัวร้อยละ 39 ต่อปี ผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 36 และเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ร้อยละ 30

โอกาสของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่
-สินค้าเกษตรเมืองร้อนที่ไม่สามารถผลิตได้ในสหรัฐฯ เช่น กาแฟ โกโก้ ชา ผักผลไม้เมืองร้อน(ทั้งประเภทสดและแปรรูป) เครื่องเทศและสมุนไพร ผลไม้ตากแห้ง ถั่ว เป็นต้น
-สินค้าเกษตรนอกฤดูกาล โดยเฉพาะผักและผลไม้
-สินค้าเกษตรในฤดูกาล โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากในบางช่วงสินค้าเหล่านั้นผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ
-สินค้าเฉพาะประเภทหรือสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะเจาะจง ได้แก่ ไวน์คุณภาพพรีเมี่ยม สินค้าประเภทอาหารที่บรรจุสำหรับการค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันผู้ครอบครองตลาดสินค้าประเภทนี้คือ สหภาพยุโรป

2.สหภาพยุโรป

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปนั้นมีขนาดใหญ่รองลงมาจากตลาดสหรัฐฯ จากการศึกษาพบว่าความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศในสหภาพยุโรปมีอัตราการขยายตัวระหว่างร้อยละ 0-20 ซึ่งในปี 2546 มูลค่าการค้าปลีกของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปสูงถึง 12,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศที่มีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากเป็นอันดับหนึ่งในสหภาพยุโรปคือ เยอรมนีซึ่งมีมูลค่าการค้าปลีกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี 2546 เท่ากับ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ อังกฤษ 2,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อิตาลี 1,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฝรั่งเศส 1,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดสวีเดน เดนมาร์ก และออสเตรีย

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่จะจำหน่ายในร้านจำหน่ายเฉพาะ และการขายตรงถึงผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตขยายตัวอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าคนในสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 35 บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นประจำ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปเริ่มหวาดกลัวอันตรายจากอาหาร อันเป็นผลจากการมีข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการแพร่ระบาดของโรคในปศุสัตว์ และการตรวจพบสารเคมีตกค้างในอาหารประเภทต่างๆ

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการเติบโตของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหภาพยุโรป คือ การขยายจำนวนสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยรวมประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มว่าการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จะย้ายฐานจากประเทศที่กำลังพัฒนามาผลิตในประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้แรงงาน เช่น สมุนไพร เบอร์รี่(Berries) ดังนั้นจึงต้องจับตามองว่าในอนาคตประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปจะกลายเป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยหรือไม่

3.ญี่ปุ่น

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นนั้นได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากนับได้ว่าเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก ซึ่งมีการคาดหมายว่าในไม่ช้านี้ปริมาณการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อหัวของคนญี่ปุ่นจะสูงที่สุดในโลก จากการศึกษาพบว่า มูลค่าการค้าปลีกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดญี่ปุ่นประมาณ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2550 มูลค่าการค้าปลีกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 56,000-74,000 ล้านออสเตรเลียดอลลาร์ (ประมาณ 39,400-52,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น คือ ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง สินค้าอาหารแปรรูปต่างๆ และผักผลไม้สดและแช่แข็ง ซึ่งจากการสำรวจตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นพบว่าแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์หลายประเภทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำผักและผลไม้ อโวคาโดสดและน้ำมันอโวคาโด ผักแช่แข็ง น้ำผึ้ง และชาสมุนไพร

ปัญหาของไทย…ประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข

ปัจจุบันทั้งรัฐบาลและเอกชนดำเนินการเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์หลากหลายประเภทเป็นการนำร่อง ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชผัก ผลไม้ เครื่องเทศและสมุนไพร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีคำสั่งซื้อจากตลาดสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง และผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ผลไม้อินทรีย์จำพวกมังคุด กล้วยหอม และทุเรียน ตลอดจนผัก โดยเฉพาะหน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน รวมทั้งผักในตระกูลสลัดทั้งหมดล้วนแต่เป็นที่ต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตามเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใดต้องการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่ควรทำโดยลำพัง แต่ควรจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจทั้งในด้านการผลิตและการตลาด เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยต้องมีการรายงานที่ยืนยันทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือการที่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยจะเข้าไปดำเนินการเพื่อควบคุมการผลิตในลักษณะของตลาดข้อตกลง(Contract Farming) ทั้งนี้เพื่อควบคุมให้สินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นได้มาตรฐานตามที่ประเทศคู่ค้าต้องการ อีกทั้งยังเป็นการตกลงกันในเรื่องราคา และปริมาณของสินค้าอีกด้วย

ปัญหาในระยะที่ผ่านมาสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย คือ

1.ความสับสนของเกษตรกรและผู้บริโภคในเรื่องมาตรฐานผลผลิตของเกษตรอินทรีย์และอาหารสุขภาพอื่นๆ

โดยเฉพาะความแตกต่างของมาตรฐานผลผลิตเกษตรปลอดภัยจากสารพิษหรือสินค้าเกษตรอนามัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษหรือไร้สารพิษ คือ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเกษตรกรและผู้บริโภคยังไม่มีความรู้เพียงพอในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในประเด็นนี้ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้คำแนะนำและให้คำปรึกษากับเกษตรกร รวมทั้งการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้การเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจในเรื่องสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้เพื่อขยายฐานผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ถึงหลักเกณฑ์การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่อิงมาตรฐานสากลก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรไทย คือ ข้าว ผักผลไม้เมืองร้อน เครื่องเทศ สมุนไพร ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ประมงโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไทยมีความได้เปรียบในการผลิต และสินค้าไทยเป็นที่รู้จักอย่างดีในตลาดโลก ดังนั้นการหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเภทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเท่ากับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.ปัจจุบันมีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพียงไม่กี่ชนิด

เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ การผลิตจึงยังเป็นการผลิตแบบง่ายๆที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน และเป็นการผลิตสินค้าเกษตรพื้นฐาน เช่น ข้าว ผัก ผลไม้สด เป็นต้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยังมีอยู่น้อย เพราะวัตถุดิบมีปริมาณไม่มากและปริมาณการผลิตยังขาดความต่อเนื่อง คาดว่าปัจจุบันมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดอยู่ประมาณไม่เกิน 6,000 ตันต่อปี

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งให้การส่งเสริมและคำปรึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นการช่วยในการเจาะขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3.ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ในเกณฑ์สูง

เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์แพงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15-30 ในกรณีของเกษตรกรรายย่อย และประมาณร้อยละ 5-10 ในกรณีของเกษตรกรรายใหญ่หรือเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหรือสหกรณ์ ทำให้ตลาดยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง สาเหตุที่สินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาแพงก็เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าการทำเกษตรกรรมปกติ และต้องใช้แรงงานในการดูแลโดยเฉพาะในเรื่องการกำจัดแมลงศัตรูมากกว่า นอกจากนี้การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีโอกาสที่จะถูกศัตรูพืชสร้างความเสียหายได้ง่ายถ้าเกษตรกรไม่รู้จักวิธีป้องกันอย่างถูกวิธี ทำให้เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตแล้วจะสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป อย่างไรก็ตามคาดว่าเมื่อมีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มจะลดลง และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ในด้านการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคต ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด แต่ก็นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20-30 ต่อปี โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีแนวโน้มการส่งออกที่แจ่มใสคือ ข้าว กาแฟ พืชผัก ผลไม้ เครื่องเทศและสมุนไพร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีคำสั่งซื้อจากตลาดสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง และผลผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ผลไม้อินทรีย์จำพวกมังคุด กล้วยหอม และทุเรียน ตลอดจนผักจำพวกหน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน รวมทั้งผักในตระกูลสลัดทั้งหมดล้วนแต่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

บทสรุป

ไทยยังมีโอกาสอย่างมากที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันนี้สินค้าเกษตรที่ไทยผลิตส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเป็นสินค้าเกษตรอนามัยคือ ลดปริมาณการใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรทั้งที่จำหน่ายในประเทศและส่งออก ซึ่งถ้าได้มีการพัฒนาต่อยอดความเข้มงวดในการผลิตไปถึงระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์คือไม่มีการใช้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเลยก็จะทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

อุปสรรคของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีทั้งในด้านการผลิตและการตลาด โดยปริมาณการผลิตยังไม่มากนัก เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรทั่วไป และราคาอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งแหล่งผลิตยังค่อนข้างกระจายตัว ทำให้ต้นทุนในการรวบรวมและขนส่งอยู่ในเกณฑ์สูงไปด้วย ส่วนในด้านการตลาดนั้นตลาดในประเทศยังค่อนข้างแคบ แม้ว่าคนไทยมีแนวโน้มหันมาบริโภคมากขึ้น แต่คนไทยยังคงต้องการความมั่นใจว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ปลอดสารเคมีแท้จริง

เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรทั่วไป ซึ่งปัญหาทั้งในด้านการผลิตและการตลาดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น และการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น ส่วนโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยจะมีลู่ทางส่งออกได้มากขึ้น โดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้าโดยผ่านหน่วยงานที่รับรองว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามหลักมาตรฐานสากล และต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น