ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ประสาทวิทยา ต่อมไร้ท่อ และศัลยแพทย์หลอดเลือดรวมตัวจัดตั้งโครงการให้ความรู้โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน –เน้นการให้การรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดปริมาณผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวและโรคที่เกี่ยวข้อง รายงานองค์การอนามัยโลกชี้โรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โชว์ตัวเลข เสียชีวิตเพราะโรคนี้กว่า 55.7 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึงกว่า 2 เท่า
พลโท นพ. ประวิชช์ ตันประเสริฐ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก ประธานโครงการให้ความรู้โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการให้ความรู้โรคหลอดเลือดแดงตีบตันว่า โรคหลอดเลือดแดงตีบตันเป็นโรคที่มีความรุนแรง โดยจะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน และการตีบของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2544 พบว่าโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ถึง 55,694,000 คน (คิดเป็น 52% ของสาเหตุการตายทั้งหมด) ในขณะที่โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายของประชากร 25,704,000 คน (คิดเป็น 24% ของการตายทั้งหมด) ในส่วนของประเทศไทยเองนั้น
“แม้จะเป็นโรคที่มีความรุนแรง และสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัย แม้จะมีการสะสมของตะกรันไขมันในหลอดเลือดเกิดขึ้นก็ตาม เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการนำบางอย่าง อาทิ อาการชาบริเวณใบหน้า แขน และขาอ่อนแรง ชา เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ ตามัวหรือมองไม่เห็น เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยขา และ แผลเรื้อรังที่เท้า ซึ่งอาจทำให้แพทย์หันไปวินิจฉัยที่อวัยวะเหล่านั้นแทน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา และดูแลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที” พลโท นพ.ประวิชช์ กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัน มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง พันธุกรรม หรือภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
ในส่วนของการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบตันนั้น พลโท นพ.ประวิชช์ กล่าวว่านอกจากการใช้ยาบางชนิด เช่นยาลดความดันเลือด ยาลดระดับไขมัน หรือยาต้านเกร็ดเลือด รวมไปถึงการถ่างขยายหลอดเลือดด้วยอุปกรณ์ หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหรือใส่ขดลวดเพื่อถ่างหลอดเลือด ผู้ป่วยสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยหันมาเลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
“การเลือกวิธีรักษาภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันนี้จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตันระยะยาวรวมถึงวิธีการป้องกันการตีบเพิ่มขึ้นนั้น วิธีที่ได้ผลคือการใช้ยาต้านเกร็ดเลือด เนื่องจากเกร็ดเลือดมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดก้อนอุดตันในหลอดเลือด ดังนั้นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือดจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการรักษาภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัน” พลโท นพ. ประวิชช์กล่าวสรุป
จากความรุนแรงของโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถเกี่ยวเนื่องไปยังโรคอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้ในทั้งทางตรงและอ้อมอันได้แก่ แพทย์ด้านโรคหัวใจ แพทย์ด้านประสาทวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และศัลยแพทย์หลอดเลือด จากสถาบันและโรงพยาบาลต่างๆ ประกอบด้วย พลโท นพ. ประวิชช์ ตันประเสริฐ รศ.นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา นพ. ดำรัส ตรีสุโกศล นพ. วศิน พุทธารี รศ.พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ ศ.พญ. ดิษยา รัตนากร รศ.นพ. สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ และนพ. ธำรงโรจน์ เต็มอุดม จึงได้จัดตั้งโครงการให้ความรู้โรคหลอดเลือดแดงตีบตันขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดแดงตีบตันแก่แพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางต่างๆ ให้มีความเข้าใจโรคดังกล่าวมากขึ้น และสามารถวินิจฉัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
“โครงการให้ความรู้โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน เป็นโครงการที่จะสร้างเครือข่ายของแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐาน พร้อมทั้งสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวกับโรคนี้ โดยกิจกรรมแรกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ณ โรงแรม รอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท คือการประชุมทางวิชาการเรื่อง “Atherothrombosis: The hidden face of global risks” เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคดังกล่าวกับแพทย์ทั่วไปให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น