รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาหนึ่งที่พบมากระหว่างการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดนั้น คือการที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำ คะยั้นคะยอ หรือกระตุ้นจากบุคคลรอบข้างให้ทดลองใช้ยาชนิดต่างๆ พร้อมทั้งยืนยันประสิทธิผลของยานั้น ซึ่งผู้ป่วยเองที่มีความอ่อนไหว และต้องการหายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือบางครั้งเกิดความเกรงใจบุคคลที่แนะนำหรือจัดหายามาให้ด้วยความหวังดีก็รับยาเหล่านั้นเข้าไป จนเกิดผลกระทบต่อร่างกาย และการรักษาที่กำลังกระทำอยู่ได้ และในบางรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี
“คนไทยเราเป็นคนมีน้ำใจ และอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เมื่อเห็นผู้ป่วย ก็อยากจะแนะนำให้ใช้ยาที่อาจจะเคยใช้แล้วหาย หรือได้ยินมาว่าเป็นยาดี แต่เจตนาดีเหล่านั้น บางครั้งก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยหรือการรักษาตามขั้นตอนที่ดำเนินมาได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยทุกคนมีความแตกต่างทางกายภาพ การตอบสนองต่อยา หรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ ก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินนั้น อาการของโรคจะปรากฏขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นอากาศ สิ่งแวดล้อม ความเครียด รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าไปในร่างกายด้วย”
“กรณีที่น่าเศร้าสลดมากที่สุดกรณีหนึ่งคือผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินท่านหนึ่ง รับประทานยาหม้อที่มีผู้หวังดีแนะนำ และต้มมาให้รับประทาน แต่ปรากฏว่าในยานั้นมีสารหนูปนเปื้อน และสารหนูดังกล่าวเข้าไปทำปฏิกิริยา และส่งผลให้เกิดการแบ่งเซลล์ผิดปกติ จนก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และทำให้ผู้ป่วยท่านนั้นเสียชีวิตในที่สุด นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง และหมอไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก จึงอยากวอนขอให้ประชาชนทั่วไป ทำความเข้าใจกับการแนะนำ หรือสั่งยาให้กับผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่างๆ เพราะความหวังดีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลร้ายที่คาดไม่ถึงได้เช่นเดียวกับกรณีนี้” พญ.พรทิพย์กล่าวสรุป
ในส่วนของการรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม เนื่องจากการรักษาแต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อาทิ การรักษาด้วยยารับประทานนั้น แม้จะไม่ยุ่งยากในการรับยา แต่ผู้ป่วยต้องมาเจาะเลือดเพื่อตรวจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย การรักษาด้วยการทายาก็มีความยุ่งยากในการทายาซึ่งบางครั้งเหนียวเหนอะหนะหรือมีกลิ่นไม่น่าพิสมัย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาด้วยการฉายรังสีก็มีความยุ่งยากมากที่สุด และมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผิวหนังไหม้เกรียม หรือแม้แต่ทางเลือกใหม่ในการรักษาด้วยยาฉีดกลุ่มไบโอโลจิค ที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์บางตัวอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคสะเก็ดเงินนั้น แม้จะมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่ก็ยังมีราคาที่สูงมากอยู่
“การรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้น ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจอย่างมาก นอกเหนือจากการรับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องแล้ว ผู้ป่วยเองต้องสามารถยอมรับว่าโรคนี้ไม่หายขาด และต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยในเบื้องต้นควรทำความเข้าใจกับโรค และการรักษาให้ดีที่สุดก่อน ซึ่งในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน นี้ ทางชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดให้มีการสัมมนาให้ความรู้เรื่องความก้าวหน้าในการรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นการสัญจรไปยังภูมิภาคเป็นครั้งแรกอีกด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ” พ.ญ.พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
งานสัมมนาเชิงวิชาการ และให้ความรู้ในหัวข้อ “ความก้าวหน้าในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน” ขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 จัดขึ้นระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยช่วงเช้าจะเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการแก่แพทย์ และช่วงบ่ายจะเป็นรอบสำหรับผู้ป่วย และผู้สนใจทั่วไป ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และแจ้งความจำนงเข้าร่วมงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ที่ คุณพัชรินทร์ ปันดองตอง หน่วยวิชาโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5394-6765, 0-6911-0331 หรือ Email: [email protected]
เกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง พบได้ทุกเพศ ทุกวัยและพบเป็นในคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก เกิดจากการที่ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังยังไม่สมบูรณ์ จากการศึกษาพบว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อาการของโรคสะเก็ดเงิน คือผู้ป่วยจะเป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเงินปกคลุม เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ที่ศีรษะมีขุยขาวมักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า โดยอาจมีอาการปวดข้อ และการเปลี่ยนแปลงของเล็บร่วมด้วย เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อนลอกเป็นขุยขาว หรือเป็นหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ