(กรุงเทพ – 1 พฤศจิกายน 2548) – เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงพันธกิจต่อชุมชนงานวิจัยเชิงวิชาการ แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ (Microsoft Research) ประกาศให้เงินทุนวิจัยในโครงการ Digital Inclusion มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มและขยายโอกาสแก่นักวิจัยวิชาการทั่วโลกในการรับมือกับความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่แวดวงสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐศาสตร์สังคม
การเชื่อมโยงในโลกดิจิตอลได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจ การศึกษา และพัฒนาการทางสังคมในระดับโลก แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์จึงได้ส่งเสริมให้มีการนำเสนอโครงการวิจัยเชิงวิชาการที่จะค้นพบความสามารถของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครือข่าย ในการปลดปล่อยศักยภาพของผู้คน ในทุกที่ทุกเวลา ด้วยการทำให้คอมพิวเตอร์ราคาถูกลง สามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานได้
มร. ริค ราชิด รองผู้อำนวยการอาวุโสแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “การเชื่อมโยงกันทั้งในส่วนของบุคคลและข้อมูลข่าวสารจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจ การศึกษา และพัฒนาการทางสังคม ความท้าทายที่สำคัญหลายๆ ประการยังคงรอการแก้ไขเพื่อให้เกิดการผลักดันไปสู่การนำดิจิตอลมาใช้ (Digital Inclusion) ในระดับโลก เราหวังว่าโครงการนี้จะกระตุ้นให้นักวิจัยจำนวนมากสนใจประเด็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ก้าวเข้าไปใกล้การนำดิจิตอลมาใช้ในระดับโลกอีกขั้นหนึ่ง”
มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นักวิจัยเชิงวิชาการในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เข้าร่วมโอกาสระดับโลกครั้งนี้ ซึ่งความริเริ่มดังกล่าวเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการผลักดันและความมุ่งมั่นของเราที่จะส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้วยการสร้างทักษะและทำนุบำรุงสปิริตความเป็นเจ้าของกิจการในหมู่นักวิชาการและนักวิจัยด้านไอที ซึ่งจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่งของประเทศไทย ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับคนในประเทศ”
มร. แอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้ทำการผลักดันโครงการไทยแลนด์ดอทเน็ตอย่างเต็มที่มากว่า 1 ปีเพื่อที่จะบรรลุพันธกิจระยะยาวของเราในการเปลี่ยนโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเว็บเซอร์วิสของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เราได้ทำไปแล้วคือการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 14 แห่งในโครงการ Academic Alliance และกำลังทำงานร่วมกันในเรื่องเว็บเซอร์วิส ซึ่งทุนวิจัยระดับโลกนี้ก็จะนับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทยที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเว็บเซอร์วิส และได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วย”
แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ให้ความสนใจเป็นพิเศษในโครงการวิจัยเชิงวิชาการที่มุ่งจะบรรลุแนวคิดพื้นฐานใหม่ๆ ตลอดจนขยายเพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับ
• โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ การก่อร่างองค์ประกอบและแอพพลิเคชั่นของอุปกรณ์เคลื่อนที่
• การเชื่อมโยง โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเครือข่ายอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือในสภาวะที่เครือข่ายและพลังงานไม่สม่ำเสมอ
• อินเตอร์เฟซที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ใช้งานในระดับที่มีความรู้หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้งานเทคโนโลยี
• การนำเทคโนโลยีที่มีอยู่และเกี่ยวข้องมาใช้งานกับคอมพิวเตอร์
การนำเสนอโครงร่างงานวิจัย Digital Inclusion ครั้งนี้นับเป็นการขยายโครงการของแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ต่อจากปีที่แล้วในประเทศอินเดียที่เรียกว่า โครงการนำเสนอโครงร่างงานวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับชุมชนที่ด้อยโอกาส (ICT4D) ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวคือการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์กระจายไปสู่ประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมาก่อน และเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนในชนบทและชุมชนที่ด้อยโอกาส
มร. บาลาจี ปาทาสาราที ผู้ชนะเลิศโครงร่างงานวิจัย (ICT4D) ของอินเดีย จากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดีย ในบังกาลอร์ กล่าวว่า “การให้ทุนจากองค์กรขนาดใหญ่อย่างแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราต้องเร่งสร้างงานวิจัยที่ถูกต้องและแม่นยำ ถึงแม้ว่าศักยภาพในแง่ของผลกระทบที่สำคัญทางสังคมและการทำงานอย่างมีความรู้ยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่างก็ตาม ในขณะที่อาจมีบางเทคโนโลยีสามารถจัดการกับความท้าทายหลายๆ ประการที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ด้อยโอกาส แต่ปัญหาก็คือความท้าทายเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งทำให้เกิดการเรียกร้องให้รวบรวมความต้องการที่จำเป็นต่างๆ ต่อผู้ใช้ โดยผู้ใช้เอง ผู้ออกแบบ และนักวิจัยต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”
แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์จะเปิดรับโครงร่างงานวิจัย Digital Inclusion ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2549 และจะประกาศรายชื่อของผู้ได้รับทุนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ทั้งนี้โครงร่างงานวิจัยควรจะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดผลต่างๆ จากโครงการที่ได้รับทุน รวมไปถึงการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานนั้นๆ โดยงานวิจัยดังกล่าวควรเปิดให้เข้าถึงได้ในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตแบบสาธารณะ หรือภายใต้การอนุญาตแบบไม่จำกัดเงื่อนไข ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเสนอโครงร่างได้ที่ http://www.research.microsoft.com./ur/us/funingopps
ข้อมูลเกี่ยวกับแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์
แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2534 เพื่อดำเนินการวิจัยทั้งในแบบพื้นฐานและแบบประยุกต์ในสาขาวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเสริมประสบการณ์ของผู้ใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ลดต้นทุนในการเขียนและดูแลรักษาซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ยังคิดค้นเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ อีกด้วย นักวิจัยของแผนกวิจัยไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากกว่า 55 เรื่อง และยังร่วมกับนักวิชาการ ข้าราชการ และนักวิจัยในอุตสาหกรรมเพื่อที่จะสร้างความก้าวหน้าแก่สาขาตางๆ อาทิ กราฟฟิก การสั่งงานด้วยเสียง การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เฟซสำหรับผู้ใช้งาน กระบวนการทางธรรมชาติของภาษา เครื่องมือในการสร้างโปรแกรม และระเบียบวิธีวิจัย ระบบปฏิบัติการและเครือข่าย รวมถึงศาสตร์ทางคณิตศาสตร์ แผนกวิจัยของไมโครซอฟท์มีเจ้าหน้าที่กว่า 700 คนในห้องฏิบัติการ 6 แห่งที่เรดมอนด์ วอชิงตัน ซานฟรานซิสโก ซิลิคอนวัลเลย์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองเคมบริดจ์ในประเทศอังกฤษ กรุงปักกิ่ง และบังกาลอร์ในอินเดีย กลุ่มวิจัยภายนอกและโปรแกรมในแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์มีหน้าที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ระดับโลกกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสร้างเสริมประสบการณ์ในการเรียนการสอน สร้างแรงจูงใจในนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และทำให้ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่มีคุณค่าแก่ภาคการศึกษาในระดับสูง ท่านสามารถชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.research.microsoft.com
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่าย และเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรมเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย