7 พฤศจิกายน 2548 – เมื่อเร็วๆ นี้ เดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ (The Asian Debt Fund) ได้นำเสนอกองทุนใหม่ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงออกสู่ตลาด โดยกองทุนดังกล่าวนี้จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีโอกาสลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูง (High yield debt market) ในตลาดเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น
กองทุน High Yield ที่ก่อตั้งขึ้นนี้ มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มตลาดสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งครอบคลุมเกือบครึ่งของตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงในเอเชีย ในขณะที่กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงแบบทั่วๆ ไปมักจะเจาะกลุ่มตลาดพันธบัตร และหลีกเลี่ยงตลาดสินเชื่อธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในการซื้อขายและยุ่งยากในการทำธุรกรรม
กองทุน High Yield ใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ หรือ TADF ซึ่งระดมทุนครั้งแรกไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพ (distressed debt) ในตลาดเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น ทั้งนี้ กองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ได้กลายเป็นหนึ่งในกองทุนประเภทเฮ็ดจ์ฟันด์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย โดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูงถึง 26.2% ในปี 2547 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลถึงสองรางวัลจากงาน Asian Masters of Hedge Fund Awards ที่จัดขึ้นในประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 กล่าวคือ รางวัลกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ (ประเทศสิงค์โปร์) ดีเด่น และกองทุนประเภท Distressed Fund ดีเด่นแห่งเอเชีย ปัจจุบัน กองทุนนี้มีมูลค่ารวม 178 ล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ (ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2548) และมีความสามารถในการที่จะเพิ่มทุนให้ได้ถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ
มร. โม อิบราฮิม ผู้จัดการกองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ มีความมั่นใจในกองทุน High Yield ใหม่นี้ โดยกล่าวว่า “ความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดสินเชื่อของธนาคาร ความสัมพันธ์ที่เรามีนั้นได้พัฒนามาจากการที่เราบริหารกองทุนหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญของเราในการเสาะหาทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในสินเชื่อของธนาคาร จุดแข็งของเราที่ได้เปรียบเหนือกองทุนผลตอบแทนสูงแบบทั่วไป คือการที่เรารู้และเข้าใจในส่วนงานสินเชื่อธนาคาร การแสวงหาและคัดเลือก รวมถึงการวิเคราะห็เป็นอย่างดี ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของเรา”
มร. อิบราฮิม กล่าวเสริมว่า “เรามีขั้นตอนในการเลือกเครดิต ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผันผวน และสร้างศักยภาพของกองทุนอันจะให้ผลตอบแทนสูงรวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยง กองทุนจะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาวและจะได้รับการบริหารความเสี่ยงโดยการลงทุนผ่านการลงทุนด้านอื่นๆ อาทิ ในทรัพย์สิน ในตลาดทุน และ credit default swaps การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทำได้หลายทาง โดยไม่เกินร้อยละ 10 จะไปที่รายบุคคล ร้อยละ 33 ในแต่ละประเทศ และร้อยละ 25 ในแต่ละอุตสาหกรรม และเป็นครั้งคราวที่ กองทุนอาจจะมีการกู้ยืมเป็นจำนวนสองเท่าของกองทุน เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เมอริลล์ ลินช์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว
ในด้านกลยุทธ์ของกองทุน มร. อิบราฮิมกล่าวต่อว่า ”กลยุทธ์ของเราคือ ความรวดเร็วปรับเปลี่ยนให้ทันเหตุการณ์ เราจะติดตามสถานการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดการลงทุนอย่างใกล้ชิด ตลาดหนี้ธนาคารที่ให้ผลตอบแทนสูงในเอเชียนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยจำนวนของบริษัทใหม่ๆ ที่มากขึ้นที่เข้ามาในตลาดทุนโดยใช้ตลาดเป็นแหล่งในการเพิ่มทุน นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่เพิ่งฟื้นจากการปรับโครงสร้างหนี้และจากการล้มละลาย จึงต้องการจะเพิ่มทุนผ่านทางตลาดกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงอันจะนำไปสู่การฟื้นฟูชื่อเสียงให้ได้กลับคืนมา”
ในขณะที่กองทุนหนี้ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่จะรวมทรัพย์สินที่ลงทุนอยู่ในบัญชีเดียว แต่กองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์จะบริหารทรัพย์สินที่ลงทุนโดยแบ่งแยกตามประเภทคุณภาพของทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความโปร่งใสกับนักลงทุนและสามารถยืดหยุ่นได้ โดยกองทุนจะหวังผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจจากรายได้ดอกเบี้ยและส่วนล้ำมูลค่าของทรัพย์สิน
กองทุน High Yield นี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
กองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ บริหารโดย เอดีเอฟ แมเนจเมนท์ (ADF Management) เอดีเอฟ แมเนจเมนท์ (ADF Management, Ltd. “ADFM”) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2546 ด้วยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางด้านการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท เจแปน เอเชีย อินเวสเมนท์ (Japan Asia Investment Co “JAIC”) ซึ่งเป็นบริษัทเวนเจอร์แคปปิตอลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น มร. โม อิบราฮิม เป็นผู้จัดการกองทุนเดอะเอเชียนเด็ทฟันด์ และเป็นผู้ก่อตั้ง Finansa Singapore Pte Ltd (FS) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสมทบ ของ ADFM และว่าจ้างทีมบริหารการลงทุนของกองทุนเดอะเอเชียเด็ทฟันด์