ทิศทางตลาดข้าวปี 2549 : ผลผลิตเพิ่ม…การค้าน่าเป็นห่วง

สถานการณ์ข้าวในปี 2549 จะแตกต่างจากในปี 2548 โดยมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลกฟื้นตัวจากภาวะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่การค้าข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวลดลง จากการที่หลายประเทศขยายปริมาณการผลิตข้าวภายในประเทศของตนเพิ่มขึ้น ดังนั้นการค้าข้าวในปี 2549 จะมีการแข่งขันแย่งตลาดรุนแรงมากขึ้นกว่าในปี 2548 ทำให้คาดหมายได้ว่าราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามไปด้วย

ปริมาณการผลิต…มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราคาจูงใจขยายการผลิต
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในปี 2548/49 เท่ากับ 615.3 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อเทียบกับในปี 2547/48 ซึ่งมีการผลิตเท่ากับ 606.0 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เนื่องจากคาดการณ์ว่าประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะในเอเชียมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์การผลิตข้าวในปี 2548/49 นั้นแตกต่างจากเมื่อปี 2547/48 เนื่องจากไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลกนั้นมีปริมาณการผลิตลดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประเทศผู้ผลิตข้าวที่น่าจับตามอง คือ จีนและเวียดนาม โดยทั้งสองประเทศนี้ผลผลิตข้าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนนั้นผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2547/48 เป็น 180.5 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และคาดว่าในปี 2548/49 ผลผลิตข้าวของจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนลดการนำเข้าข้าวลง โดยมีนโยบายส่งเสริมให้คนจีนบริโภคข้าวที่ผลิตได้ในประเทศ

สำหรับไทยคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวในปี 2548/49 นั้นจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 27.0 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 นับว่าเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการปลูก รวมทั้งปริมาณน้ำมีเพียงพอ ไม่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเช่นในปี 2547/48 อย่างไรก็ตามปัญหาที่ต้องพึงระวังคือ ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปียังคงมีฝนตกชุก ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว ทำให้ข้าวที่ผลิตได้มีคุณภาพลดลง เนื่องจากข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วมีปริมาณความชื้นสูง และโรงสีไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับตากข้าว

การค้าข้าวปี’49…ตลาดเป็นของผู้ซื้อ
ในปี 2549 การค้าข้าวในตลาดโลกคาดว่าจะลดลงเหลือ 25.9 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีปริมาณการค้าข้าว 27.0 ล้านตันแล้วลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย และรัสเซีย ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เท่ากับว่าในปี 2549 นี้ประเทศผู้ส่งออกข้าวจะต้องมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้นเพื่อแย่งตลาด และคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะมีแนวโน้มลดลง

สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในปี 2549 คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวน่าจะสูงกว่าในปี 2548 แต่มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อันเป็นผลมาจากราคาส่งออกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2548 เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งจากเวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2549 จะมีการแข่งขันในด้านราคาอย่างรุนแรง หรืออาจกล่าวได้ว่าตลาดเป็นของผู้ซื้อ เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวสามารถเลือกซื้อข้าวได้จากหลายแหล่ง และมีอำนาจในการต่อรอง

สถานการณ์การค้าข้าวในปี 2549 นั้นแตกต่างจากในปี 2548 ที่ทั้งไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง อันเป็นผลมาจากภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอในการทำนา ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงทั้งผลผลิตข้าวนาปีและนาปรัง รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่แทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคาข้าว ซึ่งทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ดังนั้นในปี 2548 นั้นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นสามารถส่งออกข้าวแทนที่ไทย กล่าวคือ การส่งออกข้าวของอินเดียมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ในปี 2548 อินเดียส่งออกข้าวมากถึง 4.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.0 ส่วนปากีสถานส่งออกข้าวมากในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูการผลิต โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน และคาดว่าปากีสถานสามารถขยายตลาดในจีนได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีข้อตกลงทางการค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ส่วนการส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามยกเลิกการจำกัดการส่งออกที่กำหนดไว้เพียง 3.8 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวของเวียดนามนั้นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ดังนั้นในปี 2548 การส่งออกข้าวของไทยเกือบทุกตลาดลดลง ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดโอเชียเนียเท่านั้นที่ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไปยังออสเตรเลีย ฟิจิ นิวซีแลนด์ และนิวคาลิโดเนีย กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมีปริมาณ 5.47 ล้านตัน มูลค่า 1,748.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 24.9 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ ส่วนตลาดโอเชียเนียนั้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ปริมาณการส่งออกข้าวเท่ากับ 0.1 ล้านตัน มูลค่า 70.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และร้อยละ 42.7 ตามลำดับ แม้ว่าตลาดโอเชียเนียนี้จะเป็นตลาดใหม่สำหรับการส่งออกข้าวของไทยแต่ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตลาดที่น่าสนใจ

บทสรุป
สถานการณ์ทางด้านการผลิตและการค้าข้าวในปี 2549 จะเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2548 โดยคาดว่าปริมาณการผลิตข้าวในแต่ละประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ทำให้คาดหมายได้ว่าการแข่งขันในการส่งออกข้าวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกต้องแย่งตลาด จึงมีแนวโน้มว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ประเด็นการค้าข้าวในปี 2549 ที่น่าติดตามคือ ไทยต้องเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยกลับคืนมา หลังจากที่เสียตลาดบางส่วนไปในปี 2548 และพยายามเจาะขยายตลาดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดโอเชียเนีย