ความเคลื่อนไหวของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมหลายประเภทในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ทั้งจากการเข้าซื้อ-ขายกิจการ การร่วมทุน การเคลื่อนย้ายหรือถอนทุนจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาร่วมทุนและการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการแข่งขันของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนค่อนข้างมากตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อีกทั้งแนวโน้มของราคาค่าบริการเริ่มลดลง การแข่งขันดังกล่าวมีลักษณะไร้พรมแดนทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนและการเข้าซื้อกิจการของผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ไปสู่ตลาดให้บริการโทรคมนาคมในอีกหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้การขยายตัวของตลาดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดในช่วงต่อไปมีการชะลอตัวลงและทำให้รายได้จากการดำเนินงานมีแนวโน้มลดลง
การควบรวมกิจการ และ การเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition : M&A) การควบรวมกิจการ (Merger) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่หน่วยธุรกิจหนึ่งผนวกกิจการเข้ากับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวพันกัน โดยคาดหวังว่าหลังจากมีการควบรวมกิจการจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ผนวกทักษะ เทคโนโลยี และความสามารถในการดำเนินงานเข้าด้วยกัน เช่น กรณีของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าซื้อกิจการเคเบิลทีวี เพื่อพัฒนาให้รายการในเคเบิลทีวีเป็นคอนเทนท์หรือเนื้อหาที่ให้บริการผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือบริการอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเป็นปัจจัยสำหรับการขยายส่วนแบ่งตลาด ซึ่งแนวโน้มของการแข่งขันของธุรกิจจะเข้าสู่การให้บริการเนื้อหามากกว่าที่จะเป็นการให้บริการพื้นฐานทางด้านการสื่อสารเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังคาดว่าการรวมคอนเทนท์นั้นจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ลดแรงกดดันทางการแข่งขัน รวมถึงได้ผลผลิตจากความสามารถของทั้งสองกิจการ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการและเพิ่มอำนาจการต่อรองของกิจการด้วย (synergy)
ส่วนการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition หรือการ takeover) นั้น เกิดขึ้นเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของเหนือกิจการเดิม และนำกิจการนั้นเข้าเป็นกิจการในเครือของผู้ซื้อ ควบคุมการบริหารและกลยุทธ์การแข่งขันต่างๆ รวมถึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถหลักของกิจการทั้งในด้าน ทรัพย์สิน ทักษะ เทคโนโลยี การตลาด ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ สินค้าและบริการที่กิจการดังกล่าวครอบครองอยู่ เช่น การเข้าซื้อหุ้นโดยกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากต่างประเทศที่เข้ามาซื้อกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ซึ่งผู้ที่เข้าซื้อกิจการยังสามารถนำความรู้และความสามารถของบริษัทตนเองมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทใหม่ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการและการซื้อกิจการนั้นก็มีปัญหา เนื่องจากธุรกิจต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการซื้อและควบรวมกิจการ และยังต้องดูความเข้ากันได้ระหว่างกิจการ และวัฒนธรรมขององค์กรที่ต้องสอดคล้องกัน นอกจากนี้การรวมที่ทำให้องค์กรมีขนาดใหญ่มากอาจทำให้การดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า มีความสลับซับซ้อนในการทำงาน และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินงานลดลง รวมทั้งอาจปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วย
สำหรับกิจการโทรคมนาคมของไทยนั้น มีลักษณะของธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์พื้นฐาน รวมทั้งมีภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการที่มีจำนวนน้อยราย (oligopoly) ในขณะที่บริการอินเทอร์เน็ต เป็นบริการมีลักษณะแข่งขันจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสารในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ตลาดให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ล้านราย และผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอีกประมาณ 7.4 ล้านราย อย่างไรก็ตามบริการทั้งสองประเภทนั้นได้เข้าสู่ภาวะการชะลอตัวของจำนวนผู้ใช้ และคาดว่าการเติบโตของจำนวนผู้ใช้จะไม่สูงเท่ากับที่ผ่านมาเนื่องจากฐานของจำนวนผู้ใช้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า อัตราการเติบโตของผู้ใช้ในช่วงปี 2549-2551 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น การลดลงของจำนวนผู้ใช้ทำให้ผู้ให้บริการต้องแย่งชิงลูกค้าใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดและรักษาลูกค้าเดิมให้อยู้ได้นานที่สุด กลยุทธ์ทางด้านราคาจึงถูกนำมาใช้ และก็มักจะได้ผลในตลาดที่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อราคาหรือเป็นปัจจัยสำคัญในเลือกใช้บริการ ทั้งนี้การแข่งขันทางด้านราคานั้นแม้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่ก็ทำให้ผู้ให้บริการต้องพยายามาบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพยายามสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการให้บริการ ซึ่งจะเห็นว่าบริการเสริมหรือคอนเทนท์ต่างๆ นั้นได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่รุนแรงนั้นยังทำให้ผู้ให้บริการมักจะประสบกับปัญหาทางด้านงบประมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากอัตราค่าบริการที่จะสามารถเรียกเก็บได้จากผู้ใช้บริการนั้นจะอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ในขณะที่ต้นทุนต่อการให้บริการค่อนข้างสูงและต้องการผู้ใช้บริการมากเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดการให้บริการ (economies of scale) แต่ผู้ให้บริการในประเทศหรือผู้ให้บริการคอนเทนท์ในประเทศนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้ประสิทธิภาพจากการใช้เทคโนโลยีของผู้ประกอบกิจการต่ำและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดกรณีการเข้าซื้อกิจการหรือการควบรวมกิจการเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกสำหรับธุรกิจให้บริการโทรคมนาคม และมีการซื้อกิจการในลักษณะข้ามชาติมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในตลาดยุโรป เมื่อเดือนตุลาคม 2548 บริษัทเตเลโฟนิกา ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของสเปน ได้ซื้อกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โอทู ที่ให้บริการในอังกฤษและเยอรมัน ในขณะที่ในสเปนเองเตเลโฟนิกาก็กำลังแข่งขันกับ ฟรานซ์เทเลคอม ที่เข้าซื้อกิจการจากอาเนมา บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับสองของสเปน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มของการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรป ทางด้านฝั่งสหรัฐอเมริกาก็กำลังจะมีการซื้อขายกิจการโดย เวอริซอน กำลังจะซื้อเอ็มซีไอ (ซึ่งในอดีตคือ เวิลด์คอม ที่อยู่ในฐานะล้มละลาย)
อย่างไรก็ตาม ในการควบรวมกิจการในต่างประเทศนั้น จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานป้องกันการผูกขาดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการเมื่อเห็นว่า การควบรวมธุรกิจจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง เช่น กรณีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐไม่อนุญาตให้บริษัทเวิล์ดคอมควบรวมกับ Sprint เมื่อเห็นว่าต่างก็เป็นผู้ประกอบการายใหญ่ที่แข่งขันกันอยู่ การควบรวมกันจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง ซึ่งผลเสียจะตกแก่ผู้บริโภคในที่สุด สำหรับในตลาดให้บริการโทรคมนาคมนั้นนอกจากจะมีคณะกรรมการอิสระที่คอยกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแล้วยังต้องมีคณะกรรมการอิสระที่จะต้องกำกับดูแลป้องกันการผูกขาดอีกด้วย เช่น ประเทศสหรัฐ มีสำนักป้องกันการผูกขาด กระทรวงยุติธรรม ดูแลในเรื่องการควบรวมกิจการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในอังกฤษ มีหน่วยงานป้องกันการผูกขาดในพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในแคนาดา มีหน่วยงานป้องกันการผูกขาดตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า และ ในเนเธอแลนด์ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้พิจารณากรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น การควบรวมกิจการแม้ว่าจะก่อให้เปิดประโยชน์ในแง่ของธุรกิจ และเป็นการเข้าสู่แนวทางของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการอาจก่อให้เกิดการแข่งขันของตลาดที่น้อยลง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในตลาดเดียวกันควบรวมกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับรองลงมาอาจจะควบรวมกันเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ทั้งนี้การแข่งขันของตลาดที่มีคู่แข่งน้อยลง อาจนำไปสู่ตลาดผูกขาดได้ในที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในธุรกิจโทรคมนาคมกำลังมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะที่มีการแข่งขันน้อยรายยิ่งขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับการอณุญาตประกอบการจาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเดิมในตลาดก็จำเป็นที่จะต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้อยู่รอด อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปี 2549 หรือการตกลงเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าอาจจะนำไปสู่ภาวะการควบรวมกิจการได้เร็วยิ่งขึ้น แต่การที่การควบรวมกิจการนั้นจะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคสูงสุดก็ต่อเมื่อจะต้องมีการป้องกันการผูกขาดของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว หรือมีหน่วยงานที่จะต้องดูแลและพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่การกำกับดูแลนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันของตลาด เช่น ไม่ควรมีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำ ควรเปิดให้มีการแข่งขันทางด้านราคากันอย่างเสรีเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ แม้ขณะนี้กติกาของการดำเนินธุรกิจจะอยู่ในระหว่างการร่างและจะนำออกมาใช้ในไม่นานนับจากนี้ รวมถึงในไม่ช้าก็จะมีการเปิดให้ใบอนุญาตประกอบการใหม่สำหรับธุรกิจใหม่ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว กระแสการควบรวมกิจการในประเทศไทยก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับต่างประเทศ ซึ่งภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันในเกิดการควบรวมกิจการได้เร็วขึ้น