การรักษาความปลอดภัยให้อุปกรณ์เคลื่อนที่: เพื่อป้องกันองค์กรจากภัยคุกคามที่มาจากอุปกรณ์เคลื่อนที่

อุปกรณ์เคลื่อนที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพีดีเอ, โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสมาร์ทโฟน ผนวกกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่เร็วขึ้น ทำให้ผลผลิตของพนักงานองค์กรเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้สื่อสารตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน ทั้งเสียงและข้อมูลโดยไม่จำกัดสถานที่ ขณะที่อุปกรณ์เหล่านี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ดูเหมือนว่าความเสี่ยงด้านความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่มีต่อองค์กรก็กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน

จากโทรศัพท์เคลื่อนที่คุณสมบัติใช้งานง่ายๆ วิวัฒนาการมาเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตในองค์กรด้วย รวมทั้งสามารถส่งผ่านข้อมูลธุรกิจข้ามไปมาระหว่างเครือข่ายได้ กลายเป็นช่องทางใหม่ให้เกิดภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยขององค์กรที่มีพนักงานแบบเคลื่อนที่ ไม่ได้ทำงานประจำเฉพาะในสำนักงานเท่านั้น ดังนั้นความนิยมในอุปกรณ์เคลื่อนที่ จึงถูกคาดว่า จะเป็นแรงดึงดูดให้บรรดานักเขียนที่ประสงค์ร้าย ใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างผลประโยชน์โดยมิชอบ ให้กับตัวเองได้

เอกสารชุดนี้ได้สำรวจด้านความปลอดภัย และความเสี่ยงบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งจัดหาข้อมูลที่ผู้จัดการฝ่ายไอทีสามารถใช้ป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ จากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ขณะที่องค์กรธุรกิจก็สามารถใช้ข้อมูลที่ได้มานี้พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันองค์กรจากภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ได้

ความต้องการทำงานนอกสถานที่ ทำให้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ยอดนิยม สำหรับพนักงานที่ต้องการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นองค์กรได้ทุกเมื่อ คาดกันว่ายอดขายของอุปกรณ์ดังกล่าวจะแซงหน้าพีดีเอในปี 2549

ตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยโทรศัพท์มือถือและพีดีเอกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้งานส่วนตัวและด้านธุรกิจ ขณะที่แลปท็อป, แทบเล็ตพีซี (tablet PC) และสมาร์ทโฟน ก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล และการสื่อสารชนิดที่เรียกว่าเกือบทันใจทุกที่ทุกเวลา นักวิเคราะห์มองว่า ผู้ใช้ต้องการอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีทางเลือกที่หลากหลาย โดยสามารถเลือกคุณสมบัติใช้งานเฉพาะที่พวกเขาต้องการได้ แทนที่จะต้องเสียเงินเพื่อแลกกับคุณสมบัติที่ไม่ได้ใช้งาน อย่าง กล้อง หรือแป้นพิมพ์ เป็นต้น

บริษัท แคนาลิส (Canalys) ที่ปรึกษาด้านการตลาด เปิดเผยว่าโดยรวมแล้วการเติบโตของอุปกรณ์เคลื่อนที่อัจฉริยะ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์ไร้สาย และสมาร์ทโฟน มีสัดส่วนกว่า 75% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 นอกจากนี้ บริษัท ไอดีซี ยังคาดว่าจำนวนพนักงานเคลื่อนที่ จะเพิ่มจากกว่า 650 ล้านคนในปี 2547 เป็นจำนวนกว่า 850 ล้านคนในปี 2552 หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานทั่วโลก การเพิ่มจำนวนของพนักงานเคลื่อนที่ดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดความต้องการอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

เหตุผลหนึ่งที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิผลของพนักงาน สำหรับพนักงานที่ไม่ได้อยู่ในสำนักงาน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ไปจนถึงพนักงานขายในต้องออกไปประชุมนอกสถานที่ อุปกรณ์เคลื่อนที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น ปฏิทินนัดหมาย อีเมล ข้อมูล และแอพพลิเคชั่นจากเครือข่ายองค์กร หน้าเวบไซต์ และข้อมูลด้านธุรกิจที่ถูกจัดเก็บไว้ในอุปกรณ์ขนาดกะทัดรัด สามารถส่งผ่านข้อมูลไปมาได้ตามต้องการ และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานขององค์กรได้ด้วย

ปัจจัยที่สนับสนุนให้อุปกรณ์เคลื่อนเติบโตอย่างต่อเนื่อง:

• ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย และเพิ่มขีดความสามารถของอุปกรณ์ให้สูงขึ้น ดึงดูดใจผู้ใช้องค์กรได้อย่างมาก คุณสมบัติดังกล่าวนำไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีเคลื่อนที่นี้อย่างแพร่หลาย
• ผู้ค้าระบบปฏิบัติการมีชุมชนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เข้มแข็ง ขณะที่แอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ของบริษัทภายนอกก็มีส่วนช่วยให้การใช้งานอุปกรณ์เป็นประโยชน์มากขึ้น เมื่อแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ มีให้ใช้งานอย่างแพร่หลาย พนักงานแบบเคลื่อนที่จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น

การเติบโตของอุปกรณ์เคลื่อนที่แสดงให้เห็นพรมแดนใหม่สำหรับฝ่ายไอที ที่จะต้องเตรียมการป้องกัน โดยต้องตระหนักว่า อุปกรณ์มากมายเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยมากนัก และด้วยวิวัฒนาการของภัยคุกคามที่มีต่ออุปกรณ์ดังกล่าว ประกอบกับการเข้าถึงข้อมูลสำคัญทางธุรกิจแบบเคลื่อนที่มากขึ้น ฝ่ายไอทีจำเป็นต้องประเมินและปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางรักษาความปลอดภัย ที่ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปด้วย นโยบายใหม่จะต้องมั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันอุปกรณ์เคลื่อนได้อย่างเพียงพอจากมัลแวร์ เช่น ไวรัส และรหัสร้ายอื่นๆ ที่แฮคเกอร์สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายหรือหยุดการทำงานของระบบ

ภัยคุกคามอุปกรณ์เคลื่อนที่สร้างความเสียหายได้อย่างแพร่หลาย

ระบบนิเวศวิทยาทั้งหมดที่อยู่รอบๆ อุปกรณ์เคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตมือถือ ผู้ให้บริการมือถือ องค์กรที่มีพนักงานเคลื่อนที่ และผู้ใช้ส่วนตัว จะถูกกระทบโดยทันทีเมื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ติดไวรัส ผลกระทบด้านธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ชื่อเสียงของผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือ รายได้ที่สูญหายของผู้ให้บริการมือถือ เนื่องจากเครือข่ายไม่สามารถให้บริการได้ ข้อมูลขององค์กรตกอยู่อันตราย และการสูญเสียผลิตผลสำหรับพนักงานเคลื่อนที่ ผลกระทบจากการโจมตีของรหัสร้ายในอุปกรณ์เคลื่อนที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 1

ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ องค์กรส่วนบุคคล
• เสียค่าใช้จ่ายจากเมื่ออุปกรณ์มือถือที่ติดไวรัส
• เสียชื่อเสียงจากอุปกรณ์ที่ติดไวรัส
• สูญเสียภาพพจน์ที่ดี, ลูกค้าไม่พอใจ, เพิ่มความปั่นป่วนให้กับลูกค้า
• สูญเวลาในการคิดเงินเป็นนาทีจากสาเหตุของอุปกรณ์ที่ติดไวรัส
• การเรียกของศูนย์บริการลูกค้าจากการติดเชื้อไวรัส อาทิ ไวรัสที่เปิดการเชื่อมต่อ GPRS, ลูกค้าที่ขอแก้ไขบิล
• สูญเสียผลผลิตของคนทำงาน
• เสียค่าล้างไวรัส
• เสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูล/ความเป็นส่วนตัว
• อินทราเน็ตที่ติดเชื้อส่งผลผลิตขององค์กร
• เสียเวลาในการปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่าย MMS หรือSMSสำหรับข้อความหรือการโทรที่เกิดจาการติดเชื้ออุปกรณ์ใช้ไม่ได้
• สูญเสียผลผลิต
• เสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูล/ความเป็นส่วนตัว
• ทำให้ต้องล้างเครื่องหรือคืนเครื่องเพื่อซ่อม
• ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของ MMS หรือ SMS สำหรับข้อมูลหรือการโทรที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ

ตารางที่ 1: ภัยคุกคามอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายองค์กร

ความนิยมนำสู่ภัยคุกคาม

แรงดึงดูดใจที่สำคัญของแฮคเกอร์และนักเขียนมัลแวร์ ได้แก่การที่ไวรัสที่ตั้งเป้าโจมตีไปที่ระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ยอดนิยม จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งจำนวนอุปกรณ์เคลื่อนที่ติดเชื้อมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดกระแสข่าวโด่งดังได้มากขึ้น ถือเป็นช่องทางสร้างชื่อให้กับนักเขียนมัลแวร์ได้อย่างมาก ไม่ต่างจากการโจมตีระบบปฏิบัติการพีซีชื่อดัง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง อย่างระบบปฏิบัติการวินโดว์สของไมโครซอฟท์สำหรับพีซี และแลปท็อปที่ถูกใช้งาน อย่างแพร่หลาย มีแนวโน้มที่จะติดไวรัสมากกว่าระบบปฏิบัติการไอบีเอ็ม โอเอส/2, แอปเปิล แมคอินทอช หรือโนเวล เน็ตแวร์

สำหรับระบบปฏิบัติการสำหรับ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนนั้น ดูเหมือนว่าซิมเบียน (ตารางที่ 2) จะเป็นระบบปฏิบัติการที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือใช้งานอย่างหลากหลาย รวมถึงโนเกีย โมโตโรลา พานาโซนิค ซีเมนส์ และซัมซุง จึงไม่แปลกที่อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นเป้าหมายของนักเขียนไวรัสที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ความนิยมนำสู่ภัยคุกคามนั่นเอง

ระบบปฏิบัติการ ส่วนแบ่งการตลาด
Symbian 80.5%
Microsoft Windows Mobile for Smartphones 9.7%
Palm Source 4.6%
Linux 4.4%
Research in Motion (RIM) 0.8%
Total 100%
ที่มา: GartnerDataquest.Market Share:Smartphones.2005

ตารางที่ 2 : ส่วนแบ่งตลาดของระบบปฎิบัติการอุปกรณ์เคลื่อนที่

เส้นทางภัยคุกคามของอุปกรณ์เคลื่อนที่เดินขนานกับภัยคุกคามพีซี

คล้ายกับวินโดว์ส ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการพีซีเจ้าตลาด ระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์เคลื่อนที่ยอดนิยมที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น กำลังกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของนักเขียนมัลแวร์อยู่

จากรายงานก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการติดไวรัสและช่องโหว่ความปลอดภัยของพีซี มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่ อาจเผชิญหน้ากับการโจมตีรูปแบบใหม่และร้ายกาจมากขึ้น

• มัลแวร์ที่ตั้งเป้าไปที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ในรูปของสายพันธุ์ที่หลากหลายของไวรัสที่มีอยู่เดิม เนื่องจากแฮคเกอร์ได้ “ปรับปรุง” ไวรัสของเดิมให้มีประสิทธิภาพขึ้น ตัวอย่างเช่น ไวรัสคาบีร์ที่แพร่ระบาดไปยังสมาร์ทโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียน ซีรีส์ 60 ได้ออกลูกออกหลานมาเป็นจำนวนมาก และสร้างฐานให้กับไวรัสต่างๆ มาแพร่พันธุ์ อาทิ VLASCO.A และ DAMPIG.A
• มัลแวร์ที่ตั้งเป้าโจมตีไปที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ แสดงให้เห็นว่าสามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง ได้แก่ บลูทูธ บริการเอ็มเอ็มเอส และการดาวน์โหลดผ่านทางอินเทอร์เน็ต
• ความสามารถในการติดตั้งแอพพลิเคชั่นในตัวอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของมัลแวร์ และมีผลกระทบต่อชุมชนอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหมด
• อุปกรณ์สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการยอดนิยมในตลาดที่มีอยู่สองชนิด ได้แก่ ซิมเบียน หรือไมโครซอฟท์ วินโดว์ส โมบาย
• อุปกรณ์จำนวนมากเป็น “เป้านิ่ม” เนื่องจากไม่ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย หรือฝ่ายไอทีไม่ได้ใช้นโยบายความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
• เครือข่ายส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง เพิ่มโอกาสของการติดไวรัสและทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

อุปกรณ์ระบบปิดเสี่ยงภัยน้อยกว่า

โทรศัพท์พื้นฐานส่วนใหญ่ จะใช้โทรเข้า-ออก และอาจมีสมุดที่อยู่ให้ใช้งานบ้าง รวมทั้งมีโปรแกรมใช้งานที่ติดตั้งมาจากโรงงานผลิต จึงไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นจากบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ภายนอกได้ โทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติพื้นฐานดังกล่าว ใช้ง่ายและมีราคาถูก ไม่เอื้อให้เกิดการติดไวรัส จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์แบบ “ปิด” นี้ จะโดนโจมตีจากมัลแวร์น้อยกว่าอุปกรณ์ที่สนับสนุนซอฟต์แวร์จากบริษัทภายนอก รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้

คุณสมบัติและความนิยมในสมาร์ทโฟน เพิ่มโอกาสเกิดภัยคุกคาม

ขณะที่โทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติด้านเสียงเป็นหลัก ครองส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่มากที่สุด สมาร์ทโฟนก็กำลังเป็นอุปกรณ์ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกที่เติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากทำให้ผู้ใช้เคลื่อนที่สามารถใช้อุปกรณ์เดียวได้หลากหลายคุณสมบัติ ทั้งการจัดการข้อมูลส่วนตัว เป็นโทรศัพท์มือถือ และใช้งานแอพพลิเคชั่นทั่วไปได้ นอกจากนี้ความสามารถในการท่องอินเทอร์เน็ตของสมาร์ทโฟนยังเปิดช่องให้เกิดการติดไวรัสผ่านการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ติดเชื้อร้ายมาแล้วได้

ระบบปฏิบัติการแบบเปิดสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้งานแอพพลิชั่นเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใช้ และยังช่วยเพิ่มผลิตผลให้กับองค์กรด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ยี่ห้อหรือรุ่นใด ระบบปฎิบัติการแบบเปิดเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่จะทำให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ติดไวรัส หรือทำให้ข้อมูลสูญหายได้ อุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดช่องโหว่ดังกล่าว ได้แก่อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการติดตั้งแอพพลิเคชั่นจากบริษัทภายนอกอื่นๆ โดยไม่จำกัดระบบปฏิบัติการ ท่องอินเทอร์เน็ตได้ โอนย้ายไฟล์กับพีซี หรือแม้แต่เชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายไว-ไฟ

อุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อธุรกิจ

ขณะที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ช่วยเพิ่มผลิตผลให้แก่พนักงานในหลากหลายวิธี อุปกรณ์เดียวกันนี้ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ต้องได้พิจารณาด้วย ความเสี่ยงที่สำคัญคือการสูญหายหรือการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับในทางที่ผิด การที่อุปกรณ์หายไป อาจเสียเงินเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เป็นผลมาจากข้อมูลสำคัญหาย ซึ่งจะกระทบทางด้านกฎหมาย ชื่อเสียง ความมั่นใจของลูกค้าที่หดหายไป รวมถึงด้านการเงิน เช่นเดียวกับช่องโหว่ความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับบัตรเครดิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้

ความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่:

• ผลผลิตลดลงหากอุปกรณ์หาย โดนขโมย หรือติดไวรัส ผู้ใช้ต้องเสียเวลาเมื่อไม่มีปฏิทินงาน ไม่สามารถการเข้าถึงไฟล์ แอพพลิเคชั่น หรือแม้แต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
• ต้นทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้น ผู้ใช้เคลื่อนที่ต้องการการสนับสนุนด้านเทคนิคเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายองค์กร หรือต้องการความช่วยเหลือในการตั้งระบบให้กับอุปกรณ์ของพวกเขาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามต้องการ
• การติดมัลแวร์มือถือ ไวรัส ม้าโทรจัน และหนอน ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่มีผลต่อเครือข่ายองค์กรที่อุปกรณ์เคลื่อนที่นั้นเชื่อมต่ออยู่
• ข้อมูลสูญหายหรือถูกขโมยโดยผู้ใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ข้อมูลขององค์กร ที่ผู้ใช้เคลื่อนที่มักดาวน์โหลดไฟล์ และข้อมูลมาเก็บไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัวของตัวเอง เพิ่มช่องโหว่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมข้อมูล หากอุปกรณ์นั้นถูกแฮคหรือขโมยไป

ช่องทางการติดมัลแวร์ของอุปกรณ์เคลื่อนที่

• การเสียบการ์ดความจำที่ติดมัลแวร์ในอุปกรณ์
• การเชื่อมต่อกับพีซีที่ถ่ายโอนไฟล์ที่ติดมัลแวร์
• การดาวน์โหลดไฟล์ติดเชื้อจากอินเทอร์เน็ตมายังสมาร์ทโฟน
• การใช้แว็พ (WAP) ที่เชื่อมต่อเวบไซต์ที่มีไฟล์ติดเชื้อมายังอุปกรณ์เคลื่อนที่
• การแพร่เชื้อจากสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง; ด้วยการส่งไฟล์ติดเชื้อร้ายผ่านทางบลูทูธ

การสื่อสารและเชื่อมต่อข้อมูลเพิ่มช่องโหว่

อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้สื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแอพพลิเคชั่นภายในองค์กร ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่พนักงานได้ จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของบริษัทการ์ทเนอร์ พบว่า 55% ของพีดีเอที่จำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 ได้รวมเอาคุณสมบัติของเครือข่ายแลน หรือความสามารถด้านการเป็นมือถือไว้ในตัวด้วย

พนักงานที่มีความรู้สามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เชื่อมต่อในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระดับหัวหน้างานไปจนถึงพนักงานค้าปลีกที่ใช้ช่องทางการเชื่อมต่อไร้สายสำหรับการจัดการสินค้าคงคลัง เมื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่สามารถย้ายข้อมูลและไฟล์ไปมากับเครือข่ายได้ รวมทั้งเข้าถึงแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นต่อข้อมูลสำคัญและเพิ่มโอกาสของการแพร่ระบาดการติดเชื้อร้ายได้ด้วย

ตารางที่ 3 แสดงเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่มีใช้งานอยู่ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ แต่ละเทคโนโลยีมีผลต่อการคุกคามความปลอดภัย และควรได้รับการพิจารณาเมื่อคิดจะออกแบบหรือประเมินผลโซลูชั่นความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่

ความเข้าใจในเรื่องของการติดเชื้อ: การต่อเชื่อมอุปกรณ์เคลื่อนที่
กลุ่ม ชนิด ตัวอย่าง
Local Storage Physical Media SD Card, Memory Stick
Peer-to-Peer Personal Area Network Infrared (IrDA)
Bluetooth
Synch cable (ActiveSync)
Local Area Network Local Area Network
Wireless Local Area Network PCMCIA Ethernet Network Card
802.11/Wi-Fi
Mobile Network Mobile Operating Network GSM
GPRS
EDGE
CDMA2000
EV-DO
HSDPA

ตารางที่ 3 : เทคโนโลยีเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เปิดช่องให้เกิดภัยคุกคามได้

เครือข่ายและบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

การที่จะเข้าใจการเกิดภัยคุกคามต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ ต้องรู้เรื่องเครือข่ายสื่อสารที่พวกเขาใช้งานด้วย ต่างจากพีดีเอที่โดยทั่วไปจะเชื่อมต่อกับพีซีโดยตรง แต่สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์อิสระที่ใช้เครือข่ายไร้สายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่หนึ่ง ซึ่งเน้นการโทรเข้า-ออกอย่างเดียว จะใช้เฉพาะความสามารถด้านเสียงเท่านั้น ต่างจากสมาร์ทโฟน ที่รองรับได้ทั้งเสียงและข้อมูล มีสามารถด้านการรับส่งข้อความ เช่น เอสเอ็มเอส และ เอ็มเอ็มเอส

อัตราความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทั่วไปการใช้เทคโนโลยีส่งผ่านข้อมูลแบบจีพีอาร์เอสของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สอง หรือ 2จี จะดาวน์โหลดด้วยความเร็ว 35 กิโลบิตต่อวินาที ขณะที่เครือข่าย 3จี สามารถส่งผ่านได้เร็วถึง 400 กิโลบิตต่อวินาที (WCDMA/UTMS) ไปจนถึง 2-3 เมกะบิตต่อวินาที (HSDPA) เมื่อโครงข่ายได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว

เมื่อความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลสูงขึ้น องค์กรทั้งหลายสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับพนักงานที่มีความรู้ ด้วยการเปิดช่องให้พวกเขาสามารถใช้แอพพลิเคชั่นองค์กรจากทางไกล ตัวอย่างเช่น ขณะที่พนักงานกำลังโดยสารบนรถไฟ สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ความเร็วสูง เพื่อเรียกใช้แอพพลิเคชั่น เช่น อีเมล หรือระบบบริหารทรัพยากรองค์กร หรือการบริหารทรัพยากรบุคคล ขณะที่กำลังเดินทางได้ เทคโนโลยีความเร็วสูง 3จี เช่น WCDMA, EV-DO และ HSDPA ทำให้ผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์เคลื่อนที่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นองค์กรด้วยความเร็วในระดับเช่นเดียวกับการเชื่อมต่อแบบมีสายในองค์กรได้

แม้ว่าการถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงจะช่วยปรับปรุงผลผลิตให้สูงขึ้นได้ แต่ สิ่งนี้ยังเพิ่มโอกาสในการติดไวรัสได้ ด้วยเหตุที่เครือข่ายความเร็วสูงทำให้ง่ายต่อผู้ใช้ในการท่องอินเทอร์เน็ต ใช้เครือข่ายไอพีสำหรับการสื่อสาร รวมถึงการ

ดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่น ไม่ต่างจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโลกของพีซี ซึ่งมัลแวร์และสปายแวร์สามารถแพร่ผ่านไปยังพีซีที่อยู่ในเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเครือข่ายข้อมูลเคลื่อนที่ความเร็วสูง ก็คาดว่าจะเปิดช่องให้สมาร์ทโฟนที่ติดเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปยังสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นด้วยเช่นกัน

การรับรองสิทธิ การเข้ารหัส และซอฟต์แวร์วีพีเอ็น : แนวทางป้องกัน

อุปกรณ์เคลื่อนที่มีช่องโหว่มักจะปราศจากระบบรับรองสิทธิ และการเข้ารหัสเพื่อช่วยป้องกันข้อมูลจากการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการรับรองสิทธิ ซึ่งเป็นขั้นแรกในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ จะช่วยให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ผู้ใช้ที่ได้รับสิทธิเท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ การรับรองสิทธิอาจรวมถึงการใช้รหัสผ่าน ใบรับรองความปลอดภัยในสมาร์ทการ์ด หรือการรับรองสิทธิรูปแบบอื่นที่เกี่ยวกับแผนรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยเฉพาะ

ขณะที่การเข้ารหัส สามารถป้องกันข้อมูลในการส่งผ่านและปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลที่เก็บไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับการสื่อสารและข้อมูลในเครือข่าย

สำหรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทรัพยากรไอทีองค์กร การรักษาความปลอดภัยในการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นทางไกล อาจต้องการซอฟต์แวร์วีพีเอ็น (virtual private network : VPN) เพื่อจัดหาการระบบรักษาความปลอดภัยให้กับการเชื่อมต่อข้อมูล และแอพพลิเคชั่น ตลอดจนทำให้อุปกรณ์เคลื่อนที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายองค์กรผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้

นอกจากนี้ ความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ยังต้องการโซลูชั่นจัดการอุปกรณ์ ที่สามารถลบข้อมูล หรือ “ล้าง” อุปกรณ์ให้หมดจดปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่สามารถกู้ข้อมูลคืนได้เมื่อเผลอทำสมาร์ทโฟนที่มีข้อมูลสำคัญอยู่ภายในหายไป ข้อมูลในตัวอุปกรณ์ดังกล่าวต้องถูกลบทิ้งให้หมด ซึ่งหากไม่มีคุณสมบัตินี้ในตัว ข้อมูลสำคัญสามารถถูกเผยแพร่สู่สาธารณะได้อย่างรวดเร็ว

วิวัฒนาการของไวรัสมือถือ

โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ติดไวรัสถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ การโจมตีครั้งสำคัญและครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2543 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะ ขณะที่ไวรัสตัวแรกที่โจมตีอุปกรณ์พกพาเกิดขึ้นในปี 2543 ได้แก่ Liberty, Phage และ Vapor เน้นแพร่ระบาดผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการปาล์ม แต่ในภายหลังปาล์มโอเอสก็ไม่ได้เป็นเป้าโจมตีของไวรัสต่อ เนื่องจากเกิดระบบปฏิบัติการยอดนิยมอื่นขึ้นมาแทนในตลาด

มัลแวร์โจมตีเอ็นทีที โดโคโม ในช่วงสิงหาคม 2544 ผู้ใช้บริการไอ-โหมดของบริษัท เอ็นทีที โดโคโม ในญี่ปุ่น พบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพวกเขาเริ่มต่อสายไปยังหมายเลข 110 ซึ่งเป็นหมายเลขฉุกเฉินในญี่ปุ่น ด้วยการลวงให้ผู้ใช้ตอบ “yes” กับคำถามเกมออนไลน์ที่เกี่ยวกับความรัก ส่งผลให้ชุมสายโทรศัพท์ของตำรวจญี่ปุ่นมีการจราจรคับคั่ง ไม่สามารถแยกสายจริงสายหลอกได้ ปัจจุบันบริษัทได้ซ่อมแซมช่องโหว่การโจมตีดังกล่าวแล้ว

ไวรัสซิมเบียน เริ่มในปี 2547 และต่อเนื่องมาถึงปี 2548 ด้วย การติดไวรัสของระบบปฏิบัติการซิมเบียน และไมโครซอฟท์ วินโดว์ส โมบายกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะซิมเบียนที่ไวรัสพุ่งเป้าโจมตีไปที่ซิมเบียน 7.0 ซีรีส์ 60 ซอฟต์แวร์หลักที่ใช้ในสมาร์ทโฟนของโนเกีย โดยเริ่มจากการโจมตีของคาบีร์ ในเดือนมิถุนายน 2547 และตามมาด้วยสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามมา ได้แก่ Qdial, Skulls, Velasco, Locknut และ Dampig (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ http://www.trendmicro.com/vinfo/virusencyclo/default.asp)

คาบีร์ และลูกหลานเป็นมัลแวร์ที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้มากนัก เพราะต้องการพิสูจน์แนวคิดของแฮคเกอร์ว่าสามารถทำได้ ไวรัสเหล่านี้เป็นการทดลองเทคโนโลยีใหม่ของชุมชนแฮคเกอร์ โดยคาบีร์จะใช้การเชื่อมต่อไร้สายผ่านบลูทูธส่งผ่านตัวเอง ในระยะ 10 เมตร ซึ่งอุปกรณ์ที่มีเชื้อร้ายในตัวจะเปิดระบบค้นหาอุปกรณ์ที่เปิดบลูทูธทิ้งไว้ในรัศมีดังกล่าว และส่งต่อเชื้อร้ายไปในทันที

แม้ว่าไวรัสคาบีร์ไม่ได้แพร่ระบาดในระดับรุนแรง แต่การเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์ลูกหลานที่ถี่ยิบ แสดงให้เห็นว่านักเขียนไวรัสกำลังพยายามเขียนไวรัสโจมตีอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะเห็นได้ว่ามัลแวร์มือถือระยะต่อมา ได้แก่ คอมวอร์ และมาบีร์ ใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่งผ่านในรูปของบริการเอ็มเอ็มเอส

มัลแวร์บริการรับส่งข้อความ และสมาร์ทโฟน ความสามารถด้านการรับส่งข้อความในตัวของสมาร์ทโฟน เป็นเป้าหมายของมัลแวร์โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสามารถแพร่ตัวเองผ่านไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องอื่น ด้วยการใช้สมุดที่อยู่ของโทรศัพท์ติดเชื้อเพื่อค้นหาเป้าหมายใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ติดเชื้อไวรัสมาบีร์ ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียน 7.0 ซีรีส์ 60 จะแพร่เชื้อไปยังอุปกรณ์อื่นที่สนับสนุนบริการเอ็มเอ็มเอส หรือเอสเอ็มเอส กระบวนการดังกล่าวทำให้ผลผลิตของผู้ใช้หยุดชะงักลง แบตเตอรี่อุปกรณ์ถูกใช้เพิ่มขึ้น เสียค่าใช้จ่ายจากการใช้เอ็มเอ็มเอส และทำลายชื่อเสียงของผู้ใช้ในกลุ่มเพื่อนฝูงหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจได้

แม้ว่าไวรัสร้ายเหล่านี้จะยังไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย แต่การป้องกันโทรศัพท์จากข้อความที่มีรหัสร้ายแฝงอยู่ หรือรู้จักในชื่อมัลแวร์ข้อความเคลื่อนที่ เป็นสิ่งจำเป็นของโซลูชั่นป้องกันไวรัสเช่นกัน

แนวปฏิบัติรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ดีที่สุด

การรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นส่วนสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสำหรับองค์กรในปัจจุบัน อุปกรณ์เคลื่อนที่เชื่อมต่อเครือข่ายองค์กรจากภายนอก ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหม่ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นองค์กรได้ทุกที่ทุกเวลา

ฝ่ายไอทีต้องวางแผนรับมือกับอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานและการใช้อุปกรณ์ที่องค์กรเลือกซื้อไว้สำหรับใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นองค์กรให้พร้อม โดยต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอเพื่อป้องกันเครือข่ายองค์กรและป้องกันข้อมูลสำคัญสูญหายหรือถูกขโมย ขณะที่ผลผลิตของพนักงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด คือการวางแผนขยายแนวป้องกันเครือข่ายซึ่งครอบคลุมถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วย

1. ประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยงสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ ต้องได้รับการประเมินเหมือนกับความเสี่ยงอื่นๆ ในองค์กร ขั้นแรกคือการกำหนดวิธีเชื่อมต่อของอุปกรณ์เคลื่อนที่กับองค์กร และวิธีดูแลความปลอดภัยของอุปกรณ์เหล่านี้

แผนรักษาความปลอดภัยที่ดี ควรเป็นไปตามรูปแบบองค์กรและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ การวางแผนรักษาความปลอดภัยข้อมูลต้องเริ่มด้วยการเข้าใจถึงความสำคัญและมูลค่าของข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ ด้วยการปฏิบัติดังนี้:

• ระบุตำแหน่งของข้อมูลสำคัญ, ผู้ควบคุมข้อมูล, ผู้เข้าถึงข้อมูล และวิธีป้องกันข้อมูล
• กำหนดว่าข้อมูลไหนถูกจัดเก็บในอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เป็นของผู้ใช้ อาจเป็นการดีหากเพิ่มเติมนโยบายเพื่อควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่าจะไม่ยอมให้อุปกรณ์ใดๆ เชื่อมต่อกับเครือข่ายองค์กรเลย

2. ตั้งนโยบายด้านความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้กับองค์กร บริษัททั้งหลายสามารถดูแลความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์พกพาด้วยการใช้นโยบายรักษาความปลอดภัย ที่คลอบคลุมการใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสเพื่อรับมือกับไวรัส และมัลแวร์ นโยบายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการกำจัดการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่หรือข้อกำหนดที่ยอมให้อุปกรณ์ทั้งหลายเชื่อมต่อกับเครือข่ายและข้อมูลองค์กรได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ของบริษัทหรือส่วนตัวก็ตาม

ฝ่ายไอทีสามารถพบปัญหาเหล่านี้ได้ เมื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะพนักงานที่มีความรู้มักต้องการเลือกซื้ออุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วยตัวเองมากกว่าจะปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท นโยบายดังกล่าวจึงต้องกำหนดทิศทางการปฏิบัติดังนี้:

• การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เหมาะสม
• ข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามาหรือเปิดให้ดาวน์โหลด
• รายการอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ได้รับการอนุมัติให้ซื้อ
• ข้อแนะนำการสั่งซื้อหรือเลือกซื้ออุปกรณ์
• มาตรฐานและการบังคับใช้ด้านความปลอดภัย
• ความรับผิดชอบของผู้ใช้

นโยบายด้านความปลอดภัยขององค์กรต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับฝ่ายต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไอที กฎหมาย จัดซื้อ และบุคคล เพราะแต่ละฝ่ายสามารถให้ความรู้แก่ผู้ใช้และบังคับใช้นโยบายของบริษัทได้

3. ต้องให้ความรู้และฝึกอบรมผู้ใช้ ปัญหาหลักหนึ่งอย่างในการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่และสมาร์ทโฟน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความรู้ของผู้ใช้ด้วย โดยทั่วไปแล้วผู้ใช้พีซีส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่า อะไรคือพฤติกรรมเสี่ยงหรือเหมาะสมในการใช้พีซี ซึ่งผู้ใช้เคลื่อนที่ก็ต้องเรียนรู้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน

พนักงานต้องตระหนักถึงช่องโหว่ที่มีอยู่ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ และผลที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรหากอุปกรณ์เหล่านั้นหายไปหรือติดเชื้อไวรัสเข้าแล้ว การฝึกอบรมควรครอบคลุมถึงการรักษาอุปกรณ์ให้ปลอดภัยเชิงกายภาพ นโยบายด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ และชนิดของข้อมูลที่ถูกอนุญาตให้จัดเก็บในอุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องให้ความรู้กับผู้ใช้ด้วยว่า ต้องทำอย่างไรบ้างหากอุปกรณ์หาย ถูกขโมย หรือติดไวรัส

4. การใช้นโยบายด้านความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ เพื่อขยายแนวป้องกันข้อมูลขององค์กร ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส การเข้ารหัส และการป้องกันการโจมตีผ่านทางข้อความ ต้องถูกติดตั้งในอุปกรณ์ดังกล่าว เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีหลายช่องทางที่เปิดให้มัลแวร์บุกโจมตีได้ ความปลอดภัยของอุปกรณ์มือถือเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันข้อมูลองค์กร สิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า และการเพิ่มผลผลิตองค์กร

ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสต้องได้รับการอัพเดทบ่อยครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้ ข้อมูลสำคัญ เช่น แผนงานผลิตภัณฑ์ ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการสั่งซื้อ ราคา และข้อมูลความลับของพนักงานต้องได้รับการป้องกันด้วยการเข้ารหัสอย่างเข้มแข็ง การโจมตีด้วยการรับส่งข้อความของมัลแวร์ยังเป็นความเสี่ยงต่อผลผลิตของพนักงาน และควรเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายป้องกันอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วย

5. การจัดการความปลอดภัยองค์กรจากส่วนกลาง การบริหารจัดการจากส่วนกลางและจัดหาซอฟต์แวร์ช่วยในการป้องกันองค์กรและข้อมูลส่วนตัวให้ดีขึ้น เพราะนอกเหนือจากการเข้าถึงเครือข่ายของอุปกรณ์เคลื่อนที่ การจัดการจากส่วนกลางช่วยให้ฝ่ายไอทีสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ บริหาร และอัพเดทซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ได้โดยตรง ทำให้การป้องกันข้อมูลองค์กรและการเชื่อมต่อเครือข่ายมีความมั่นคงมากขึ้น

บทสรุป

อุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น และสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตของพนักงานให้ดีขึ้นด้วย แต่องค์กร
ผู้ให้บริการมือถือ และลูกค้าจำเป็นต้องตระหนักถึงโอกาสที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ที่เนื่องมาจากอุปกรณ์สูญหาย หรือติดไวรัส ซึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลสำคัญและมีค่าหายหรือถูกขโมย องค์กรจึงต้องเข้ามาลดความเสี่ยงของภัยคุกคามความปลอดภัยดังกล่าวให้ได้

การกำหนดและใช้นโยบายด้านความปลอดภัยอุปกรณ์ สามารถช่วยให้องค์กรใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ในการเพิ่มผลผลิต พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการสูญเสียผลผลิตที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสในอนาคตได้

บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์

บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์และการบริการด้านการป้องกันไวรัสบนเครือข่าย และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมีหน่วยธุรกิจอยู่ทั่วโลก สำหรับผลิตภัณฑ์ของเทรนด์ ไมโคร ได้จำหน่ายไปยังองค์กรธุรกิจ ตัวแทนจำหน่ายแบบมูลค่าเพิ่ม และผู้ให้บริการสนใจข้อมูลและชุดทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์จากเทรนด์ ไมโครได้ที่ เว็บไซต์ www.trendmicro.com