ปัจจัยความไม่แน่นอน … ผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2549

จากสถานการณ์การทางการเมืองภายในประเทศในปัจจุบันได้สร้างความวิตกกังวลให้กับภาคธุรกิจ ถึงความเป็นไปได้ที่ภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งนโยบายต่างๆของรัฐบาล ถ้าหากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองยืดเยื้อและมีความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อแต่ละฝ่ายไม่สามารถหาทางออกที่ยอมรับร่วมกันได้ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้

ความไม่แน่นอนทางการเมือง … กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในช่วงปีนี้
สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความต้องการลงทุนภายในประเทศยังมีอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นต่อศักยภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยและให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยต่อไป แต่ผลกระทบในระยะสั้นคงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงไม่นิ่ง อีกทั้งยังส่งผลให้แผนการสำคัญของรัฐบาลมีความล่าช้าออกไป เช่น โครงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจารายสำคัญ อย่างเช่นญี่ปุ่นและสหรัฐ ในช่วงเวลานี้ ปัจจัยดังกล่าวย่อมอาจส่งผลให้เกิดสูญญากาศทางการลงทุน โดยที่นักลงทุนจำนวนหนึ่งอาจชะลอโครงการลงทุนออกไประยะหนึ่งก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์บ้านเมือง ก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าแผนการลงทุนในระยะข้างหน้าต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า โครงการลงทุนที่มีเป้าหมายตลาดภายในประเทศ หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการและนโยบายของรัฐบาล อาจเป็นกลุ่มที่น่าจะมีการชะลอการลงทุนออกไป เนื่องจากภาวะอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงทำได้อย่างจำกัด ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ นอกจากนี้ ในหลายโครงการที่เป็นความริเริ่มของภาครัฐ นักลงทุนยังต้องรอความชัดเจนของมาตรการรัฐภายหลังจากที่กลไกของรัฐบาลชุดใหม่เริ่มต้นทำงานได้ อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกน่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปี 2549 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมักจะไม่ส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออกมากนัก

ความสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศต่อภาคการลงทุนของไทย

• การลงทุนจากต่างประเทศมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยตลอดระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนโดยตรงไหลเข้าจากต่างประเทศต่อการสะสมทุนเบื้องต้น มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 แต่ตัวเลขมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงที่ปรากฎตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย โดยตามนิยามของการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ตามหลักสากล จะรวมถึงเงินลงทุนที่บริษัทลูกของบริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้นำผลกำไรกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvested Capital) ขณะเดียวกัน เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวมเงินลงทุนทั้งที่เข้ามาเพื่อขยายการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) และการควบรวมและซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว (Merger & Acquisition) ดังนั้น เพื่อเป็นการประเมินถึงผลของการลงทุนจากต่างประเทศที่มีต่อการสะสมทุนเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติในธุรกิจที่มีการลงทุนในประเทศไทย พบว่า ทุนจากต่างประเทศมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 ของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า FDI คิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบร้อยละ 40 ของลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือ FDI น่าจะมีผลต่อการลงทุนของไทยมากกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการลงทุนโดยรวมของประเทศ

สรุปภาวะการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้ม
•จากสถิติโครงการที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 2548 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติมีความสนใจลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 849 โครงการ มูลค่าการลงทุน 498.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ในอัตราร้อยละ 13.4 ในด้านจำนวนโครงการ และร้อยละ 62.5 ในด้านมูลค่าโครงการ (ปี 2547 มีโครงการลงทุนของต่างชาติ 749 โครงการมูลค่า 307.0 พันล้านบาท) ซึ่งโครงการจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 70 ของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

•เงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2548 โดยการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศ (Net Flows of FDI) มีมูลค่ารวม 2,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 เป็นการปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ในปี 2547 การลงทุนโดยตรงสุทธิที่เข้ามายังประเทศไทยมีมูลค่าต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี ด้วยมูลค่าเพียง 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีเงินทุนไหลออกมูลค่าสูงในธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะธุรกิจการค้า และธุรกิจลงทุนและโฮลดิ้ง)

•การลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศที่เข้ามาในปี 2548 อาจกล่าวได้ว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับระดับโดยเฉลี่ยในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2535-2539) แม้จะต่ำกว่าระดับโดยเฉลี่ยของช่วง 5 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2540-2544) แต่ในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาถือครองหุ้นในภาคธุรกิจต่างๆของไทยเป็นจำนวนมาก สืบเนื่องจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ และการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธุรกิจภาคเอกชนอันเป็นผลจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงสุทธิที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2548 ส่วนหนึ่งคือประมาณร้อยละ 38 เป็นการลงทุนที่เข้ามาในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 62 เป็นการลงทุนในธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเข้ามามูลค่าสูงสุด ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โลหะและอโลหะ ส่วนธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนมูลค่าสูง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน บริการ และการลงทุน นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่าเงินลงทุนนอกภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะรวมเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาถือครองหุ้นในกิจการด้านบริการของไทย โดยการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีผู้ร่วมทุนจากต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากในกิจการ เช่น โทรคมนาคมและสถาบันการเงิน เป็นต้น

•ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากด้านมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) พบว่าในปี 2548 มีเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าประเทศไทยเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 เทียบกับที่มีมูลค่า 7,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 แต่การที่มูลค่าเงินลงทุนสุทธิลงมามีระดับ 2,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นผลจากการที่มีเงินลงทุนโดยตรงไหลออก (FDI Outflow) มูลค่า 6,499 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 3.7 จากมูลค่า 6,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547) ซึ่งในจำนวนเงินลงทุนที่ไหลออกในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนหนี้ที่ได้กู้ยืมมาจากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือ

•แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2549 อาจลดลงจากปีก่อนหน้า โดยผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศลดต่ำลงกว่าปีก่อนหน้าที่บรรยากาศการลงทุนค่อนข้างมีเสถียรภาพ ประกอบกับปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากมุมมองก่อนหน้านี้ ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศมีโอกาสได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ ภายใต้การเจรจาการค้าเสรีที่ครอบคลุมถึงภาคบริการ นอกจากนี้ ทางการยังมีแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจสาธารณูปโภคของไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันบ่งชี้ว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจยังต้องรอนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ กระแสของการเข้ามาลงทุนขยายการถือครองหุ้นในกิจการไทยโดยนักลงทุนต่างชาติจึงอาจยังไม่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ การลงทุนส่วนใหญ่น่าจะยังเป็นการลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตใหม่ ที่สำคัญคือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่นเหล็กและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งมีเป้าหมายตลาดส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ภาวะการผลิตจึงไม่ผูกติดกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศมากนัก โดยภาพสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2549 อาจปรับตัวลดลง โดยในกรณีที่ประเด็นทางการเมืองคลี่คลายและมีความชัดเจนของแนวทางแก้ปัญหาได้ในเวลาอันใกล้ การลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในปี 2549 อาจมีมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณร้อยละ 23 เทียบกับมูลค่า 2,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐในระยะนี้เป็นปัจจัยลบที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม หากประเด็นทางการเมืองยืดเยื้อ การลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในปี 2549 อาจมีมูลค่าต่ำลงเป็นประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 53 เทียบกับปี 2548