สงกรานต์ปี’49 : คนกรุงเทพฯใช้จ่ายสะพัด 24,000 ล้านบาท

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2549 ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน คือ ระหว่างวันที่ 13 – 16 เมษายน 2549 ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันรวม 5 วัน แต่บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มคึกคักกว่าปีที่แล้วซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตสึนามิ โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลงระดับหนึ่ง และการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมกันจัดงานฉลองเทศกาลสงกรานต์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ก่อให้เกิดเม็ดเงินจำนวนมากสะพัดตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ และการใช้เวลาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯในปีนี้ ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างในทุกสาขาอาชีพและทุกระดับรายได้จำนวน 1,046 คน ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2549 เพื่อประเมินแนวโน้มการใช้จ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ของคนกรุงเทพฯ

การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ ดังนี้
– กิจกรรมสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ อาทิ การทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ
และการเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น

– กิจกรรมการใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ในกรุงเทพฯ อาทิ การเดินซื้อของตาม
ห้างสรรพสินค้า การรับประทานอาหารนอกบ้าน การชมภาพยนตร์ และการเที่ยวสวน
สนุก เป็นต้น

– การเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดของผู้ที่มี
ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด การเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด การเดินทางไปเที่ยว
ตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด และการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ

1. คนกรุงเทพฯใช้จ่ายในกรุงเทพฯ : เม็ดเงินสะพัด 6,000 ล้านบาท
การร่วมกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ก่อให้เกิดการใช้จ่ายสะพัดไปในพื้นที่ต่างๆ สำหรับเม็ดเงินที่สะพัดในกรุงเทพฯจะประกอบด้วย

– การร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ
– การซื้อของฝากญาติของผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด
– การมีกิจกรรมนอกบ้านช่วงวันหยุดสงกรานต์ของคนอยู่กรุงเทพฯ

1.1 การร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ : เม็ดเงินสะพัด 2,000 ล้านบาท
จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญอันดับหนึ่งยังคงเป็นการทำบุญ สรงน้ำพระ และการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล รองลงมาเป็นการเล่นสาดน้ำ และการเลี้ยงสังสรรค์

ในปีนี้มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์กันอย่างคึกคักในทุกพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ในทุกภาคทั่วประเทศรวม 11 แห่ง คือ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ หนองคาย ขอนแก่น นครพนม สงขลา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช
สำหรับในกรุงเทพฯมีการจัดงานสงกรานต์ในหลายพื้นที่ อาทิ

– ท้องสนามหลวง มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ 4 ภาคในรูปแบบของ “ลานวัด” เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่แบบไทยๆ และการแสดงอุทยานน้ำประกอบแสง เสียง สื่อผสม และเทคนิคพิเศษ ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2549 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.ถึง 23.00 น.

– สวนสาธารณะสะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่โบราณ และชมศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ที่เขตบางพลัดคัดสรรมาแสดงในงาน ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2549 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ถึง 22.00 น.

– ถนนข้าวสาร ซึ่งทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยร่วมเล่นสาดน้ำกันแน่นขนัดทุกปี สำหรับในปีนี้สงกรานต์ถนนข้าวสารจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2549 โดยยังคงมีการรณรงค์การเล่นสาดน้ำกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และห้ามเล่นแป้งเช่นปีที่แล้ว

– พุทธมณฑล จัดงานสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน 2549 โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การอัญเชิญพระพุทธรูป 9 วัดมาให้ประชาชนสักการะ และในช่วงเช้าวันที่ 13 เมษายน 2549 จะมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 300 รูป เณร 699 รูป

จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ร้อยละ 43.9 มีแผนจะร่วมกิจกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว

ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณคนละ 1,536.35 บาท ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 10 โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำคัญๆในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่

– ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์

– ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม อาหารแห้ง และเครื่องกระป๋อง

– ร้านจำหน่ายดอกไม้และพวงมาลัย

– ร้านจำหน่ายน้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำและดินสอพอง

– ร้านจำหน่ายปืนฉีดน้ำ ขันน้ำ และถัง

– ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า และผ้าไหว้ผู้ใหญ่ อาทิ ผ้าขนหนู และผ้าแพร เป็นต้น

– ร้านเสริมสวย ร้านให้เช่าเครื่องแต่งกายชุดไทยร้านจำหน่ายขันน้ำพานรอง

ฯลฯ

1.2 การซื้อของฝากญาติของคนเดินทางกลับต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 2,200 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 59.4 ตั้งใจจะเดินทางกลับบ้านที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือเดินทางไปเยี่ยมญาติที่อยู่ในต่างจังหวัด ในจำนวนนี้ร้อยละ 67.7 ตั้งใจจะซื้อของไปฝากญาติพี่น้อง ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าต่างปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสินค้าของฝากที่ได้รับความนิยมมากอันดับหนึ่ง คือ เสื้อผ้า รองลงมา คือ สินค้าประเภทอาหารและขนมต่างๆ

งบประมาณค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดเฉลี่ยประมาณคนละ 1,443.40 บาท ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านจำหน่ายสินค้าของฝากต่างๆในกรุงเทพฯลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย โดยมีมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท

1.3 การมีกิจกรรมนอกบ้านของคนอยู่กรุงเทพฯ : เม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 27.2 เลือกที่จะพำนักในกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมนอกบ้าน และกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากอันดับหนึ่ง คือ การเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า รองลงมาเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน การชมภาพยนตร์ การเที่ยวตามสวนสนุก สวนน้ำ และสวนสัตว์ รวมทั้งการไหว้พระ
งบประมาณค่าใช้จ่ายในการมีกิจกรรมนอกบ้านช่วงวันหยุดสงกรานต์ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกจะพำนักในกรุงเทพเฉลี่ยประมาณคนละ 1,632.92 บาทลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เมื่อประกอบกับจำนวนผู้ที่เลือกพำนักในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจบริการที่รองรับกิจกรรมต่างๆช่วงวันหยุดสงกรานต์ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท

2. คนกรุงเทพฯใช้จ่ายในต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 11,000 ล้านบาท
การใช้จ่ายเพื่อร่วมกิจกรรมหลักๆของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในต่างจังหวัดประกอบด้วย
– การเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด
– การร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในต่างจังหวัด
– การเดินทางไปเที่ยวตามต่างจังหวัด

2.1 การเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 5,600 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 59.4 ตั้งใจจะเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

สำหรับพาหนะในการเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ส่วนใหญ่ คือ รถบขส.หรือรถทัวร์ปรับอากาศ รองลงมา คือ รถยนต์ส่วนตัว ส่วนระยะเวลาในการเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์เฉลี่ยประมาณ 7-8 วัน

ผู้ตอบแบบสอบถามที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับไว้ที่เฉลี่ยคนละ 2,488.89 บาท ซึ่งคาดว่าจะก่อให้การใช้จ่ายในส่วนของการเดินทางไปกลับเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5,600 ล้านบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่มีแนวโน้มสะพัดไปสู่ธุรกิจบริการด้านการขนส่ง และสถานบริการจำหน่ายน้ำมัน ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้สามารถจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตลอด 24 ชม.ระหว่างวันที่ 7-16 เมษายน 2549

2.2 การร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 4,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 56.1 ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ในต่างจังหวัดซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลสงกรานต์กับญาติพี่น้องในต่างจังหวัดจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณคนละ 2,107.91 บาท ทำให้คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท

2.3 การเดินทางไปเที่ยวตามต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 1,400 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 11.3 ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดสงกรานต์ นอกจากนี้ ยังมีคนกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัดในสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.1 ที่มีแผนจะเดินทางไปเที่ยว ทำให้โดยรวมในช่วงสงกรานต์ปีนี้มีคนกรุงเทพฯตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

การเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ของคนกรุงเทพส่วนใหญ่ยังเป็นการเดินทางไปเที่ยวกันเอง แต่ก็มีสัดส่วนลดลงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่บริษัทนำเที่ยวพยายามขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยด้วยการจัดแพ็กเกจทัวร์ในประเทศในเส้นทางใหม่ๆ และในราคาที่ถูกดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทย

สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ต่างประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยการเที่ยวแบบเช้าไป-เย็นกลับกันมากขึ้น และเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น

โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบเช้าไปเย็นกลับเฉลี่ยประมาณคนละ 977.70 บาท ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบค้างคืนเฉลี่ยประมาณคนละ 2,234.24 บาท และระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบค้างคืนเฉลี่ยประมาณ 3 วัน

โดยรวมแล้วคาดว่า การใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย คือ ประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด

แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯมากอันดับหนึ่งในการเดินทางไปเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ทั้งการเดินทางไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับและแบบค้างคืน คือ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคจะวันออก อาทิ ชลบุรี (บางแสน และพัทยา) ระยอง จันทบุรี และตราด (เกาะช้าง)

รองลงมาสำหรับการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ได้แก่ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี (บึงฉวาก) นครปฐม (ตลาดน้ำวัดดอนหวาย สวนสามพราน พระปฐมเจดีย์ และวัดไร่ขิง) นนทบุรี (เกาะเกร็ด) ลพบุรี (เขื่อนป่าสักชลสิทธุ์) สระบุรี (น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมรองลงมาสำหรับการเดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืนของคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คือ
– แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ และลำปาง
– แหล่งท่องเที่ยวในภาคกลาง อาทิ กาญจนบุรี
– แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ อาทิ สุราษฎร์ธานี (สมุย) และภูเก็ต
– แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ หนองคาย

3. คนกรุงเทพฯเที่ยวต่างประเทศ : เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ 7,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 2.1 ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุดสงกรานต์ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ด้วยหลายปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนโดยเฉพาะการที่หลายประเทศต่างจัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น

ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ ส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย โดยมีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย คือ จีน และเกาหลีใต้ รองลงมา คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ประเทศเพื่อบ้านในอินโดจีน อาทิ ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งออสเตรเลีย ส่วนแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวระยะไกล คือ อังกฤษในภูมิภาคยุโรป และสหรัฐอเมริกา

จากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ของคนกรุงเทพฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นตามต้นทุนในส่วนน้ำมัน ทำให้มีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทรั่วไหลออกนอกประเทศในช่วงสงกรานต์ปีนี้

สรุป
การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯในกิจกรรมหลักๆช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ การใช้เวลาช่วงวันหยุดนอกบ้าน การเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 24,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 14 โดยมีเม็ดเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศประมาณ 7,000 ล้านบาทจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ ส่วนที่สะพัดอยู่ในประเทศอีกประมาณ 17,000 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 65 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทกระจายอยู่ในต่างจังหวัด และอีกประมาณ 6,000 ล้านบาทสะพัดอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้ต่างมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้