โรคเอดส์ภัยร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์โลกทุกเพศทุกวัย ทุกๆ 10 วินาที จะมีคนตายเนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวี จนถึงปัจจุบันโรคเอดส์ได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 25 ล้านคน ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์จะสูงจนน่ากลัวเช่นนี้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักถึงภัยและผลร้ายที่ได้รับจากโรคเอดส์ เราจึงมักได้ยินได้เห็นเรื่องราวการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อต้านภัยเอดส์ บนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุดแม้แต่ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 59 ซึ่งจัดว่าเป็นสุดยอดของเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก ที่รวบรวมคนในวงการบันเทิงและภาพยนตร์คุณภาพไว้ด้วยกัน ก็ยังมีการพูดถึงภัยของเอดส์ โดยอุทิศช่วงเวลาแรกของการเปิดงานผ่านให้กับการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “อะ โคลสเซอร์ วอล์ค” (A Closer Walk) ทุกวัน ตลอดการจัดงานทั้ง 12 วัน โดยหวังว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ จะช่วยทำให้ผู้คนที่เข้าร่วมงานได้ตระหนักถึงภัยร้ายของเอดส์ และร่วมช่วยกันป้องกัน
สปอตวิชั่น ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดฉายภาพยนตร์ ได้คัดเลือกและนำภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวไปเผยแพร่ในภาพยนตร์เมืองคานส์ในครั้งนี้ เนื่องจาก A Closer Walk เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่นำเสนอผลกระทบของการระบาดของโรคเอดส์ และภาวะความเป็นไปของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา และปลุกจิตสำนึกถึงอันตรายของโรคเอดส์แก่ผู้ชมได้อย่างถึงแก่น โดยฉายถึง 612 ครั้งในช่วงระหว่างการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 59
โดยก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้นำมาฉายรอบปฐมทัศน์ที่ประเทศไทย ในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของการประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โดยมีศิลปินสาขาต่างๆ จากทั่วโลกที่อุทิศตนเพื่อการป้องกันภัยร้ายจากโรคเอดส์ อาทิ ริชาร์ด เกียร์ และแอชลี่ จัดด์ มาร่วมรณรงค์ความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์
A Closer Walk ภาพยนตร์สารคดีความยาว 45 นาที กำกับโดย โรเบิร์ท บิลฮีเมอร์ ผู้กำกับซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ เมื่อปี 2547 ให้เสียงบรรยายโดย เกล็น โคส (Glenn Close) และวิลล์ สมิท (Will Smith) ดาราภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวู้ด โดยภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมสุขอนามัย รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษยโลก
ร็อด กิลลัม รองประธานฝ่ายบริหาร และจััดการองค์กร เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป และ ประธานมูลนิธิจีเอ็ม กล่าวถึงเหตุผลในการสนับสนุนภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ว่า “A Closer Walk เป็นสารคดีที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหาอันทรงพลัง ที่ให้ทั้งความหวัง ความเวทนาในชะตากรรม และวีธีการป้องกันโรคเอดส์ได้อย่างลงตัว ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องเตือนใจถึงโศกนาฎกรรมของโรคเอดส์ที่มีผลต่อคนในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป ดังนั้น A Closer Walk จึงเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เตือนใจถึงภัยเอดส์ ‘ที่ต้องพูดกันไม่มีวันจบสิ้น’ ”
ในอีกมุมหนึ่ง ภาพยนตร์สารคดี A Closer Walk ยังนำเสนอความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสุขภาพ ศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความรับผิดชอบที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ รวมถึงการเปิดเผยความจริงอันรุนแรง และโหดร้ายของโรคเอดส์ให้โลกได้เห็น แต่ในขณะเดียวกันก็ให้กำลังใจคนที่เผชิญกับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก โดยบรรยายผ่านมุมมองของผู้มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเกล็น โคส วิลล์ สมิท และ โคฟี่ อนัน (Kofi Annan) เลขาธิการสหประชาชาติ รวมทั้ง โบโน (Bono) นักดนตรีร็อคและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชื่อก้องอีกด้วย
ด้วยการสนับสนุนของเจนเนอรัล มอเตอร์ส กว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพยนตร์สารคดี A Closer Walk ได้มีโอกาสนำเสนอสถานการณ์โรคเอดส์จากหลายมุมโลก ทั้งโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เดอแบน (Durban) นิว เดลี (New Delhi) นิวยอร์ก (New York) ลอส แอนเจอลีส (Los Angeles) ไมอามิ (Miami) วอชิงตัน ดี ซี (Washington D.C.) โตรอนโต (Toronto) พนมเปญ (Phnom Penh) เคียฟ (Kiev) รวมถึงกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงสถานการณ์ของโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด ปัจจุบัน A Closer Walk ได้แพร่ภาพออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ในหลายประเทศ โดยประมาณว่าจะมีผู้ชมกว่า 1,000 ล้านคน ได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้
ในประเทศไทย เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้จัดโปรแกรมให้การศึกษา สร้างการรับรู้และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวี แก่พนักงานของจีเอ็มและครอบครัว รวมทั้งโรงเรียนและในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในเขตพื้นที่จังหวัดระยองและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศูนย์การผลิตเจนเนอรัล มอเตอร์สตั้งอยู่ ผลจากการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากเอดส์นี้ ทำให้จีเอ็ม ประเทศไทย ได้รับประทานรางวัลแสงเทียนส่องใจ ประเภท “สถานประกอบการดีเด่น” โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เมื่อปี 2546 และได้รับใบรับรองมาตรฐานระดับทองด้านการบริหารการจัดการเรื่องเอดส์ในสถานประกอบกิจการถึง 3 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึง ปี 2548
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวีนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นพลังในการสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนตระหนักถึงความโหดร้ายของโรคเอดส์และต่อสู้กับโรคเอดส์ แต่ตราบใดที่ทุกคนยังคิดว่าโรคเอดส์เป็นเรื่องส่วนบุคคลและเพิกเฉยความรับผิดชอบต่อสังคม “ภัยจากเอดส์ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่พูดกันไม่มีวันจบสิ้น”