ฟุตบอลโลก 2006 : กระตุ้นกำลังซื้อเยอรมนี…ดันเครื่องประดับไทยโตต่อเนื่อง

เยอรมนีนับเป็นตลาดเครื่องประดับด้วยอัญมณีแท้ที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เท่านั้น และจากรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังพบด้วยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับไทยไปยังตลาดเยอรมนีในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จากมูลค่าการส่งออก 3,224.6 ล้านบาทในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 4,086.6 ล้านบาทในปี 2548 ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดเยอรมนีคิดเป็นมูลค่า 1,473.3 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยในระดับร้อยละ 2.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลพวงจากการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่หันมาให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น และสถานการณ์เศรษฐกิจเยอรมนีที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับวิบากกรรมเศรษฐกิจซบเซามานานนับหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่เยอรมนีได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ที่แข่งขันกันในระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน-9 กรกฎาคม 2549 นั้น ก็น่าจะก่อให้เกิดผลกระตุ้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอสมควรทั้งด้านการก่อสร้าง การท่องเที่ยวที่รัฐบาลเยอรมนีคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแฟนบอลจากทั่วโลกเข้าไปเยือนเยอรมนีกว่าล้านคน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจากรายงานของดอยช์ แบงก์ ธนาคารชั้นนำของเยอรมนีก็ระบุว่า มหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้จะก่อให้การใช้จ่ายเงินทั่วประเทศกว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็น่าจะส่งผลกระตุ้นให้ผู้บริโภคในเยอรมนีมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมของการส่งออกสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ในตลาดเยอรมนีในปี 2549 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยระดับการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 4,300 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยโดยรวมในตลาดเยอรมนีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการที่เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นของตลาดเยอรมนี โดยจากรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยสามารถชิงความเป็นผู้นำมาจากอิตาลีมาได้นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา จนกลายมาเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญอันดับหนึ่งในตลาดเยอรมนีจวบจนปัจจุบัน ซึ่งในปี 2548 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในระดับร้อยละ 23.16 คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในปี 2547 (ในปี 2547 การส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยมีส่วนแบ่งร้อยละ 20.07 ขณะที่ในปี 2546 มีสัดส่วนร้อยละ 20.02 ) ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 ไทยก็ยังคงเป็นผู้นำด้วยสัดส่วนร้อยละ 22.65 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้โดยรวมในตลาดเยอรมนี โดยผู้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับแท้ในตลาดเยอรมนีรองจากไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 (ซึ่งยังคงเป็นคู่แข่งรายเดิมปี 2548) คือจีนที่ขยับนำขึ้นอิตาลีจนได้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา(สัดส่วนร้อยละ 19.82) ตามมาด้วยอิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 11.89) สวิตเซอร์แลนด์(สัดส่วนร้อยละ 9.13) ตุรกี(สัดส่วนร้อยละ 7.32) อินเดีย(สัดส่วนร้อยละ 7.08) และฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 5.02) ซึ่งแม้ว่าสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยจะสามารถครองความเป็นหนึ่งในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดของบรรดาคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดเยอรมนีแล้วพบว่า จีนนับเป็นคู่แข่งที่ทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนด้วยสัดส่วนที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้นทุกขณะ ส่วนอินเดียนั้นแม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่มากนักในปัจจุบัน แต่อัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้สินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยยังคงครองความเป็นหนึ่งในตลาดเยอรมนีให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ซึ่งหากพิจาณาถึงความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ โดยวัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) ที่มีเกณฑ์กำหนดว่าถ้าค่า RCA ของประเทศใดมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้านั้นๆ ในตลาดหนึ่ง (ซึ่งในที่นี้สินค้าคือเครื่องประดับแท้ และตลาดคือตลาดเยอรมนี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าค่า RCA มากกว่า 2 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบหรือมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับค่อนข้างดี และถ้าค่า RCA มากกว่า 10 ก็แสดงว่าประเทศนั้นมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นไปอีก ซึ่งพบว่าโดยภาพรวมแล้วสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยในตลาดเยอรมนีช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยอาศัยฐานข้อมูลของ Global Trade Atlas มีค่า RCA สูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยในช่วง 3 เดือนแรกปี 2549 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูงมากโดยมีค่า RCA เท่ากับ 80.36 ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอย่างจีน( RCA เท่ากับ 3.29 อิตาลี( RCA เท่ากับ 2.27 ) รวมถึงฮ่องกง(RCA เท่ากับ 13.75) และอินเดีย ( RCA เท่ากับ 12.83) ด้วย

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยในตลาดเยอรมนีในปี 2549 จากทั้งแนวโน้มมูลค่าการส่งออก ส่วนแบ่งตลาด และความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยน่าจะยังสามารถรักษาสถานภาพการแข่งขันไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในเยอรมนีกำลังเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี ประกอบกับความต้องการสินค้าประเภทนี้ในตลาดเยอรมนียังมีแนวโน้มที่ดี โดยในช่วง 3 เดือนแรกปี 2549 เยอรมนีนำเข้าเครื่องประดับแท้คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 174.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขณะเดียวกันคู่แข่งแต่ละรายของไทยก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดสินค้าเครื่องประดับแท้ในเยอรมนี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจึงควรต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างความความได้เปรียบในการแข่งขัน อันได้แก่

1. การพัฒนารูปแบบสินค้า ด้วยการจ้างนักการตลาดมืออาชีพเพื่อแนะนำแนวทางการเจาะตลาดของสินค้าเครื่องประดับแท้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการผลิตเครื่องประดับจากต่างประเทศมาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ผลิตคนไทย เพราะรูปแบบที่จูงใจและแปลกแตกต่างจากคู่แข่งย่อมเป็นโอกาสอันดีในการขยายตลาดเครื่องประดับไทยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบของไทยโดยด่วนควบคู่กันไปด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการแข่งขันค่อนข้างสูงโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตอย่างจีนและอินเดียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งจีน และอินเดียต่างก็เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับสินค้าให้ก้าวขึ้นสู่สินค้าระดับกลางขึ้นไปมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันด้านรูปแบบ และความนำสมัยกับบรรดาคู่แข่งที่มีทักษะการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างสหรัฐอเมริกา อิตาลี และฮ่องกง ด้วย

2. การพัฒนาด้านคุณภาพสินค้า ผู้ผลิตของไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อยกระดับสินค้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดระดับบนถึงกลางที่มักจะแข่งขันกันทางด้านตราสินค้าและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ตลาดระดับกลางถึงล่างด้วย เพราะหากลูกค้ายอมรับในคุณภาพของสินค้า ก็จะนำไปสู่ความได้เปรียบในการความแตกต่างซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันตามมา

3. การมุ่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้ามีความภักดีต่อตราสินค้าก็ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในระยะยาว ทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย โดยเฉพาะในส่วนของพลอยที่ไทยได้รับการยอมรับในด้านเจียระไนนั้นควรจะมีการออกแบบเครื่องประดับในลักษณะของการผสมผสานระหว่างแนวตะวันตกและแนวตะวันออก ที่จะทำให้เครื่องประดับของไทยมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น และควรเน้นการผลิตสินค้าเป็นชุดทั้งต่างหู แหวน สร้อยคอ และกำไลข้อมือ เพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่ลูกค้าอย่างครบครัน อีกทั้งควรมีเครื่องหมายรับประกันคุณภาพและความบริสุทธิ์ของทองหรือเงิน เพื่อสร้างความประทับใจและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าให้แก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วย

4. การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนแก่การอุตสาหกรรมเครื่องประดับภายในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งในด้านชนิดของวัตถุดิบ ด้านคุณภาพการผลิต หรือการควบคุมมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

5. การศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตลาดเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดแผนกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุม แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งอาจจะดำเนินการวิจัยด้วยตนเอง หรือหาข้อมูลจากนิตยสารแฟชั่น หรือให้บริษัทรับทำวิจัยช่วยดำเนินการ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บริโภคในเยอรมนีปัจจุบันส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในเมืองใหญ่ๆอย่างมิวนิค โคโลญจน์ ดุสเซลดอร์ฟ ฮัมบูร์ก และเบอร์ลิน เป็นต้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยในเมืองดังกล่าวมีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่นิยมเครื่องประดับทำด้วยทองหรือทองคำขาวฝังเพชร พลอย หรืออัญมณีมีค่าที่มีคุณภาพดี อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับแฟชั่นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุสีขาวอย่างเงินและทองคำขาวก็กำลังได้รับความนิยมค่อนข้างมากเช่นกันสำหรับตลาดกลุ่มวัยรุ่น และตลาดกลุ่มคนวัยทำงาน จึงมีความเป็นไปได้ว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในเยอรมนีน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกนับจากนี้

6. การสรรหาพันธมิตร จากการที่ตลาดสินค้าอัญมณีเครื่องประดับในเยอรมนีเป็นตลาดเปิดเสรีที่ไม่มีนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่จะกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีการลดอัตราภาษีให้ต่ำทุกปีจนเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าเครื่องประดับแท้ตามข้อตกลงของ WTO และการดำเนินการทางการค้าก็เป็นไปตามกลไกตลาดที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเป็นพันธมิตรกับร้านค้าปลีกที่มีชื่อเสียงและมีเครือข่ายกว้างขวางในเยอรมนีเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เครื่องประดับไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องพิจารณาและวิเคราะห์คู่ค้าในเยอรมนี ทั้งในส่วนของผู้ค้าส่งและตัวแทนนำเข้าที่จะดำเนินการค้าร่วมกันอย่างละเอียดและถี่ถ้วนด้วย ทั้งในส่วนของนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการค้าขายและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ส่งออกก่อนการตัดสินใจร่วมมือกันทำการค้า

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของเยอรมนีที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2549 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการที่เยอรมนีได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการก่อสร้าง การท่องเที่ยว และการอุปโภคบริโภค เป็นต้น นั้นน่าจะส่งผลกระตุ้นให้ผู้บริโภคในเยอรมนีมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้การจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าเครื่องประดับแท้จากไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าภาพรวมของการส่งออกสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ของไทยในตลาดเยอรมนีในปี 2549 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยระดับการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 4,300 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันการขยายตลาดเครื่องประดับแท้ของไทยในเยอรมนีที่ปัจจุบันเป็นตลาดเครื่องประดับแท้ที่สำคัญอันดับ 3 ของไทย รองจากสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นมากขึ้นด้วยอย่างแน่นอนจากบรรดาคู่แข่งรายสำคัญอย่างจีน อิตาลี และอินเดีย เป็นต้น เพื่อแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวเยอรมนีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้นการเพิ่มและรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ปัจจุบันไทยเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในเยอรมนี ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องอาศัยความได้เปรียบในด้านแรงงานฝีมือของช่างฝีมือไทยที่เน้นการผลิตด้วยแรงงานคน หรือเป็นชิ้นงานหัตถกรรมเป็นกลยุทธ์หลักในการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ของไทยให้เหนือกว่าคู่แข่ง เพราะผู้บริโภคเยอรมนีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มนิยมเครื่องประดับที่ผลิตด้วยแรงงานคนเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเล็งเห็นถึงคุณค่าของชิ้นงานและความประณีตของชิ้นงาน ในขณะเดียวกันการผลิตและการออกแบบควรจะต้องอิงความทันสมัย การสร้างสรรค์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับแฟชั่นด้วย เนื่องจากตลาดเยอรมนียังมีช่องว่างสำหรับสินค้าเครื่องประดับในส่วนของสินค้าคุณภาพและรูปแบบที่สวยงามและทันสมัยพอสมควร นอกจากนี้ควรเร่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้ามีความภักดีต่อตราสินค้าก็ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบ และสามารถสู้กับคู่แข่งขันได้ในระยะยาว