กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) เป็นอีกทางเลือก ในการลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นในช่วงที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนในประเทศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในขณะนี้
? ความเป็นมาของกองทุน FIF
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ต่างๆ ได้เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวนี้ขึ้นในปี 2545
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติวงเงินจำนวนจำกัดในการลงทุนต่างประเทศจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมี บลจ.ที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้นเพียง 5 กอง โดยในระยะแรกนั้น กองทุนที่ได้รับอนุมัติจะต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งจำนวน ในเวลาต่อมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีการจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมให้นักลงทุนสถาบันในปี 2547 ส่งผลให้มีจำนวนกองทุน FIF ที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 กอง และในปี 2548 ธปท.ได้มีการอนุมัติวงเงินในการลงทุนในต่างประเทศให้ บลจ.เพิ่มอีกเป็นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มีการจดทะเบียนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศขึ้นใหม่เพิ่มอีก 14 กองในปีดังกล่าว ทั้งนี้ การใช้วงเงินในการลงทุนต่างประเทศของบลจ.ในปี 2548 นั้น ได้มีวงเงินคงเหลือที่สำนักงาน ก.ล.ต. รวมกับวงเงินที่บลจ.ต่างๆแจ้งคืนมารวมมูลค่าประมาณ 255.37 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งได้จัดสรรในรอบใหม่ให้กับ บลจ. 17 แห่ง เมื่อ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ล่าสุดนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ขยายวงเงินในการลงทุนต่างประเทศให้บลจ.ต่างๆเพิ่มเติมอีก 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯจากวงเงินที่เคยให้ก่อนหน้า โดยให้กองทุนรวมสูงสุดรายละ 10-25 ล้านดอลลาร์ฯ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุดรายละ 10 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นที่สังเกตว่า การจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศให้ บลจ.ในระยะหลังๆ จะค่อนข้างมีความผ่อนคลายมากขึ้น โดยทาง ก.ล.ต.จะอนุญาติให้กองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพียงบางส่วนได้ รวมไปถึงมีการผ่อนคลายเกณฑ์ให้กองทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านั้นสามารถแก้ไขนโยบายการลงทุนให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้ จึงส่งผลให้มีจำนวนกองทุน FIF เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
โดยจากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนพบว่า ณ.วันที่ 19 มิถุนายน 2549 มี
จำนวนกองทุนดังกล่าวทั้งสิ้น 36 กอง และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2545 ซึ่งมีกองทุนเพียง 5 กอง และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพียง 2.19 พันล้านบาทเท่านั้น โดยในปัจจุบันสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 9.1 ของกองทุนรวมทั่วไปในระบบซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของกองทุนรวมทั่วไปในระบบในปี 2545 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพิจารณาตามนโยบายการลงทุนแล้วพบว่า กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศมากที่สุดถึง 16 กอง (เป็นการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว หรือ Feeder Fund ถึง 11 กอง) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 1.28 หมื่นล้านบาท รองลงมา ได้แก่ กองทุนรวมตราสารหนี้ 12 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท และกองทุนรวมผสมจำนวน 7 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 9.2 พันล้านบาท และกองทุนรวมตราสารทุน 1 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 892 ล้านบาท ตามลำดับ
? ความน่าสนใจของกองทุน FIF
ปัจจัยหลักที่น่าจะสนับสนุนให้กองทุนประเภทดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจ ได้แก่ การเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในประเทศ และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้วพบว่า การลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในต่างประเทศบางภูมิภาคสามารถที่จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศได้ในบางช่วงเวลา(ดูตารางในฉบับเต็ม) โดยเมื่อเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนที่คำนวณจาก MSCI Index ในภูมิภาคต่างๆช่วง 1 ปี 5 ปีและ 10 ปีที่ผ่านมาเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศแล้วพบว่า ผลตอบแทนจาก MSCI Index ในช่วง 1 ปี และ 10 ปีให้อัตราผลตอบแทนที่มากกว่า เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดพันธบัตรต่างประเทศเมื่อวัดจากดัชนีอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศต่างๆ ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับ ThaiBMA Government Bond Index ในบางช่วงเวลา ส่วนทางด้านการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนนั้น จากการพิจารณาค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นในประเทศพบว่า การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างสมบูรณ์จึงน่าจะเป็นโอกาสของนักลงทุนในการลดความผันผวนจากการลงทุนภายในประเทศได้ โดยการเลือกเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่มีค่าความสัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทนกับอัตราผลตอบแทนในประเทศในระดับต่ำ
นอกจากการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ลงทุนดังที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้ว การลงทุนในต่าง ประเทศยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ บลจ.ต่างๆ ทั้งในด้านของการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันรองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต และยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้กับตนเองจากรายอื่นๆ ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุน FIF ในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า มีบลจ.เพียงบางรายที่สามารถบริหารกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศให้มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศในช่วงเดียวกันได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พิจารณาจากอัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกอง ทุนโดยประมาณของกองทุน FIF ที่ลงทุนในตราสารทุนโดยตรงและหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารทุนจำ นวน 8 กอง และอัตราผลตอบแทนของกองทุน FIF ที่ลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้จำนวน 13 กอง เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากดัชนี SET Index และ ThaiBMA Total Return Index ในช่วงเวลาเดียวกันแล้วพบว่า กองทุน FIF ที่มีการลงทุนในตราสารทุนและหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารทุนเพียง 4 กองจาก 8 กองที่ให้อัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนสูงกว่าดัชนี SET Index ในช่วงเดียวกัน และมีความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของกองทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงสุดกับต่ำสุดค่อน ข้างมาก อย่างไรก็ตาม กองทุน FIF ที่มีการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่กลับมีอัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนจาก ThaiBMA Total Return Index ในช่วงเดียวกัน โดยมีเพียงกองเดียวที่มีอัตราผลตอบแทนน้อยกว่า ทั้งนี้ ความแตกต่างดังกล่าวน่าจะมาจากหลายๆปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์ในการลงทุน ทั้งจังหวะเวลาในการลงทุน การเลือกตัวหลักทรัพย์ และภูมิภาคที่เข้าไปลงทุน การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการและความชำนาญเฉพาะของ บลจ.แต่ละแห่งตลอดจนการมีพันธมิตรหรือเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุน
? ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดของกองทุน FIF
การที่กองทุน FIF ยังคงไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากกองทุนดังกล่าวนี้ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดหลายประการเมื่อเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆที่ลงทุนในประเทศ อาทิเช่น การลงทุนในต่างประเทศต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นโยบายการเงิน กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ตลอดจน อุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนที่มีความแตกต่างกัน การลงทุนต่างประเทศต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่ได้รับมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม กองทุน FIF บางกองได้มีการป้องกันความเสี่ยงโดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่บางกองทุนเลือกใช้วิธีการกระจายการลงทุนในหลายสกุลเงินเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวซึ่งน่าจะสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง กองทุน FIF ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังคงมองว่าการลงทุนในต่างประเทศเป็นเรื่องยาก เนื่องมาจากลักษณะของกองทุน FIF ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศในระดับหนึ่ง สามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก และมีความต้องการลงทุนในระยะยาว จึงทำให้กลุ่มผู้ลงทุนยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่มเพียงเท่านั้น การที่มีสภาพคล่องค่อนข้างน้อยกว่ากองทุนเปิดทั่วไป ถึงแม้ว่ากองทุน FIF หลายกองจะเป็นกองทุนเปิดแต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถซื้อหรือขายได้ทุกวันทำการ ค่าธรรมเนียมของกองทุนซึ่งส่วนใหญ่จะสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ และการจัดสรรวงเงินการลงทุนในต่าง ประเทศให้กับ บลจ.ในอดีตซึ่งค่อนข้างเป็นไปอย่างจำกัด อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การจัดสรรเงินลงทุนไม่สามารถลงได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้บลจ.หลายแห่งมีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนหรือลงทุนต่างประเทศเพียงแค่บางส่วนแทนที่จะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง อีกทั้งที่ผ่านมาการจำกัดวงเงินที่ลงทุนได้ยังมีผลต่อการขาดความต่อเนื่องในวางแผนการออกกองทุนในระยะยาว
? แนวโน้มกองทุน FIF: มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่าง ประเทศน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้จากปัจจัย เช่น การอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมโดย ธปท. อีก 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยทางสำนักงาน ก.ล.ต.มีเงื่อนไขว่า บลจ.จะต้องนำเงินไปลงทุนต่างประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของวงเงินทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรภายในปีนี้ (Net outflow ณ.วันที่ 30 ธันวาคม 2549) มิฉะนั้นจะเรียกวงเงินที่เหลือคืนครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ได้รับจัดสรรเพื่อนำมาให้กับ บลจ.อื่นๆ ทำให้คาดว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีน่าจะมีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ การเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนภายใต้บรรยากาศการลงทุนภายในประเทศซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยซึ่งไม่สามารถลงทุนในต่างประเทศได้เองโดยตรง ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้ในระดับที่มากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค สืบเนื่องปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และความไม่แน่นอนทางการเมือง ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศคาดว่ายังคงมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจน วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งคาดว่าน่าจะถึงระดับสูงสุดแล้ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในหลายๆประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน ตลอดจน กลุ่มยูโร ยังมีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้นต่อไปอีก ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของค่าเงินสกุลเหล่านั้นในระยะต่อไป ส่งผลให้การกระจายการลงทุนไปในประเทศนั้นๆน่าจะสามารถให้อัตราผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ ทั้งในด้านอัตราผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน และด้านกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต
? บทสรุป
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) เป็นอีกทางเลือก ในการลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นในช่วงที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนในประเทศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในขณะนี้ ซึ่งปัจจัยหลักที่น่าจะสนับสนุนให้กองทุนประเภทดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจทางด้านของผู้ลงทุน ได้แก่ การเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนนอกเหนือ จากการลงทุนในประเทศ และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนในต่างประเทศยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ บลจ.ต่างๆ ทั้งในด้านของการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันรองรับการเปิดเสรีทาง การเงินในอนาคต และยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้กับตน เองจากรายอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุน FIF ในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า มีบลจ.เพียงบางรายที่สามารถบริหารกองทุน FIF ให้มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศในช่วงเดียวกัน ซึ่งน่าจะมาจากหลายๆปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์ในการลงทุน ทั้งจังหวะเวลาในการลงทุน การเลือกตัวหลักทรัพย์ และภูมิภาคที่เข้าไปลงทุน การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการและความชำนาญเฉพาะของ บลจ.แต่ละแห่งตลอดจนการมีพันธมิตรหรือเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประ เทศเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุน
นอกจากนั้น การที่กองทุน FIF ยังคงไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากกองทุนดังกล่าวนี้ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดหลายประการเมื่อเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆที่ลงทุนในประเทศ อาทิเช่น การลงทุนในต่างประเทศต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศนั้นๆ และความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การที่กองทุน FIF ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักลงทุน การเป็นกองทุนซึ่งมีสภาพคล่องค่อนข้างน้อยกว่ากองทุนเปิดทั่วไป ค่า ธรรมเนียมของกองทุน FIF ซึ่งส่วนใหญ่จะสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ และการจัดสรรวงเงินการลงทุนในต่างประเทศให้กับ บลจ.ในอดีตซึ่งค่อนข้างเป็นไปอย่างจำกัด
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มของกองทุน FIF น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้จากปัจจัย เช่น การอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมโดย ธปท. อีก 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยทางสำนักงาน ก.ล.ต.มีเงื่อนไขว่า บลจ.จะต้องนำเงินไปลงทุนต่างประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของวงเงินทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรภายในปีนี้ (Net outflow ณ.วันที่ 30 ธันวาคม 2549) มิฉะนั้นจะเรียกวงเงินที่เหลือคืนครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ได้รับจัดสรรเพื่อนำมาให้กับ บลจ.อื่นๆ ทำให้คาดว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีน่าจะมีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตลอดจน การเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนภายใต้บรรยากาศการลงทุนภายในประเทศซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยซึ่งไม่สามารถลงทุนในต่างประเทศได้เองโดยตรง